ท่ามกลาง การตื่นตัวของผู้คนในสังคมที่เริ่มระมัดรวังตัวจากการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับฝุ่นขนาดเล็กที่ก่อตัวมาขึ้นในช่วงนี้ ถึงขึ้นเป็นปัจจัยที่ต้องเช็คก่อนออกจากบ้าน แต่แค่การตื่นตัวอาจยังไม่เพียงพอ ทั้งนี้ ปัจจุบันพบว่าหลายภาคส่วนเริ่มออกมาเคลื่อนไหว รับมือกับสถานการณ์ในตอนนี้ และหาทางสกัดความรุนแรงจากต้นตอของปัญหาที่แท้จริง
คริสตี เชสเตอร์ ชโรเดอร์ ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ด้านคุณภาพอากาศของไอคิวแอร์ กล่าวว่า “ในภูมิภาคไทย ลาว เมียนมา ความเข้มข้นของ PM2.5 มีค่าสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ และมีนาคม เมื่อเทียบกับช่วงเวลาอื่น ๆ ของปี โดยเคยมีรายงานความเข้มข้นเฉลี่ยของ PM2.5 ในช่วงสามเดือนนี้ว่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งปีถึง 3 ถึง 9 เท่า สำหรับเมืองในภูมิภาคนี้”
ฤดูการเผาไหม้ทางการเกษตรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในระดับภูมิภาคที่เป็นปัญหาข้ามพรมแดนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะช่วงเดือนธันวาคมถึงเมษายนของทุกปี เกษตรกรจะเผาเศษพืชผลเป็นวิธีการที่ใช้ต้นทุนต่ำและมีประสิทธิภาพในการเตรียมพื้นที่เพาะปลูกสำหรับการปลูกในครั้งต่อไป
จากข้อมูลกรมป่าไม้ พบจุดความร้อน 8,887 จุดในประเทศไทยจากภาพถ่ายดาวเทียม ตั้งแต่เดือนธันวาคม ปี 2567 ถึงวันที่ 8 มกราคม ปี 2568 โดยจากจำนวนนี้ มีจุดความร้อนในพื้นที่การเกษตรทั้งหมด 7,580 จุด นับเป็น 85% ของจุดความร้อนทั้งหมด โดยจังหวัดที่พบจุดความร้อนเยอะที่สุด 5 อันดับคือ: นครสวรรค์ (730 จุด), กาฬสินธ์ุ (418 จุด), ลพบุรี (405 จุด), นครราชสีมา (401 จุด) และ ร้อยเอ็ด (347 จุด) โดยในช่วงระยะเวลาสิ้นปีเก่ามาถึงต้นปีใหม่นี้ จำนวนจุดความร้อนมีทิศทางเพิ่มขึ้น
การเผาไหม้ในพื้นที่การเกษตรหรือพื้นที่โล่งเป็นส่วนหนึ่งของการทำให้เกิดกลุ่มควันและมลพิษทางอากาศที่ลอยไปทั่วทั้งภูมิภาค และไปผนวกกับมลพิษจากภาคป่าไม้ อุตสาหกรรมและยานยนต์ในเมืองที่มีอยู่เดิม
เกษตรกรในภูมิภาคอาจเผาไหม้ก้านของถั่วเขียวฝักยาว ฝ้าย อ้อย ข้าว และข้าวโพด แม้ว่าการเผาไหม้โดยไม่ได้รับอนุญาตจะผิดกฎหมายในประเทศไทย แต่เกษตรกรหลายคนก็ยังจำเป็นที่จะต้องเผาเศษวัสดุทางการเกษตรเหล่านี้อยู่ดี เป็นปัญหาที่ภาครัฐ ภาคเอกชน และนักวิจัยมีความพยายามแก้ปัญหากันมาอย่างยาวนาน
หยุดเผาได้ ด้วย “เทคโนโลยี” เพิ่มมูลค่าเศษวัสดุ?
