ปัญหาหลักที่ยังคงเกิดขึ้นกับแนวปะการังในประเทศไทย ทั้งจากอุณหภูมิโลกที่เปลี่ยนแปลงไปจนเกิด “ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว” และภัยคุกคามที่เกิดจากนักท่องเที่ยว ในแนวปะการังที่ขาดความรับผิดชอบ ทำให้ปะการังพื้นที่กว่า 149,182 ไร่ ใน 17 จังหวัด ถูกคุกคามอย่างหนัก และอาจจะเสื่อมโทรมหากไม่มีมาตรการควบคุม
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้ออกประกาศ มาตรการคุ้มครองทรัพยากรปะการังจากกิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำ พ.ศ. 2568 เพื่อคุ้มครองทรัพยากรปะการังจากกิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำ ขึ้นเพื่อบังคับใช้กับ “ผู้ประกอบการที่จัดกิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำ”
ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศดังกล่าวเมื่อ 22 เม.ย. 68 โดยมีผลบังคับใช้ทันที และใช้ต่อเนื่อง 5 ปี ซึ่งถือเป็นความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญในการปกป้องระบบนิเวศใต้ทะเลที่เปราะบางจากผลกระทบของกิจกรรมท่องเที่ยว
เนื้อสำคัญของประกาศฉบับนี้ครอบคลุมมาตรการหลายประการที่เข้มงวดมากขึ้น ทั้งในด้านการฝึกอบรมผู้ควบคุมกิจกรรมดำน้ำ การจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมต่อผู้ควบคุม ไปจนถึงข้อห้ามที่ชัดเจนเกี่ยวกับพฤติกรรมที่อาจทำลายแนวปะการัง ดังนี้
“เที่ยวดำน้ำ”ต้องมีผู้ควบคุมหรือผู้ช่วย
ผู้ประกอบการที่จัดกิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำ ต้องจัดให้มี “ผู้ควบคุมหรือผู้ช่วยควบคุม” ที่ผ่านการอบรมตามหลักสูตรที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยกำหนดให้ต้องเดินทางไปกับนักท่องเที่ยวทุกครั้ง
หน้าที่ของผู้ควบคุมต้องชี้แจงกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมถึงวิธีการดำน้ำที่ไม่กระทบต่อปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลให้กับนักท่องเที่ยวทราบก่อนการดำน้ำสำหรับอัตราส่วนผู้ควบคุม ต่อ นักท่องเที่ยว แบ่งตามประเภทการดำน้ำ ดังนี้
- การดำน้ำลึก (Scuba) ผู้ควบคุม 1 คน ต่อนักดำน้ำไม่เกิน 4 คน
- การดำน้ำตื้น (Snorkel) ผู้ควบคุม 1 คน ต่อนักดำน้ำไม่เกิน 20 คน
- ดำน้ำอิสระ (Freediving) ผู้ควบคุม 1 คน ต่อนักดำน้ำไม่เกิน 20 คน
- การทดลองเรียนดำน้ำ (DSD or Try Dive) ผู้ควบคุม 1 คน ต่อนักเรียนไม่เกิน 2 คน การเรียนและการสอบดำน้ำลึก ผู้ควบคุม 1 คน ต่อนักเรียนไม่เกิน 4 คน
- ห้ามเรียนบนแนวปะการัง ต้องเรียนบนพื้นทรายเท่านั้น
คุมเข้มนักเที่ยวห้ามถ่ายรูปใต้น้ำ
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการดำน้ำในบริเวณแนวปะการัง ทั้งการดำน้ำตื้นและดำน้ำลึก ให้กับนักดำน้ำมือใหม่ที่ยังไม่มีประสบการณ์ พร้อมกำกับดูแล และควบคุมการประกอบกิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำบริเวณแนวปะการังให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันโดยมีข้อปฏิบัติ ดังนี้
- ในการดำน้ำลึก (Scuba) ห้ามนำกล้องลงไปถ่ายภาพใต้น้ำ ยกเว้นมีผู้ที่ผ่านหลักสูตรดำน้ำลึกระดับเทียบเท่า Advanced หรือมีประสบการณ์ดำน้ำ 40 ไดฟ์ขึ้นไป ทำหน้าที่ถ่ายภาพให้ หากมีการเรียนหรือสอบดำน้ำลึก ห้ามครูและนักเรียน ถ่ายภาพใต้น้ำ (ยกเว้นการเรียนตามหลักสูตรถ่ายภาพใต้น้ำ)
- ถ้าต้องการถ่ายภาพในการเรียนจะต้องมีบุคคลทำหน้าที่ถ่ายภาพโดยเฉพาะ เพราะหากไม่เชี่ยวชาญในการดำน้ำจะทำให้ปะการังเกิดความเสียหาย
สำหรับสาเหตุที่ต้องออกมาตรการนี้ เป็นเพราะ “การถ่ายภาพใต้น้ำ” กลายเป็นกิจกรรมยอดฮิตของนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักเรียนดำน้ำมือใหม่ ซึ่งมักมีทักษะการลอยตัวไม่ดีพอ เสี่ยงต่อการกระทบกระเทือนปะการังโดยไม่ตั้งใจ เช่น ลอยตัวไม่อยู่แล้วใช้มือเท้าหรือกล้องยันพื้นทะเล หรือการใช้แฟลชที่รุนแรงใส่สัตว์น้ำโดยไม่รู้ตัว
- ในการดำน้ำตื้น (Snorkel) หากดำน้ำตื้นในบริเวณแนวปะการังระดับน้ำจะต้องสูงไม่น้อยกว่า 2 เมตร จากยอดปะการัง หากมีการใช้ตีนกบ ผู้ควบคุมต้องแจ้งวิธีการใช้ตีนกบไม่ให้กระทบต่อปะการัง และต้องใส่ชูชีพทุกครั้ง เว้นแต่ผ่านหลักสูตรการดำน้ำลึกหรือหลักสูตรการดำน้ำอิสระมาแล้ว“
ห้ามดำน้ำบริเวณแนวปะการัง
นอกจากนี้ยังมีมาตรการห้ามการดำน้ำบริเวณแนวปะการัง ดังนี้
- ห้ามผู้ควบคุมเคลื่อนย้ายสิ่งมีชีวิตใดๆมาให้นักท่องเที่ยวดู
- ห้ามแตะ เตะ ปะการัง สัตว์น้ำและสิ่งมีชีวิตใดๆ
- ห้ามทำตะกอนตกใส่ปะการัง ห้ามทำให้ปะการังเกิดความเสียหาย
- ห้ามให้อาหารสัตว์น้ำ ห้ามทิ้งขยะลงทะเล
- ห้ามทำกิจกรรม Sea Walker หรือกิจกรรมที่มีการเดินบนพื้นทะเล
นอกจากนี้กรมทรัพยากรทางทะเลได้ดำเนินการจัดทำ (ร่าง) ระเบียบกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ว่าด้วย ผู้ควบคุมและผู้ช่วยผู้ควบคุมการท่องเที่ยวดำน้ำในบริเวณแนวปะการัง โดยมีมัคคุเทศก์ ผู้นำการดำน้ำ และครูสอนดำน้ำ หรือระดับเทียบเท่าขึ้นไป ผ่านการฝึกอบรมแล้ว จำนวน 1,946 คน
ขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการออกบัตรให้กับผู้ผ่านการฝึกอบรม โดยหากผู้ประกอบการที่จัดกิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำ ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าว จะมีโทษตามมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เพื่อประโยชน์ในการสงวน คุ้มครอง อนุรักษ์ หรือฟื้นฟูทรัพยากรปะการัง ให้คงอยู่ต่อไปในอนาคต
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง: