ปัจจุบันอุณหภูมิโลกยังคงพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง และมีการคาดการณ์จากองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization: WMO) ว่า อุณหภูมิอาจเพิ่มขึ้นเป็น 1.5 องศาเซลเซียส ภายในปี 2027 เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม
ปัจจุบันสถิติของปีที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ คือ ปี 2016 ซึ่งมีอุณหภูมิสูงกว่าระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม 1.28 องศาเซลเซียส
ทั้งนี้ ไทยเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศสูงเป็นอันดับที่ 9 ของโลก (จาก 180 ประเทศ) จากรายงานดัชนีความเสี่ยงด้านภูมิอากาศโลก (Global Climate Risk Index: CRI) ประจำปี 2021 ของ German Watch ซึ่งสะท้อนจากอุณหภูมิเฉลี่ยของไทยสูงขึ้น และปริมาณฝนลดต่ำลงกว่าค่าปกติมากในปีที่เกิดเอลนีโญ ขณะที่ ในปีที่เกิดลานีญาก็มีแนวโน้มที่ฝนจะตกมากกว่าในอดีต
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อหลายภาคส่วน หนึ่งในนั้นคือ ภาคเกษตรและอาหารของไทย (สินค้าเกษตรและอาหารในงานศึกษานี้ รวมเฉพาะผลผลิตทางการเกษตรที่น ามาผลิต/แปรรูปเป็นอาหาร) ที่อาจต้องเผชิญความเสี่ยงจากผลผลิตผันผวน และมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดมากขึ้นของคู่ค้า
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้น กระทบผลผลิตเกษตรให้ผันผวนและลดลง (Physical Risk) ส่งผลต่อผู้ประกอบการตลอดห่วงโซ่การผลิต
ไทยตั้งอยู่ในเขตที่มีสภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศเอื้อต่อการทำการเกษตร ส่งผลให้ไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นครัวของโลก และน่าจะมีความเสี่ยงด้านความมั่นคงด้านอาหารน้อยกว่าเมื่อเทียบกับหลายประเทศ
แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ส่งผลต่อปริมาณผลผลิตเกษตรของไทยให้มีความเสี่ยงมากขึ้นจากที่เคยได้เปรียบในการทำการเกษตร สะท้อนจากพืชเศรษฐกิจของไทย โดยเฉพาะข้าวและอ้อย ที่มีพื้นที่เพาะปลูกรวมกันราว 60% ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด (ข้อมูลจากพื้นที่เพาะปลูกในปี2023 จากส านักงานเศรษฐกิจการเกษตร และส านักงานคณะกรรมการอ้อยและน ้าตาลทราย) แต่ผลผลิตต่อไร่ (Yield) ยังน้อยกว่าคู่แข่งหลัก และมีแนวโน้มผันผวน/ลดลงตามการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดถี่และรุนแรงขึ้น ขณะที่ ปาล์มน้ำมัน แม้ว่าผลผลิตต่อไร่จะมากกกว่าคู่แข่ง แต่ช่วงที่เกิดภัยแล้งรุนแรงในช่วงปี 2014-2016 พบว่าผลผลิตต่อไร่เฉลี่ยลดลง 12% เมื่อเทียบกับปี 2013
ผลผลิตต่อไร่ (Yield) ในพืชอาหารที่สำคัญของไทย โดยเฉพาะข้าวและอ้อยต่ำกว่าคู่แข่ง
นอกจากนี้ ภาคประมงก็ยังได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้นเช่นกัน ซึ่งจากการรายงานของ Marine Stewardship Council พบว่าผลผลิตสัตว์น้ำในพื้นที่เขตร้อนมีแนวโน้มลดลงสูงสุด 40% จากปริมาณผลผลิตปัจจุบัน ภายในปี 2050
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นอีก จะยิ่งทำให้ผลผลิตมีความผันผวน และกระทบมายังภาคเกษตรและอาหารของไทย ดังนี้
