หากผลตอบแทนทางเศรษฐกิจไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ ผลเสียก็จะเกิดขึ้นจากการลงทุน เนื่องจากมีการใช้เงินเพื่อการลงทุนโครงการนี้ค่อนข้างสูง ซึ่งไม่นับรวมต้นทุนที่มองไม่เห็น อย่างผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม
การประเมินผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่สูงเกินจริง ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นสำหรับหน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะหน่วยงานอย่างกระทรวงคมนาคที่มีโครงการขนาดใหญ่จำนวนมาก โดยตัวอย่างล่าสุด มีตัวอย่างโครงการที่คมนาคมประเมินผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูง แต่เมื่อมีการดำเนินโครงการจริงกลับตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง
นั่นคือ โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรืออเนกประสงค์คลองใหญ่ จ.ตราด ซึ่งเสร็จมาแล้วตั้งแต่ปี 2558 แต่จนถึงทุกวันนี้ยังไม่มีการเปิดใช้ หรือ ดำเนินการใด ๆ คงปลอยทิ้งร้าง รอผู้ที่จะเข้ามาดำเนินโครงการ
จุดเริ่มต้น
โครงการศึกษาเพื่อพัฒนาระบบการขนส่งชายฝั่งของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการพาณิชยนาวี โดยบริษัท โกลเด้นแพลน จำกัด ในปี 2544 เสนอว่าพื้นที่ตำบลหาดเล็ก อำเภอคลองใหญ่ จ.ตราด เป็นพื้นที่ชายแดนติดกับประเทศกัมพูชา มีกิจกรรมขนส่งสินค้าทางทะเลไปยังประเทศกัมพูชาหนาแน่น มีปริมาณสินค้ามากกว่าท่าเรือขนาดเดียวกัน แต่ท่าเทียบเรือเดิมไม่มีมาตรฐานและขาดสิ่งอำนวจความสะดวกในการขนส่งสินค้า รวมถึงด่านศุลกากรและด่านตรวจคนเข้าเมือง
บริษัทที่ปรึกษาฯเสนอให้กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี (นข.) ดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาท่าเทียบเรือ หากผลการศึกษาเห็นว่าเหมาะสม
ขน. ได้ว่าจ้างบริษัที่ปรึกษาวิศวกรที่ปรึกษาประกอบด้วย บริษัท ทีม คอนซัลดิ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด และบริษัท เอทีที คอนซัลแตยท์ จำกัด เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2547 โดยเริ่มงานศึกษาตั้งแต่วันที่ 12 ต.ค. 2547 ด้วยวงเงิน 9,329,700 บาท
ต่อมาโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในมัยนั้น เสนอขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2552
เหตุผลและความจำเป็นต้องสร้าง
การขนส่งทางน้ำในช่วงที่เสนอโครงการ ระบุว่าในอำเภอคลองใหญ่ จ.ตราด มีเรือขนส่งสินค้าไปประเทศเพื่อนบ้าน คือ กัมพูชาและเวียดนามใต้ มีมูลค่าสินค้าส่งออกมากกว่า 5,000 ล้านบาทต่อปี โดยใช้เรือประมงขนาดกลางดัดแปลงเป็นเรือสินค้า แต่ท่าเทียบเรือเดิมไม่มีมาตรฐาน และขาดสิ่งอำนวยความสะดวกในการขนส่ง รวมถึงด่านศุลกากรและด่านตรวจคนเข้าเมือง
ขน.จึงเสนอโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรืออเนกประสงค์คลองใหญ่ จ.ตราด เพื่อพัฒนาระบบการขนส่งทางน้ำชายฝั่งทะเลในภาคตะวันออก เพื่อบรรเท่าความเดือดร้อนให้กับประชาชนและกระจายรายได้สู่ภูมิภาค
บริษัทที่ปรึกษาฯ เสนอให้ก่อสร้างท่าเทียบเรืออเนกประสงค์คลองใหญ่ จ.ตราด ในพื้นที่ตำบลหดเล็ก อ.คลองใหญ่ จ.ตราด วงเงินก่อสร้าง 1,295.67 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 30 เดือน (2553-2555)