ปริมาณของเหลือทางการเกษตรในประเทศไทยแต่ละปีรวมแล้วมากกว่าร้อยล้านตัน ณ ปัจจุบัน มีของเหลือทางการเกษตรประมาณครึ่งหนึ่งที่ได้นำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าแล้ว ส่วนใหญ่ก็จะมาจากภาคอุตสาหกรรมโรงน้ำตาล ที่ใช้ชานอ้อยจนแทบไม่เหลือ กลับกัน ฟางข้าว ยังไม่มีการต่อยอดไปเป็นผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงเชิงพาณิชย์ ทั้งที่ 44% ของพื้นที่เกษตรกรรมในประเทศไทย เป็นพื้นที่นาข้าว
หากมองในมุมของตลาด ปัญหาการเผาเศษวัสดุก็มีส่วนที่มาจากการที่ อุปสงค์-อุปทาน ของเศษพืชผลทางการเกษตร เมื่อผู้รับซื้อฟางข้าว ยอดอ้อย หรือเปลือกผลต่าง ๆ มีความต้องการซื้อไม่มากเท่าจำนวนเศษพืชจากเกษตรกรทั้งหมด ดังนั้น การนำเศษวัสดุเหล่านี้มาแปรรูปเป็นพลังงานทดแทนจึงเป็นทางออกที่น่าสนใจทางหนึ่ง เนื่องจากสามารถลดการเผาและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับเกษตรกรได้
รองศาสตราจารย์ สุนีรัตน์ ฟุกุตะ นักวิจัยด้านเทคโนโลยี ม.เทคโนโลยีพระเจ้าเกล้าธนบุรี กำลังทำงานวิจัยเพื่อแปรรูปเศษฟางข้าวให้สามารถใช้สร้างพลังงานชีวมวลได้
“ถ้าเกษตรกรมีฟางข้าวเหลือ ทำยังไงดี รวบรวมดีไหม ถ้าขนส่งไปจะคุ้มไหม สุดท้ายคือจะมีคนรับซื้อฟางเราไหม โรงน้ำตาลรองรับอ้อยเพราะเขารู้จักวัสดุ เคยไปถามว่าเอาฟางข้าวไหม เขาส่ายหัว”
การไม่รับซื้อเศษวัสดุทางการเกษตรอย่างฟางข้าวมีหลายปัจจัยอย่างมาก ทั้งจากสาเหตุ ‘ไม่อยากแก่งแย่งเศษวัสดุกนระหว่างอุตสาหกรรม’ หรือความไม่รู้ ไม่คุ้นชินกับวัสดุใหม่ ๆ หรืออีกปัจจัยหลักคือการจัดเก็บและขนส่งฟางข้าว หากเก็บไว้นานไป โดนฝนหรือแดด หรือถ้าต้องเสียค่าขนส่งแพง ๆ ข้ามจังหวัด
ทางออกจากฝั่งของ สุนีรัตน์ จึงเป็นการปรับปรุงคุณภาพเชื้อเพลิง ด้วยการอัดเม็ดอัดก้อนเพิ่มความหนาแน่น ที่มีชื่อว่า เม็ด pellet หรือ briquette โดยฟางรูปแบบเม็ดอัดก้อนนี้แพร่หลายในต่างประเทศ เพราะสามารถขนส่งได้ระยะไกล ช่วยเพิ่มมูลค่าให้เศษวัสดุทางการเกษตร
“เวลาเกษตรกรอัดฟางเป็นฟ่อนแล้วเก็บไว้ ถ้าขนส่ง 50 – 70 กิโลเมตรก็คือไม่คุ้มแล้ว การอัดเม็ดช่วยลดพื้นที่การเก็บกองฟาง ลดฝุ่น ลดโอกาสเกิดไฟไหม้ การป้อนเชื้อเพลิงก็จะดีขึ้นด้วย” สุนีรัตน์ กล่าวถึงข้อดีของฟางอัดเม็ด
เศษวัสดุทางการเกษตรที่ถูกมองข้าม สามารถถูกแปลงให้เป็นพลังงานทดแทนที่มีมูลค่าสูงได้ การนำเศษวัสดุ เช่น ฟางข้าว ใบอ้อย มาแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล ไม่เพียงแต่ช่วยลดปัญหาการเผาที่ก่อให้เกิดมลพิษ PM2.5 เท่านั้น แต่ยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับภาคการเกษตรอีกด้วย การดำเนินการดังกล่าวจะช่วยสร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ยั่งยืน ลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล และสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ
แม้ว่าการนำเศษวัสดุทางการเกษตรมาแปรรูปเป็นพลังงานจะเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาที่น่าสนใจ แต่ก็ยังคงมีความท้าทายอยู่บ้าง เช่น ปัญหาการขาดแคลนเทคโนโลยีที่เหมาะสม การขาดระบบการรวบรวมและจัดจำหน่ายที่เป็นระบบ และการขาดแรงจูงใจให้เกษตรกรเข้าร่วม อย่างไรก็ตาม หากมีการสนับสนุนจากภาครัฐและภาคเอกชนอย่างจริงจัง การแก้ไขปัญหาดังกล่าวก็เป็นไปได้ และจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ
สุนีรัตน์ ชี้ให้เห็นว่าหากสามารถสร้างโรงงานอัดเม็ดอัดก้อนฟางข้าวได้จริง เทคโนโลยีนี้ก็จะช่วยสนับสนุนนโยบายประเภท ‘แครอท’ หรือนโยบายจูงใจให้เกษตรกรไม่เผา ซึ่งอาจจะเป็นนโยบายที่ยังมีอยู่น้อยหรือไม่ชัดเจนเมื่อเทียบกับนโยบาย ‘ไม้เรียว’ อย่างการรณรงค์ให้หยุดเผาแบบไม่มีแรงจูงใจ หรือการขู่จับเข้าคุก การเพิ่มมูลค่าให้เศษชีวมวล ถือเป็นวิธีจูงใจเกษตรกรวิธีหนึ่ง ให้ผู้ที่เคยเผามีแรงจูงใจเปลี่ยนฟางข้าวและยอดอ้อยมาเป็นพลังงาน
“สุดท้ายคือเราต้องสร้างห่วงโซ่อุปทาน ปรับปรุงให้เหมาะสม แล้วแต่ความต้องการผู้ซื้อ และมีการดูแลหลังการขายและแนวทางการดูแลรักษา ถ้าฟางอัดเม็ดกระจายวงกว้างขึ้นได้”
หยุดเผาได้ ด้วย “มาตรการ” หนุนการเปลี่ยนแปลงจากรัฐ?
ปัญหาการเผาจากภาคเกษตรในมุมมองของรัฐบาล ถูกวัดค่าจากพื้นที่การเกิด hotspot โดยตัวเลขในปี 2567 ลดลงถึง 21.2% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า อันเป็นผลมาจากรความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่เกษตรกรรม พบว่าการเผาเพื่อเตรียมดินทำไร่นาและการเผาเศษวัสดุทางการเกษตรลดลงอย่างเห็นได้ชัดที่ 36%
ธนศักดิ์ วิวัฒนวานิช ผู้อำนวยการกลุ่มโครงการพระราชดำริ กรมส่งเสริมเกษตรกร ได้กล่าวถึงความสำเร็จในการลดจำนวนจุดความร้อนว่า มาจากการใช้เทคโนโลยีดาวเทียมในการตรวจสอบและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดกับผู้กระทำผิด โดยมีการจับกุมและปรับผู้กระทำผิด กลุ่มเกษตรกรที่ “ไม่สามารถดิ้นได้” พยานหลักฐานครบ ก็จะปรับที่ 500 – 1,000 บาท
นอกจากการลดการเผาแล้ว รัฐบาลยังส่งเสริมให้เกษตรกรนำเศษวัสดุทางการเกษตรไปใช้ประโยชน์อื่นๆ เช่น การผลิตปุ๋ยหมัก การผลิตพลังงานชีวมวล เพื่อเพิ่มมูลค่าและลดการสูญเสีย
ผลักดันนโยบาย 3R ลดการเผาทางการเกษตรทุกพื้นที่
- Rehabit: ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม นำเครื่องจักรมาช่วยเก็บเกี่ยว ส่งเสริมการแปรรูปเพิ่มมูลค่าวัสดุทางการเกษตรเพื่อลดการเผา
- Replace with High Value Crops: เปลี่ยนชนิดพืชจากพืชไร่เป็นไม้ผลในพื้นที่สูง เป็นพืชเศรษฐกิจมูลค่าสูงอย่าง อะโวคาโด กาแฟ หรือไม้โตเร็ว
- Replace with Alternate Crops: เปลี่ยนพืชทางเลือกบนพื้นที่ราบ ปรับนาปรังหรือนานอกเขตชลประทานให้ปลูกข้าวโพดหรือพืชตระกูลถั่วทดแทน
ปัจจุบันยังคงมีอุปสรรคบางประการในการแก้ไขปัญหานี้ เช่น ปัญหาการเข้าถึงแหล่งน้ำในพื้นที่สูง ทำให้การเปลี่ยนแปลงพืชชนิดอื่นเป็นเรื่องยาก และปัญหาเรื่องตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการแปรรูปเศษวัสดุทางการเกษตร
ธนศักดิ์ เล่าถึงเกษตรกรกลุ่มที่อยู่บนภูเขา ว่า “มันไม่ได้บริหารจัดการได้ง่าย ที่แม่แจ่ม กว่าจะขึ้นไปได้ก็เหนื่อย เกษตรกรก็บอกว่า ‘หัวหน้าดูสิจะบริหารจัดการยังไง ไม้ขีดก้านเดียวสำคัญที่สุด’”
“เกษตรกรที่จะเปลี่ยนชนิดพืชได้ต้องเป็นคนหัวไวใจสู้ เขาต้องใช้แรงงานเพิ่มขึ้น เพราะมันยุ่งยากในทางปฏิบัติ ปัญหาคือทุกปีต้องมีรายได้เข้าเกษตรกร ทำยังไงให้รายได้เพียงพอในช่วงปรับเปลี่ยน ในช่วงเรียนรู้การปรับรูปแบบการผลิต”
นอกจากข้อจำกัดฝั่งเกษตรกร กรมส่งเสริมเกษตรกรก็ต้องเพชิญความท้าทายจากสถานการณ์ปัจจุบันในตลาด อีกหลากหลายมิติ
“มีอีกหลายปัจจัยเช่นเรื่องตลาดกับเทคโนโลยี ทำยังไงให้คุ้มเรื่องโลจิสติก ตลาดอุตสาหกรรมและพลังงานมีความต้องการเท่าไหร่ โรงไฟฟ้าชีวมวลต้องการอีกมากน้อยแค่ไหน สุดท้ายต้องย้อนกลับมาคำนวนเบื้องต้น ว่าวัสดุทางการเกษตรจะคุ้มลงทุน ส่งเสริมเกษตรกรได้ยังไง”
การแก้ไขปัญหาการเผาป่าเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาและความร่วมมือจากทุกภาคส่วน แต่ด้วยความมุ่งมั่นของรัฐบาลและประชาชนเชื่อว่าประเทศไทยจะสามารถบรรลุเป้าหมายในการลดการเผาและสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้นได้ในอนาคต
หยุดเผาได้ ด้วย “นโยบาย” แนวคิด ‘เศรษฐศาสตร์’
ปัญหาหมอกควันที่เกิดจากการเผาเศษวัสดุทางการเกษตรเป็นปัญหาเรื้อรังที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง หมายความว่าการแก้ปัญหาแบบเฉพาะส่วนบนของภูเขาน้ำแจ็ง หรือการมองปัญหาฝุ่นด้วยมุมมองเดิม ๆ ยังไม่ใช่คำตอบ หากลองมองในเลนส์เศรษฐศาสตร์แล้ว สาเหตุหลักของฝุ่นควันมาจากการที่อากาศเป็นทรัพยากรสาธารณะที่ไม่มีราคา ทำให้ผู้คนสามารถปล่อยมลพิษได้โดยไม่ต้องรับผิดชอบต่อต้นทุนทางสังคมที่เกิดขึ้น
รองศาสตราจารย์ วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. …. ได้เสนอมุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาฝุ่นภาคเกษตรนี้ โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการนำหลักการทางเศรษฐศาสตร์มาประยุกต์ใช้ในการออกแบบนโยบาย เพื่อให้การปล่อยมลพิษมีต้นทุนที่แท้จริง ผู้กระทำผิดต้องรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น โดย วิษณุ อธิบายกลไกของเศรษฐศาสตร์ว่าเป็นการแทรกแซงผ่านราคาหรือปริมาณ ให้อากาศมีตลาด ให้เกิดราคาขึ้น