1) นอกจากเกษตรกรจะได้รับผลกระทบในแง่ของรายได้ที่อาจลดลงแล้ว ยังรวมถึงธุรกิจกลางน้ำ-ปลายน้ำในอุตสาหกรรมอาหารราว 82,000 ราย ที่ต้องเผชิญการขาดแคลนวัตถุดิบ กระทบต่อเนื่องมายังต้นทุนวัตถุดิบที่เป็นต้นทุนหลักในแทบทุกธุรกิจ โดยมีสัดส่วนเฉลี่ยราว 40-70% ของต้นทุนรวมให้ขยับสูงขึ้นด้วย และส่งผลให้สินค้าเกษตรและอาหารที่จำเป็นบางประเภทมีการปรับขึ้นราคาตามต้นทุน หรืออาจถูกจำกัดการซื้อจากผลผลิตที่ไม่เพียงพอ เช่น น้ำมันพืช และน้ำตาลทรายขาว เป็นต้น
2) ผู้นำเข้าวัตถุดิบมาเพื่อผลิตสินค้าเกษตรและอาหารอาจมีความเสี่ยงจากแหล่งนำเข้าสำคัญของไทยลดการส่งออก อาทิ ภาวะขาดแคลนผลผลิตในประเทศจากผลกระทบของภัยแล้ง ทำให้ในปี 2023 อาร์เจนตินามีการลดการส่งออกถั่วเหลือง และในปี 2024 ออสเตรเลียลดการส่งออกข้าวสาลี ดังนั้น ผู้นำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ของไทยจึงจำเป็นต้องมองหาตลาดใหม่ทดแทนตลาดเดิม
ไทยเสี่ยงส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารได้ยากขึ้น จากคู่ค้าหลักดำเนินมาตรการทางการค้าเข้มงวดขึ้น (Transition Risk) โดยเฉพาะสหภาพยุโรป และสหรัฐฯ
นอกจากผลผลิตจะมีความผันผวนจนทำให้เหลือส่งออกได้น้อยลงแล้ว ไทยยังมีความเสี่ยงจากการดำเนินมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้นของสหภาพยุโรป และสหรัฐฯ ซึ่งไทยมีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกในประเทศเหล่านี้รวมกันเกือบ 20% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารทั้งหมด โดยเฉพาะสหภาพยุโรปที่ได้มีการออกมาตรการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น
– ยุทธศาสตร์ Farm to Fork ที่ผู้ผลิตสินค้าเกษตรและอาหารต้องลดการใช้สารเคมี รวมถึงการแสดงแหล่งที่มา/ข้อมูลผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของอาหารบางประเภท ไปจนถึงมุ่งเน้นให้ผู้บริโภคมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาบริโภคอาหารยั่งยืนและดีต่อสุขภาพ
– กฎหมายสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่า (EUDR) ซึ่งกำหนดให้สินค้า 7 ประเภท (โกโก้ กาแฟ ถั่วเหลือง น้ำมันปาล์ม เนื้อวัว ยาง ไม้) ที่นำเข้า-ส่งออกในสหภาพยุโรปต้องปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า และสามารถตรวจสอบ/ประเมินสินค้าได้ (Due Diligence)
– มาตรฐานด้านความยั่งยืนต่าง ๆ ที่ผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ของโลกนำมาใช้ ซึ่งจะกดดันให้ผู้ส่งออกไทยที่เป็นซัพพลายเออร์วัตถุดิบให้กับบริษัทเหล่านี้เผชิญต้นทุนการจัดการเพิ่มขึ้นจากการปรับกระบวนการผลิต/ปฏิบัติตามมาตรฐานดังกล่าว
ตัวอย่างมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่กระทบภาคเกษตรและอาหาร
ทั้งนี้ หากพิจารณากระบวนการผลิตวัตถุดิบต้นน้ำของไทย โดยเฉพาะการปลูกข้าวและการทำปศุสัตว์ (วัว หมู ไก่) พบว่า มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ราว 1.7 และ 19.8 kg CO2e/kg ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่าหลายประเทศที่เป็นคู่แข่งสำคัญของไทย เช่น เวียดนาม อินเดีย และบราซิล
ดังนั้น หากผู้ประกอบการไทยไม่สามารถดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้น้อยกว่าคู่แข่งหรือเป็นไปตามเกณฑ์ ก็อาจส่งผลให้การส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันและส่วนแบ่งตลาดในระยะข้างหน้า
การผลิตข้าวขาว และการทำปศุสัตว์ของไทยยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงกว่าคู่แข่ง
ผู้ประกอบการกลุ่มผักผลไม้แปรรูป อาหารทะเลและเนื้อสัตว์แปรรูป คาดได้รับผลกระทบจากผลผลิตลดลง และมาตรการคู่ค้ามากกว่ากลุ่มอื่นๆ เนื่องจากพึ่งพาตลาดส่งออกเกินกว่า 50%
ปัจจุบันไทยมีผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารอยู่ราว 17,000 ราย โดยผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากทั้งผลผลิตที่ผันผวนจนอาจส่งออกได้น้อยลง และการดำเนินมาตรการทางการค้าด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้นของคู่ค้า คงจะเป็นสินค้าเกษตรและอาหารแปรรูป โดยเฉพาะกลุ่มผักผลไม้แปรรูป รวมถึงกลุ่มอาหารทะเลและเนื้อสัตว์แปรรูป เนื่องจากพึ่งพาตลาดส่งออกมากกว่าการบริโภคภายในประเทศ สะท้อนจากกลุ่มเหล่านี้มีสัดส่วนการส่งออกต่อผลผลิตในประเทศสูงมากกว่า 50% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารขั้นกลางน้ำ-ปลายน้ำ ที่ราว 31%
สินค้าที่มีสัดส่วนการส่งออกต่อผลผลิตในประเทศสูง 3 อันดับแรก และคู่ค้าหลัก
ทั้งนี้ แม้ว่าผู้ประกอบการ 2 กลุ่มนี้จะพึ่งการส่งออกมากกว่ากลุ่มอื่นๆ แต่ผลกระทบคงแตกต่างกันไปในแต่ละผู้ประกอบการขึ้นอยู่กับความสามารถในการปรับตัว ระดับความเกี่ยวเนื่องของธุรกิจในห่วงโซ่ และความยืดหยุ่นในการกระจายส่วนแบ่งตลาด
ไปข้างหน้า สัดส่วนมูลค่าส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทยเสี่ยงลดต่ำกว่า 15% หากผู้ประกอบการไทยไม่ปรับตัวรองรับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ปัจจุบันไทยพึ่งพาการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารโดยมีมูลค่าราว 4.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็น 15% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งในอาเซียน เป็นรองแค่อินโดนีเซียเท่านั้น
สัดส่วนมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารต่อมูลค่าการส่งออกทั้งหมด
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แม้จะทำให้ราคาสินค้าเกษตรและอาหารเพิ่มขิ้น แต่ปริมาณผลผลิตที่จะส่งออกได้อาจมีไม่เพียงพอ รวมถึงยังต้องเผชิญกฎระเบียบ/มาตรการทางการค้าด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้น ส่งผลให้สัดส่วนการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทยเสี่ยงลดลงต่ำกว่า 15% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด นอกเหนือจากปัจจัยความสามารถในการแข่งขันด้านราคาที่ลดลง และผู้ประกอบการไทยบางส่วนเข้าไปลงทุนใกล้ตลาดส่งออกมากขึ้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การดำเนินมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดมากขึ้นของคู่ค้าจะยิ่งเป็นแรงกดดันให้ผู้ประกอบการในภาคเกษตรและอาหารของไทยต้องเริ่มปรับตัว ทำให้มีต้นทุนส่วนเพิ่ม แต่หากไม่ปรับเลยก็อาจต้องเผชิญบทลงโทษจากคู่ค้า เช่น การเก็บภาษีคาร์บอน การลด/ยกเลิกคำสั่งซื้อ เป็นต้น
ในอีกมุมหนึ่ง แม้ต้นทุนการปรับตัวด้านสิ่งแวดล้อมจะเพิ่ม แต่หากผู้ประกอบการเริ่มทำแต่เนิ่นๆ ในระยะยาวก็จะเป็นแต้มต่อทางการค้าและมีโอกาสในการขยายตลาดเพิ่มเติม โดยเฉพาะในตลาดที่เข้มงวดด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งผู้ประกอบการคงต้องชั่งน้ำหนักความคุ้มค่าระหว่างต้นทุนในการปรับตัวกับต้นทุนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ต้องจ่าย รวมถึงความเสี่ยงที่จะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
ที่มา: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย