กระทรวงพลังงาน เปิดแผนการดำเนินงานที่สำคัญในปี 2568 ภายใต้หัวข้อ ”New Chapter เปิดศักราชใหม่พลังงานไทย จาก ภาพฉาย สู่ ภาพชัด” แต่จะชัดเจนแค่ไหน ท่ามกลางข้อสงสัยในหลายด้านต่อนโยบายพลังงานของประเทศ ทั่้งเรื่องการผูกขาด และกลไกราคา อีกทั้งกระทรวงพลังงานก็กลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมืองในช่วงปลายปีที่ผ่านมา
ในปี 2568 กระทรวงพลังงานได้กำหนดนโยบาย ผ่าน 3 เป้าหมายการขับเคลื่อนด้านพลังงาน ประกอบด้วย
- ความมั่นคงทางพลังงาน ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญเพื่อให้ประเทศไทยมีความมั่นคงด้านพลังงาน
- พลังงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ก็จะเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชนทั่วประเทศ
- พลังงานคาร์บอนต่ำ ซึ่งเป็นไปตามเทรนด์ที่หลายบริษัทชั้นนำระดับโลกมุ่งหาพลังงานสะอาด
กุญแจสำคัญในการทำให้แผนการขับเคลื่อนด้านพลังงานมีความชัดเจน จากภาพฉายกลายเป็นภาพชัดให้ประชาชนเห็นเป็นรูปธรรม กระทรวงพลังงานได้วางกรอบ 5 นโยบายสำคัญ ดังนี้
1. การจัดหาแหล่งพลังงานใหม่ในประเทศ โดยจะเร่งสำรวจและผลิตปิโตรเลียมทั้งบนบกและในทะเล
- สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมบนบกรอบ 25 คาดว่าจะมีปริมาณทรัพยากรน้ำมันดิบประมาณ 5.76 ล้านบาร์เรลและก๊าซธรรมชาติประมาณ 20.7 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต และคาดว่าจะมีเงินลงทุนในการสำรวจและพัฒนาปิโตรเลียมในประเทศไม่น้อยกว่า 73.75 ล้าน USD
- สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในทะเลรอบ 26 จากการสำรวจพบปิโตรเลียมในบริเวณข้างเคียงทะเลอันดามันที่มีการพบปริมาณทรัพยากร ซึ่งทำให้อาจค้นพบปริมาณทรัพยากรปิโตรเลียมในพื้นที่ขอสิทธิสำรวจ
- เขตพื้นที่ไหล่ทวีปคาบเกี่ยวไทยกับกัมพูชา (OCA) โดยหาแนวทางความร่วมมือให้เกิดเป็นพื้นที่พัฒนาร่วมเพื่อนำทรัพยากรปิโตรเลียมมาใช้ในอนาคต
2.ระบบพลังงานให้มีประสิทธิภาพและยืดหยุ่นเพื่อรองรับพลังงานทุกรูปแบบ
- พัฒนาระบบสำรองเชื้อเพลิงและการตรวจสอบปริมาณสำรอง โดยปรับปรุงกฎหมายการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อเพิ่มความมั่นคงทางพลังงานและเสถียรภาพราคา ซึ่งจะมีการเชื่อมโยงข้อมูลปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองระหว่างภาครัฐและเอกชน
- พัฒนาระบบ Smart Grid และโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานไฟฟ้า โดยยกระดับระบบไฟฟ้าทั้งระบบ เพื่อรองรับรูปแบบการผลิตแบบกระจายศูนย์ (Distribute energy resources)
- พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับยานยนต์ไฟฟ้า เพิ่มสถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบ Fast Charge ให้ครอบคลุม โดยมีอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้าที่เหมาะสม และพัฒนา EV Data Platform เพื่อให้รัฐเป็นหน่วยงานกลางในการประสานข้อมูลสำหรับ EV ในอนาคต
3.ส่งเสริมการลงทุนด้านพลังงาน กระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ เพื่อขีดความสามารถในการแข่งขัน
ประเทศไทยเตรียมเป็น Digital Hub ของอาเซียน โดยพบว่ามีโครงการ Data Center และ Cloud Service ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ รวม 47 โครงการ มูลค่าการลงทุน 173,000 ล้านบาท โดยสิ่งที่โครงการเหล่านี้ต้องการคือ ไฟฟ้าสะอาด โดยแผน PDP กำหนดให้มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดเพิ่มขึ้นในราคาที่เหมาะสม
ทั้งนี้ จะเร่งเร่งขับเคลื่อนพลังงานสะอาดเพื่อเปิดรับการลงทุนจากบริษัทชั้นนำระดับโลก เช่น Data Center ผ่านมาตรการเช่น Direct PPA, UGT และการปรับแผน PDP ให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น
4. เตรียมเสนอมาตรการด้านพลังงานสีเขียวที่ครอบคลุม ทั้งการจัดหาและการใช้งาน
ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา
- พัฒนากฎหมายเพื่อการเข้าถึงพลังงานสะอาด อาทิ ผลักดันร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อเสนอกฎหมายว่าด้วยการยกเลิกในอนุญาต รง.4 ซึ่งขณะนี้ดำเนินการเสร็จแล้ว รวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการติดตั้งแผลโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าสำหรับภาคประชาชนเพื่อลดขั้นตอนและอำนวความสะดวกให้ประชาชนสามารถดำเนินการได้รวดเร็วขึ้น
- ผลักดันมาตรการทางภาษี เพื่อส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานทดแทน
ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลเพื่อลดการเผาไหม้ในที่โล่งแจ้ง ก็จะเป็นอีกตัวช่วยในการลดฝุ่น PM2.5 โดยจะพิจารณาแนวทางการส่งเสริมการกำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากใบอ้อย ยอดอ้อย ในอัตราที่เหมาะสม
5. สนับสนุนเทคโนโลยีพลังงานรูปแบบใหม่ เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน
เร่งดำเนินนโยบายส่งเสริมเทคโนโลยีพลังงานรูปแบบใหม่ ให้เกิดความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศไทย
- เตรียมพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานและกฎระเบียบเพื่อรองรับการใช้งานพลังงานไฮโดรเจน
- เพิ่มขีดความสามารถในการจดหาวัตถุดิบมาใช้เป็นวัตถุดิบผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (SAF) ให้เพียงพอต่อการเริ่มใช้งานปี 2026
- ใช้ประโยชน์แหล่งปิโตรเลีมให้เป็นแหล่งกักเก็บ CO2 (CCS) ผ่านโครงการนำร่องที่แหล่งอาทิตย์ คาดว่าจะเริ่มใช้ได้จริงในปี 2028
ที่มา: กระทรวงพลังงาน