“ให้เราลองสวมหมวกเกษตรกร เผาฟรี หรือ ไม่เผาแต่ต้องจ่ายค่าแรงงาน ค่าเครื่องจักร ถ้าคิดถึงกำไร คนก็เลือกการเผานั่นเอง ในเชิงเศรษฐศาสตร์ ก็ควรมีการคิดค้นเครื่องมือและมาตรการขึ้นมา ที่ทำให้การปล่อยมลพิษต่าง ๆ มันมีราคา ถ้าเราเพิ่มทางเลือก หาตลาดให้ฟางข้าวหรือใบอ้อยขายได้ ถ้าการเผาต้นทุนสูงกว่าการไม่เผา คนจะเปลี่ยนไปสู่การไม่เผานั่นเอง”
หลักการสำคัญของแนวคิดนี้คือ การสร้างตลาดสำหรับมลพิษ ทำให้คาร์บอนมีราคาเกิดขึ้น โดยการกำหนดราคาให้กับการปล่อยมลพิษ เช่น กลไกตลาดคาร์บอน การเก็บภาษีการปล่อยมลพิษ หรือการออกใบอนุญาตการปล่อยมลพิษ เมื่อมลพิษมีราคา ผู้ประกอบการและประชาชนจะตระหนักถึงต้นทุนที่แท้จริง และมีแรงจูงใจที่จะลดการปล่อยมลพิษลง
ตัวอย่างของมาตรการที่สามารถนำมาใช้ได้ ได้แก่:
- การเก็บภาษีคาร์บอน
- การซื้อขายใบอนุญาตการปล่อยมลพิษ
- การสนับสนุนการผลิตพลังงานสะอาด: ให้เงินอุดหนุนหรือลดหย่อนภาษีแก่ผู้ผลิตพลังงานสะอาด
- การสร้างตลาดสำหรับเศษวัสดุทางการเกษตร: สร้างตลาดรับซื้อเศษวัสดุทางการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรมีแรงจูงใจในการนำเศษวัสดุเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์อื่น ๆ แทนการเผา เช่นเดียวกับประเด็นเครื่องฟางอัดเม็ดอัดก้อนของ สุนีรัตน์
นอกจากนี้ วิษณุ ยังได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสินค้าเกษตร เช่น โรงงานน้ำตาล ซึ่งควรมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบการเผาจากเกษตรกรผู้ซื้อขายกับโรงงาน ตามหลักการ Extended Polluter Responsibility หรือการขยายความรับผิดชอบของผู้ปล่อยมลพิษ
“ผู้ปล่อยมลพิษเป็นผู้จ่าย นี่ไม่ใช่แค่ต้นนำ้แต่ต้องครอบคลุมปลายน้ำด้วย อย่างกรณีอ้อย เกษตรกรเก็บและเผา โรงงานที่รับซื้ออ้อยเผาแล้วก็ต้องรับผิดชอบด้วยรึเปล่า สุดท้ายการให้มลพิษมีราคาขึ้นมาควรสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงครบวงจร ตอนนี้เอกชนมองต้นทุนของตัวเองแต่ไม่ได้มองสังคม อย่างเรื่องของค่ารักษาพยาบาล คนจนป่วย เป็นมะเร็งเพราะมลพิษ ก็ต้องมีมาตรการย้อนกลับถึงเอกชนที่ควรจ่ายด้วย”
การนำหลักการทางเศรษฐศาสตร์มาประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาหมอกควันเป็นแนวทางที่น่าสนใจและมีศักยภาพในการแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตาม การดำเนินการดังกล่าวต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อนำไปสู่การการออกแบบนโยบายที่เหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทของประเทศ เป็นความท้าทายที่กำลังจะถูกคลอดออกมาด้วยชื่อ “พ.ร.บ.อากาศสะอาด”
“การออกแบบเชิงนโยบาย ต้องให้เข้ากับมุมเศรษฐศาสตร์ ตอนนี้อากาศไม่มีราคา ถ้าจะแก้ปัญหานี้ได้ ต้องมีคนจ่าย มุมมองนี้นำไปสู่ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายหรือกฎหมายได้” วิษณุ กล่าว
จะหยุดเผาได้ ต้องรีบแก้ รีบปรับอะไร?
การแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่เกิดจากการเผาในภาคเกษตรกรรมเป็นเรื่องเร่งด่วนและซับซ้อน ผู้เชี่ยวชาญทั้งสามท่าน ได้แก่ วิษณุ สุนีรัตน์ และ ธนศักดิ์ ได้เสนอแนวทางและข้อเสนอแนะที่น่าสนใจ ดังนี้
วิษณุ เน้นย้ำถึงความสำคัญของการศึกษาแผนปฏิบัติการการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขมลพิษฝุ่นละออง แผนที่ประเทศไทยใช้เป็นหลัก เพื่อหาข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย โดยจากแผนปฏิบัติการนั้น
ปัจจุบันรัฐมีนโยบายให้ความช่วยเหลือแบบไม่มีเงื่อนไข หรือที่เรียกว่า ให้เงินเปล่า เพียงแค่ขอความร่วมมือให้ไม่เผา นโยบายนี้ทั้งไม่สร้างแรงจูงใจให้กับผู้ทำเผาอยู่ แถมยังสร้างความไม่ยุติธรรมให้กับเกษตรกรที่ตั้งใจไม่เผาอีกด้วย แต่ก็ต้องเข้าใจภาครัฐบาลที่อาจจะมีงบประมาณแก้ปัญหาที่ค่อนข้างจำกัด รวมไปถึงความซับซ้อนของการทำงานร่วมกันระหว่างหลายหน่วยงาน
ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ภาคนโยบายจะสามารถแก้ปัญหาการเผาภาคการเกษตรได้ โดยสรุปแล้วข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย พ.ร.บ.อากาศสะอาดควรมีอะไรบ้าง จาก วิษณุ:
- เพิ่มมาตรการลดการเผาในข้าวและข้าวโพดให้มีรูปธรรม มีเป้าหมายที่ชัดเจนขึ้น
- เปลี่ยนจากเยียวยาให้เปล่า เป็นการช่วยเหลือแบบมีเงื่อนไข
- ในการช่วยเหลือเกษตรกร นอกจากการให้เงินคือต้องให้องค์ความรู้เพื่อการเปลี่ยนผ่าน
- มีระบบตรวจสอบย้อนกลับ เข้าถึงข้อมูลการปล่อยมลพิษ ตั้งหน่วยงานอำนาจเบ็ดเสร็จ
- มีกองทุนอากาศสะอาดมาช่วยตอบโจทย์การพึ่งพางบแผ่นดินที่น้อยและไม่ต่อเนื่องได้
- สร้างระบบนิเวศน์ สนับสนุนโลจิสติก ช่วยเกษตรกรรายย่อย เผื่อให้เปลี่ยนผ่านได้อย่างราบรื่น
สุนีรัตน์ มุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องตลาดรับซื้อเศษวัสดุทางการเกษตร นำไปสู่ 2 ประเด็นหลักที่จะสนับสนุนตลาดชีวมวลอย่างยั่งยืน:
- ตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการแปรรูปเศษวัสดุ: โมเดลธุรกิจต้องอยู่ได้ด้วยตัวเอง ต้องหาผู้ลงทุนเครื่องจักร การขนส่ง หรือศูนย์เก็บรวบรวม ผู้ซื้อผู้ขายต้องพึงพอใจในราคาเดียวกัน โดยสามารถเริ่มจากการให้ผู้ซื้อ (ภาคเอกชน) เห็นประโยชน์จากฟางอัดเม็ดอัดก้อนรูปแบบใหม่ ว่ามันเป็นเชื้อเพลิงคุณภาพดีขึ้น ควบคู่ไปกับการต่อยอดงานวิจัยเพื่อลดต้นทุนฟางอัดเม็ดอัดก้อน
- เกษตรกรมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและการดำเนินงาน: ก่อนจะถึงขั้นตอนการอัดเม็ดอัดก้อนฟาง เกษตรกรจะต้องได้รับความรู้ ให้ตระหนักและเข้าใจเชิงเทคนิกก่อน อย่างสมาคมชาวไร่อ้อยที่เป็นกลุ่มเกษตรกรที่เข้มแข็ง สามารถสร้างรายได้กลับคืนเต็มเม็ดเต็มหน่วย ห่วงโซ่อุปสงค์อุปทานก็ดำเนินการต่อไปได้
ธนศักดิ์ เน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือระหว่างศักยภาพของภาครัฐ จับคู่กับเงินลงทุนภาคเอกชน งานวิจัยจากนักวิชาการและมหาวิทยาลัย และความร่วมมือภาคประชาชนในการแก้ไขปัญหาฝุ่นภาคเกษตร
จากตัวอย่างความร่วมมือดังกล่าว ธนศักดิ์ เล่าถึงการทำงานร่วมกันระหว่างกรมส่งเสริมการเกษตร กับองค์กรหน่วยงานอื่น ๆ ในการแก้ปัญหาการเผานี้:
- ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคเอกชน พัฒนาจุลินทรีย์ช่วยย่อยตระกูลบาซิลลัสช่วยย่อยสลายซังข้าวให้เร็วขึ้น จนเกษตรกรกลุ่มทดลองพอใจกับการย่อยซังข้าวใน 7 วัน
- ร่วมกับภาคเอกชน สนับสนุนการเปลี่ยนพืชสู่พืชมูลค่าสูงในพื้นที่สูง ปัจจุบันสนับสนุนพันธุ์กาแฟ ให้การันตีการรับซื้อจากเกษตรกรอย่างแน่นอน
- นำร่องตรวจสอบย้อนกลับในเขตนาพื้นที่ราบ กับองค์กรเอกชนผู้รับซื้อ โดยนำฐานข้อมูลพื้นที่การเกษตรจากภาครัฐ ผนวกกับข้อมูลเกษตรกรที่ขายผลผลิตให้ภาคเอกชน มาสู่การตักเตือนหากมีการเผาในครั้งแรก และไม่รับซื้อผลผลิตเป็นปี
อนาคตการเกษตรไร้เผา สู่อากาศสะอาดกับสุขภาพดี
ถึงแม้ว่าบทความนี้จะเจาะประเด็นของการเผาในภาคเกษตร แต่ต้นตอของฝุ่นหรือมลพิษทางอากาศไม่ได้มาจากสาเหตุเดียว ฝุ่นควันจากการเผาเศษซากชีวมวลจากภาคเกษตรก็เป็นเพียงหนึ่งในหลายปัจจัยและหลายอุตสาหกรรมที่รวมกันเป็นฝุ่นควันที่อันตรายต่อสุขภาพ และยังมีอีกหลายมิติ หลายปัจจัยที่ร่วมกันก่อให้เกิดฝุ่นพิษ ที่ต่างก็ต้องการวิธีการแก้ไขที่แตกต่างกันออกไปโดยสิ้นเชิง
“เกษตรกรยังเชื่อว่าการเผาในภาคเกษตรไม่เป็นอันตราย ไม่กระทบสุขภาพตัวเอง และมองว่าเผาภาคอุตสาหกรรมอันตรายกว่า ความตระหนักรู้ยังขาดอยู่เยอะ”
วิษณุ เล่าถึงความซับซ้อนของปัญหา นอกจากต้นตอที่หลากหลายแล้ว ยังมีปัจจัยของความรู้เรื่องผลกระทบด้านสุขภาพจากฝุ่นพิษ
หนึ่งประเด็นสำคัญของปัญหาฝุ่นควันคือ หลายคนอาจจะยังมองปัญหาเป็นประเด็นสิ่งแวดล้อม ทั้งที่ผลกระทบหลัก ๆ คือด้านสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชากรโลก ผลกระทบด้านสุขภาพจากมลพิษทางอากาศยังเป็นเรื่องที่ใหม่ และต้องเตรียมพร้อมรับมือกับผลกระทบด้านสุขภาวะที่อาจจะตามมา คล้ายกันกับเรื่องของมลพิษพลาสติก ที่รายงานวิจัยยังไม่เยอะเทียบกับโรคอื่น ๆ ที่ประชากรโลกเจอมาก่อนหน้านี้
ด้วยสาเหตุเดียวกันนี้ กลุ่มเกษตรกรผู้เผาเศษชีวมวลเองก็ยังขาดความรู้ ความเข้าใจ ว่าการเผาที่ตัวเองทำอยู่นั้นก็ส่งผลกระทบด้านสุขภาพของตัวเองและคนรอบข้างเช่นกัน เป็นอีกประเด็นหลักที่จำเป็นต้องแก้ ให้เกษตรกรเข้าใจว่า การเปลี่ยนผ่านสู่การไม่เผา เป็นเรื่องจำเป็น