บริษัทที่ปรึกษาฯ ประเมินต้นทุนและรายได้โครงการ โดยจะมีค่าก่อสร้างรวม 1,295.67 ล้านบาท และค่าบำรุงรักษาปีละ 14.28 ล้านบาท ส่วนผลประโยชน์จากโครงการจะมีมูลค่าเฉลี่ยปีละ 153.20 ล้านบาท รวมประมาณ 30 ปีราว 4,877.91 ล้านบาท
ทั้งนี้มีการประเมินผลตอบแทนด้านเศรษฐศาสตร์ ระบุว่า มีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) 227.72 ล้านบาท อัตราส่วนผลประโยชน์ต่อการลงทุน (B/C) 1.25 และอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) 15.25%
ท่าเทียบเรืออเนกประสงค์คลองใหญ่ ประกอบด้วยท่าเทียบเรือ ทั้งเท่าเทียบเรือสินค้าและการท่องเที่ยว ท่าเทียบเรือประมง ท่าเทียบเรือทหารขนาดความยาว 40 เมตร โดยมีสะพานท่าเทียบเรือยาว 2,000 เมตร กว้าง 10 เมตร พร้อมทั้งมีการก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นยาว 1 กิโลเมตร
สำรับสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นที่บนบก มีพื้นที่ลานกองสินค้าขนาด 30,000 ตารางเมตร อาคารสำนักงานบริการและขนส่งสินค้า อาคารสำนักงานบริการและการท่องเที่ยว อาคารสำนักงานหน่วยรักษาความปลอดภัย โรงอาหารและอาคารพักคอย โกดังสินค้า 2 หลัง เป็นต้น
ทั้งนี้ ได้มีทำการสำรวจความเห็นของประชาชน โดยมีการจัดสัมมารวม 3 ครั้ง ตั้งแต่เดือนธ.ค. 2547 และครั้งสุดท้ายในเดือนส.ค. 2548 ซึ่งผลปรากฎว่าการสำรวจความเห็นครั้งสุดท้าย มีผู้เห็นด้วยถึง 99.1% เห็นด้วยกับการพัฒนาโครงการ โดยจะเห็นว่าสัดส่วนคนคัดค้านน้อยลงจากครั้งแรก
กระทรวงคมนาคมเห็นชอบกับโครงการนี้ โดยอ้างเหตุผลว่า
- เป็นโครงการที่ดำเนินการภายใต้ยุทธศษสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย พ.ศ. 2550-2554 ยุทธศาสตร์ที่ 2 การเพิ่มประสิทธิภาพระบบขนส่งและโลจิสติกส์ ซึ่งคณะกรรมการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ(กบส.) เห็นควรเร่งรัดโครงการลงทุนใหม่ในการพัฒนาเท่าเทียบเรือสำหรับการขนส่งชายฝั่ง โดยโครงการนี้ได้รับการบรรจุไว้เป็นส่วนหนึ่งของแผนกระตุ้นเศรษฐกิจระยะเร่งด่วน 1,566 ล้านบาท ซึ่งครม.เห็นชอบแล้ว
- โครงการนี้ได้รับการสนุนจากประชาชนในพื้นที่และมีส่วนสำคัญในการพัฒนาระบบขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ เพื่อเพิ่มความสะดวกและประสิทธิภาพในการขนส่ง โดยเชื่อมโยงการขนส่งทางถนน ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศอย่างเป็นระบบที่จะทำให้สามารถลดต้นทุนโลจิสติกส์ และเป็นส่วนส่งเสริมและสนับสนุนการค้าระหว่างประเทศกับกลุ่มประเทศอินโดจีน โดยเฉพาะประเทศกัมพูชา
คมนาคมเสนอครม.ขออนุมัติงบ 1,295.67 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง ปี 2553-2555 (ในปี 2553 จำนวน 259.134 ล้านบาท ปี 2554 จำนวน 431.890 ล้านบาท และปี 2555 จำนวน 604.646 ล้านบาท)
ปล่อยทิ้งร้าง 8 ปี ตั้งแต่ก่อสร้างเสร็จปี 2559
การก่อสร้างท่าเรืออเนกประสงค์คลองใหญ่ ดำเนินการโดยกรมเจ้าท่า และหน่วยงานที่เสนอและศึกษาคือ นข. ซึ่งทำให้เกิดข้อสงสัยว่าสร้างเสร็จมานานหลายปีทำไมไม่มีการใช้งาน ทั้ง ๆ ที่ผลการศึกษาในช่วงของบประมาณระบุถึงความเหมาะสมทั้งผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจและประโยชน์ของท่าเรือที่จะเกิดขึ้น
