ข้อตกลงทางการค้าเสรี หรือ FTA (Free trade agreement) ถือเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญทางด้านการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งจะช่วยลดอุปสรรคทางการค้าทั้งที่เป็นอุปสรรคทางภาษี และที่ไม่ใช่ภาษี โดยต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์ร่วมกัน
ปัจจุบันไทยมี FTA ที่มีผลบังคับใช้แล้วทั้งหมด 15 ฉบับ ครอบคลุม 19 ประเทศ โดยฉลับล่าสุด คือ เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2567 ซึ่งรัฐบาลไทยได้ลงนามในข้อตกลงการค้าเสรีฉบับที่ 15 ร่วมกับประเทศศรีลังกา (SLTFTA)
สำหรับ FTA ที่ไทยกำลังอยู่ในระหว่างการเจรจา มี 7 ฉบับ โดยข้อตกลงที่คาดว่าจะเจรจาเสร็จสิ้นในปี 2567 ได้แก่ ข้อตกลงไทย-สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (CEPA) และข้อตกลงไทย-สมาคมการค้าเสรียุโรป (TH-EFTA FTA) ส่วนข้อตกลง FTA ที่คาดว่าจะเจรจาสำเร็จในปี 2568 ได้แก่ ข้อตกลงไทย-สหภาพยุโรป (TH-EU FTA) และข้อตกลงอาเซียน-แคนาดา (ACAFTA) ขณะที่ข้อตกลงที่มีแนวโน้มการเจรจาเสร็จสิ้นหลังปี 2568 ได้แก่ข้อตกลงไทย-ปากีสถาน ( PATHFTA), และข้อตกลง ไทย-ตุรกี (TRTHFTA) เป็นต้น
ไทยใช้สิทธิ “เอฟทีเอ” เกิน 50% ของมูลค่าส่งออกรวม
จากข้อมูล สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พบว่า ที่ผ่านมาไทยมีการใช้สิทธิ FTA เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากสัดส่วนของมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ใช้สิทธิ FTA เทียบกับมูลค่าการส่งออกรวม โดยในช่วงการเกิดสงครามการค้า (2558 – 2560) เฉลี่ยอยู่ที่ 43.3% แต่ในช่วงหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (2565 – 2566) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่เฉลี่ย 52.4%
หากพิจารณาการใช้สิทธิ FTA ของไทย โดยแบ่งตามข้อตกลง 12 ข้อตกลง พบว่า ข้อตกลงอาเซียน (AFTA) และข้อตกลงอาเซียน-จีน (ACFTA) นั้น ไทยมีแนวโน้มสัดส่วนใช้สิทธิข้อตกลงดังกล่าว เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มาอยู่ที่ 46.10% และ 74.8% ตามลำดับ
นอกจากนี้ FTA ที่มีการทับซ้อนกันในบางประเทศ ได้มีสัญญาณของการสลับการใช้สิทธิของผู้ส่งออก คือ
- อินเดีย ได้แก่ ข้อตกลงไทย-อินเดีย (TIFTA) และข้อตกลงอาเซียน-อินเดีย (AIFTA) โดยมีสัดส่วนการใช้สิทธิใน TIFTA ลดลง แต่สัดส่วนการใช้สิทธิ AIFTA เพิ่มขึ้น
- ออสเตรเลีย ได้แก่ ข้อตกลง ไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) และข้อตกลงของอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (AANZFTA) ซึ่งมีสัดส่วนการใช้สิทธิของ TAFTA ลดลง แต่สัดส่วนการใช้สิทธิ AANZFTA เพิ่มขึ้น
สำหรับการใช้สิทธิ FTA ในส่วนของข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่ได้ลงนามเมื่อปี 2565 นั้น ไทยมีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ใช้สิทธิดังกล่าวในปี 2565 อยู่ที่ 0.66% และในปี 2566 อยู่ที่ 0.98% แต่มีข้อสังเกตว่าในทุกประเทศที่อยู่ในข้อตกลง RCEP ดังกล่าว ล้วนมี FTA กับไทยอยู่แล้วทั้งหมด
มาตรการการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีเริ่มรุนแรง
แม้ว่ามูลค่าการส่งออกของไทยที่ใช้สิทธิ FTA จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนมีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกที่ใช้สิทธิเกิน 50% ของมูลค่าการส่งออกรวม แต่ยังมีสินค้าส่งออกบางส่วนของไทยที่ไม่ได้อยู่ในข้อตกลง FTA ซึ่งสินค้าดังกล่าวกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายในเรื่องของมาตรการการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่การตั้งกำแพงภาษี (Non-Tariff Barrier: NTB) ที่มีแนวโน้มรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะมาตรการที่เกี่ยวข้องกับด้านสิ่งแวดล้อม หลังจากที่สหภาพยุโรปเริ่มมีการบังคับใช้กฎระเบียบด้านการไม่ตัดไม้ทำลายป่า (EUDR) กฎระเบียบสอบทานธุรกิจด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม (CSDDD) และมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (CBAM) ขณะที่สหรัฐฯ เตรียมบังคับใช้ Clean Competition Act (CCA) และ Foreign Pollution Fee Act (FPFA) โดยกำลังอยู่ในขั้นตอนพิจารณา
จากข้อมูลขององค์การการค้าโลก (WTO) พบว่า มาตรการทางการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่การตั้งกำแพงภาษี ตั้งแต่ปี 2552-2564 มีจำนวนรวม 61,551 มาตรการ โดยเป็นมาตรการที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม 18,206 มาตรการ คิดเป็นสัดส่วน 29.6% ของมาตรการการค้าที่ไม่ใช่กำแพงภาษีทั้งหมด และมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่องจากในปี 2552 ที่มีอยู่ 829 มาตรการ จนในปี 2565 เพิ่มมาอยู่ที่ 1,349 มาตรการ
โดยประเภทของมาตรการการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่การตั้งกำแพงภาษีในด้านสิ่งแวดล้อม ที่มีจำนวนมากที่สุด คือ มาตรการที่เกี่ยวข้องกับมาตรการด้านเทคนิค (Technical barrier to Trade :TBT) ที่บังคับใช้แล้วมี 5,343 มาตรการ รองลงมาคือมาตรการการอุดหนุนและตอบโต้การอุดหนุน (Subsidies and Countervailing Measures) มี 4,661 มาตรการ และมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการผลิตภาคเกษตรอื่น ๆ 3,414 มาตรการ
ประเทศที่มีการออกมาตรการการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่การตั้งกำแพงภาษี ส่วนใหญ่เป็นประเทศพัฒนาแล้ว เนื่องจากมีระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ค่อนข้างสูง และเป็นคู่ค้าสำคัญกับไทยทั้งสิ้น โดยประเทศ 3 อันดับแรก ที่ออกมาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่กำแพงภาษีมากที่สุด ได้แก่ สหภาพยุโรป จำนวน 2,842 มาตรการ สหรัฐอเมริกา จำนวน 2,717 มาตรการ และ ออสเตรเลีย จำนวน 1,149 มาตรการ
ซึ่งสาขาการผลิตที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด 3 อันดับแรก จากการใช้มาตรการการกีดกันทางการค้าดังกล่าว ได้แก่ เกษตรกรรม มีการใช้มาตรการที่เกี่ยวข้องจำนวน 5,870 มาตรการ รองลงมาอุตสาหกรรมการผลิต มีการใช้มาตรการที่เกี่ยวข้องจำนวน 4,586 มาตรการ และเคมีภัณฑ์ มีการใช้มาตรการที่เกี่ยวข้องจำนวน 3,173 มาตรการ
“เอฟทีเอ” ทางรอดของไทย เลี่ยงผลกระทบกีดกันทางการค้า
ขณะที่ไทยก็ได้รับผลกระทบจากมาตรการการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่การตั้งกำแพงภาษี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเภทมาตรการด้านเทคนิค และมาตรการด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช โดยกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับสินค้าด้านเกษตร (สัตว์และพืชผัก) ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช
ส่วนในกลุ่มของสินค้าอุตสาหกรรม อาหาร เคมีภัณฑ์ ยางและผลิตภัณฑ์ เหล็กและผลิตภัณฑ์ และเครื่องจักรเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น จะได้รับผลกระทบจากมาตรการด้านเทคนิค ซึ่งมาตรการดังกล่าวส่วนใหญ่ถูกบังคับใช้จาก 3 ประเทศใหญ่ของโลก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน และสหภาพยุโรป
สำหรับแนวทางการดำเนินนโยบายการค้าระหว่างประเทศของไทยในระยะถัดไป เพื่อให้เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้า จำเป็นต้องดำเนินการควบคู่กันใน 2 มิติ
- มิติของการสร้างโอกาสทางการค้า โดยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีผ่าน FTA ที่มีผลบังคับใช้แล้ว และเร่งเจรจา FTA อื่น ๆ
- มิติของการเร่งยกระดับการพัฒนาศักยภาพและประสิทธิภาพห่วงโซ่การผลิตสินค้า ให้สามารถแข่งขันได้ในด้านคุณภาพของสินค้า เพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมไปกับ
ความต้องการห่วงโซ่อุปทานในตลาดโลก และตอบสนองต่อมาตรฐานและข้อกำหนดของประเทศผู้นำเข้า ท่ามกลางมาตรการการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่การตั้งกำแพงภาษี ที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่สถานการณ์เศรษฐกิจและการค้าโลกอยู่ในกระแสของการทวนกลับของกระแสโลกาภิวัตน์ (Deglobalization) และสถานการณ์การแยกส่วนระหว่างกันของเศรษฐกิจโลก (Fragmentation) ในปัจจุบัน
ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)