BRICS คืออะไร
BRICS เดิมเป็นชื่อย่อที่ใช้เรียกกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา และมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว หรือ ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ประกอบด้วยประเทศบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้
ต่อมา BRICS ได้รับสมาชิกใหม่เพิ่มเข้ามาอีก ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ อิหร่าน อียิปต์ เอธิโอเปีย และ อาร์เจนตินา ส่งผลให้ประเทศในกลุ่ม BRICS ทั้งหมด มีขนาดเศรษฐกิจ (GDP) รวมกันอยู่ที่ 28.4% ของโลก และมีจำนวนประชากรรวมกันเป็นสัดส่วนที่ 39% ของโลก
วัตถุประสงค์ในการสมัครเข้าเป็นสมาชิก BRICS ของแต่ละประเทศ หวังต้องการรักษาสมดุลของขั้นอำนาจทางเศรษฐกิจของประเทศเกิดใหม่ และประเทศที่พัฒนาแล้ว
ท่าทีของกลุ่ม BRICS นั้น ต้องการคานอำนาจกับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งประเด็นที่ให้ความสำคัญ คือ
- การปฏิรูปโครงสร้างการจัดการเศรษฐกิจโลก เพื่อให้กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาได้มีบทบาทมากขึ้น
- การส่งเสริมการใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ เพื่อลดการพึ่งพาสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ
- การสร้างกลไกระหว่างประเทศทางเลือก ทั้งในด้านการเงิน การให้ความช่วยเหลือ และการระดมทุน เพื่อการพัฒนา
อย่างไรก็ตามในด้านการเมืองและความมั่นคงระหว่างประเทศนั้น กลุ่ม BRICS มักมีท่าทีไม่สอดคล้องกับกลุ่มประเทศตะวันตก โดยเฉพาะวิกฤตการณ์ซีเรีย ปัญหานิวเคลียร์ของอิหร่าน และสงครามรัสเซีย-ยูเครน
ขั้นตอนสมัครเข้ากลุ่ม BRICS
หนังสือเรื่องการเข้าเป็นกลุ่ม BRICS ที่กระทรวงการต่างประเทศได้ส่งถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เมื่อ 27 พ.ค. 67 ได้เปิดเผยถึงขั้นตอนการเป็นสมัครเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS ประกอบด้วย 6 ขั้นตอน ดังนี้
1.ประเทศที่สนใจจะสมครเข้าเป็นสมาชิก ต้องยื่นหนังสือแสดงความประสงค์อย่างเป็นทางการต่อประธานกลุ่ม BRICS ในระดับผู้นำ หรือรัฐมนตรีต่างประเทศ เมื่อยื่นหนังสือแสดงความประสงค์แล้ว จะมีสถานะเป็นประเทศที่แสดงความสนใจ
2.ประธานกลุ่ม BRICS แจ้งให้ประเทศสมาชิกทั้งหมดทราบ ซึ่งการติดต่อสื่อสารระหว่างประเทศสมาชิกกกลุ่ม BRICS กับประเทศที่สนใจจะเป็นสมาชิก จะเป็นความลับ
3. BRICS Sherpa จะพิจราณาคำขอของประเทศที่แสดงความสนใจตามหลักเกณฑ์และหลักเกณฑ์การรับสมาชิกใหม่ที่กำหนด โดยหากผ่านการพิจารณา BRICS Sherpa จะเสนอให้ประเทศดังกล่าวเป็นว่าที่ประเทศสมาชิกกลุ่ม BRICS เพื่อให้รัฐมนตรีต่างประเทศกลุ่มBRICS พิจารณา
4.รัฐมนตรีต่างประเทศกลุ่ม BRICS จะนำเสนอรายชื่อประเทศที่ผ่านการพิจารณาในระดับรัฐมนตรีให้ผู้นำประเทศสมาชิก BRICS พิจารณา
5.เมื่อผู้นำประเทศสมาชิกกลุ่ม BRICS เห็นชอบโดยฉันทามติ ประธานกลุ่ม BRICS จะมีมติเชิญประเทศที่ได้รับความเห็นชอบดังกล่าวเป็นสมาชิก BRICS ซึ่งจะได้รับสถานะเป็นประเทศที่ได้รับเชิญ
6.เมื่อประเทศที่ได้รับเชิญมีหนังสือตอบรับคำเชิญในระดับผู้นำรัฐบาล หรือรัฐมนตรีต่างประเทศ ถึงประธานกลุ่ม BRICS แล้ว จึงจะมีสถานะเป็นสมาชิก BRICS เต็มรูปแบบอย่างเป็นทางการ
ไทยเข้าเป็นพันธมิตร BRICS
ล่าสุดที่ประชุม BRICS หรือ BRICS Plus Summit ครั้งที่ 4 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 24 ต.ค. 67 ณ เมืองคาซาน ประเทศรัสเซีย ได้เพิ่มประเทศใหม่ 13 ประเทศเป็นหุ้นส่วนของกลุ่ม หรือเป็นพันธมิตร แต่ยังไม่ใช่สมาชิกอย่างเป็นทางการ ประกอบด้วย ไทย แอลจีเรีย เบลารุส โบลิเวีย คิวบา อินโดนีเซีย คาซัคสถาน มาเลเซีย ไนจีเรีย ตุรกี ยูกันดา อุซเบกิสถาน และเวียดนาม
การประชุม BRICS Plus ครั้งนี้ จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “BRICS and the Global South: Building a Better World Together” เพื่อหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาความท้าทายในระดับภูมิภาคและระดับโลก และแนวทางการส่งเสริมระบบพหุภาคีเพื่อการสร้างระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เป็นธรรมและเป็นประโยชน์ต่อประเทศกำลังพัฒนามากขึ้น
นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะผู้แทนของนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมประชุมโดยได้กล่าวถ้อยแถลงในที่ประชุม เน้นความสำคัญของการเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบพหุภาคีที่สมดุลและเป็นประโยชน์ต่อประเทศกําลังพัฒนามากขึ้น พร้อมเน้นย้ำความมุ่งมั่นของไทยในการยกระดับการมีปฏิสัมพันธ์กับกลุ่ม BRICS และเชื่อว่าไทยจะเป็นตัวเชื่อมระหว่าง BRICS กับกลุ่มอื่น ๆ อาทิ อาเซียน (ASEAN) เอเปค (APEC) บิมสเทค (BIMSTEC) และ ความร่วมมือแห่งเอเชีย (ACD) ได้เป็นอย่างดี
ขณะเดียวกันไทยได้เสนอให้มีการหารือเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาปัตยกรรมทางการเงินระหว่างประเทศที่ให้ความสำคัญกับประเทศกําลังพัฒนามากขึ้น โดยได้เชิญสมาชิก BRICS เข้าร่วม high-level discussions on the financial architecture ซึ่งไทยในฐานะประธาน ACD จะจัดขึ้นในปี 68
การประชุมครั้งนี้เป็นโอกาสให้ฝ่ายไทยได้เน้นย้ำความมุ่งมั่นในการยกระดับปฏิสัมพันธ์กับกลุ่ม BRICS หลังจากที่ไทยได้ยื่นหนังสือแสดงความประสงค์ในการสมัครเข้าเป็นสมาชิก BRICS เมื่อเดือนมิ.ย. 67
ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับ
ไทยได้ยื่นหนังสือแสดงความประสงค์ในการสมัครเข้าเป็นสมาชิก BRICS เมื่อเดือน มิ.ย.67 ซึ่งเป็นไปตาม มติคณะรัฐมนตรี เมื่อ 28 พ.ค. 67 ที่เห็นชอบร่างหนังสือแสดงความประสงค์ของประเทศไทยในการเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS และมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศเป็นหน่วยงานประสานหลักในการดำเนินงานการเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS ของประเทศไทย
ทั้งนี้ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากการเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS คือ ช่วยยกระดับบทบาทของประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศโดยเป็นการกระชับความร่วมมือกับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่มีศักยภาพจะก้าวขึ้นมามีบทบาททางเศรษฐกิจและการเมืองในอนาคต โดยเฉพาะด้านการค้า การลงทุน การเงิน ความมั่นคงด้านอาหารและความมั่นคงด้านพลังงาน ทั้งยังช่วยเพิ่มบทบาทของประเทศไทยในการกำหนดทิศทางนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในการปฏิรูประบบเศรษฐกิจการเงินระหว่างประเทศ การส่งเสริมความร่วมมือเพื่อการพัฒนา และการส่งเสริมการใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศเพื่อกระจายความเสี่ยง
นอกจากนี้ การเข้าเป็นสมาชิก BRICS ยังช่วยเพิ่มโอกาสให้ประเทศไทยได้ร่วมสร้างระเบียบโลกใหม่ ที่กลุ่มประเทศตลาดใหม่และกลุ่มประเทศกำลังพัฒนามีบทบาทสำคัญ มีความครอบคลุม และไม่มุ่งต่อต้านกลุ่มใด
สำหรับ ความร่วมมือในกลุ่ม BRICS แบ่งเป็น 3 เสา ได้แก่ 1. เสาด้านการเมืองและความมั่นคง 2. เสาด้านเศรษฐกิจและการเงิน และ 3. เสาด้านมนุษยธรรมและวัฒนธรรม โดยนอกจากจะมีการประชุมระดับผู้นำของ BRICS แล้ว แต่ละเสายังมีการจัดประชุมในระดับต่าง ๆ เช่น คณะทำงาน เจ้าหน้าที่อาวุโส ระดับรัฐมนตรี รวมกันประมาณ 200 การประชุมต่อปี และเกี่ยวข้องกับหน่วยราชการต่าง ๆ ในลักษณะคล้ายกรอบอาเซียน
ดังนั้นการเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS จะเป็นโอกาสให้ไทยมีส่วนร่วมในการหารือกับประเทศสมาชิก ประเทศหุ้นส่วนและประเทศอื่น ๆ ที่เข้าร่วมในกลไกของกลุ่ม BRICS เพื่อขยายความร่วมมือในด้านต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น ความมั่นคง การต่อต้านการก่อการร้าย ยุติธรรม การศึกษา วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม สาธารณสุข การคลัง การค้าและเศรษฐกิจ การจัดการภาษี การคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐาน การท่องเหี่ยว การส่งเสริมบทบาทของเยาวชนและสตรี การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เป็นต้น
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
- ประเทศไทยชูบทบาท “สะพานเชื่อม-มิตรกับทุกประเทศ”
- เทียบนโยบาย “เดโมแครต-รีพับลิกัน” กระทบไทยแค่ไหน?
- จับตาผลเลือกตั้งสหรัฐ กระทบ”อาเซียน-ไทย”อย่างไร
ที่มา : กระทรวงการต่างประเทศ และกสิกรไทย