แต่เมื่อเปิดใช้จริง ปรากฏว่าไม่มีการใช้งาน โดยเปิดให้เอกชนเช่า ก็ไม่มีรายใดให้ความสนใจเข้ามาดำเนินงาน โดยผู้เชี่ยวชาญด้านการขนส่งทางเรือระบุว่า “เพราะไม่มีสินค้าและความต้องการใช้จริง” ทำให้ท่าเรือไม่เกิดขึ้น
ล่าสุดเมื่อปี 2566 อธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในสมัยรัฐบาลชุดที่แล้วก็ลงพื้นที่ เตรียมขอให้การท่าเรือแห่งประเทศไทยเข้ามาบริหาร หรือเร่งหาเอกชนเข้ามาเช่าพื้นที่
อย่างไรก็ตาม แนวทางที่มีการเร่งรัดหรือหาทางออกมาโดยตลอดคือ เป็นท่าเรือเพื่อการท่องเที่ยว และส่งสินค้า รวมถึงขอให้ลดค่าเช่าลง แต่ทุกแนวทางมีการเสนอมาแล้ว ท่าเรือคลองใหญ่ก็ยังเป็นท่าเรือร้างอยู่ดี เพราะ “ไม่มีสินค้าและคนใช้งาน” ตามวัตถุประสงค์ที่มีการศึกษาไว้
ในปีที่แล้ว เจ้าหน้าที่จากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ลงพื้นที่ หลังจากมีคนในพื้นที่ร้องเรียนขอให้มาตรวจสอบ เพราะ “ทางชมรม STRONG ได้ร้องขึ้นไปยัง ป.ป.ช. รวมทั้งทางจังหวัดยังได้รับการร้องเรียนจากประชาชน รวมทั้งผู้ประกอบการภาคเอกชน ว่า เพราะเหตุใดท่าเทียบเรือแห่งนี้ยังไม่สามารถเปิดดำเนินการได้”
สำนักงาน ป.ป.ช. ก็ยังมีข้อกังวลในด้านความพร้อมของภาคเอกชนที่จะเข้ามาบริหารจัดการ ว่าจะมีผลตอบแทนที่คุ้มค่าต่อการลงทุนของภาคเอกชนเข้ามาบริหารจัดการหรือไม่ หากไม่มีภาคเอกชนสนใจเข้ามาลงทุน ก็จะทำให้โครงการท่าเทียบเรืออเนกประสงค์คลองใหญ่ ที่มีมูลค่าโครงการถึง 1,295.1 ล้านบาท เกิดความสะดุด
กรณีปัญหาของท่าเรืออเนกประสงค์คลองใหญ่ ชี้ให้เห็นว่าปัญหาที่แท้จริงมาจาก “ไม่มีใครใช้” ทั้งการขนส่งสินค้าและท่องเที่ยว เพราะความผิดพลาดจากการศึกษานั่นเอง
ด้านหนึ่ง การขนส่งทางบก โดยรถบรรทุกตอบโจทย์มากกว่าขนส่งทางเรือ อีกทั้งการประเมินว่าจะมีสินค้ามากมายมาใช้ท่าเรือแห่งนี้นั้นเป็นการประเมินที่ “ผิดพลาด”
อีกด้านหนึ่งที่คิดว่าจะมีส่วนในการส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ ก็พบว่ามีความผิดพลาดอย่างมาก เพราะจุดที่ตั้งท่าเรืออยู่ไกลออกไป โดยเฉพาะจากจุดเดินทางไปเกาะช้าง และการท่องเที่ยวที่ไกลออกไปมีไม่มากพอ และก็มีท่าเรือเอกชนและท่าเรือเดิมหลายแห่งกระจายอยู่ทั่วไป
จากโครงการนี้ ต้องกลับมาตั้งคำถามว่าผลศึกษาของหน่วยงานที่เป็นเจ้าของโครงการเชื่อได้จริงหรือไม่? หรือว่าเป็นการศึกษาเพื่อจะใช้เป็นข้ออ้างในการก่อสร้างเท่านั้น? เพราะหากเชื่อถือได้ ผลที่ออกมาไม่น่าจะห่างไกลจากความเป็นจริงมากเท่านี้
ดังนั้น หากกลับมาพิจารณาโครงการ “แลนด์บริดจ์” ซึ่งกำลังเป็นที่ถกเถียงในประเด็นความน่าเชื่อถือถึงการศึกษาของสนข.อยู่ในขณะนี้ ทำให้เกิดข้อสงสัยเช่นเดียวกัน และที่สำคัญงบประมาณจะมากกว่าคลองใหญ่มหาศาล
ถ้าผิดพลาดขึ้นมา ผลกระทบอาจมากกว่ามหาศาล แล้วใครจะรับผิดชอบ? ซึ่งต่อไปสังคมไทยอาจจำเป็นต้องมีตัวบทกฎหมายออกมาเพื่อบังคับใช้ให้เอาผิดกรณีรัฐบาลดำเนินนโยบายผิดพลาดไปมาก จะต้องกำหนดขอบเขตความเสียหายที่เกิดขึ้น เพื่อรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น
เพื่อเป็นหลักประกันว่านักการเมืองเมื่อเข้ามาบริหารประเทศ ต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบ ไม่ใช่ทำเพราะมีผลประโยชน์แอบแฝง ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม