นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 79 (79th Session of the United Nations General Assembly: UNGA79) ระหว่างวันที่ 22 – 28 ก.ย. 2567 ที่นครนิวยอร์ก
ในช่วงการประชุม UNGA79 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมีกำหนดการกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสุดยอดเพื่ออนาคต (Summit of the Future) และในการอภิปรายทั่วไป (General Debate) โดยจะย้ำการมีเสถียรภาพ ศักยภาพ และความพร้อมของไทยในการสานสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคง และความเจริญรุ่งเรืองกับประชาคมระหว่างประเทศ
นายมาริษจะเน้นบทบาทไทยในฐานะประเทศที่เป็นสะพานเชื่อมและเป็นมิตรกับทุกประเทศ ซึ่งพร้อมร่วมกำหนดวาระสำคัญของโลกและสนับสนุนความพยายามของสหประชาชาติในการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อรับมือกับความท้าทายของโลกในปัจจุบันและอนาคต เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติทางธรรมชาติ อาชญากรรมข้ามชาติทางไซเบอร์ ยาเสพติด และการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล
ไทยจะสนับสนุนการปฏิรูปคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติและปรับปรุงการทำงานของสหประชาชาติเพื่อให้สอดคล้องกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไป และตอบโจทย์ความท้าทายต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงส่งเสริมความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อเร่งขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs)
สำหรับถ้อยแถลงในการอภิปรายทั่วไปของ UNGA79 นายมาริษย้ำความมุ่งมั่นของไทยในการดำเนินนโยบายรัฐบาลแบบมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยยึดแนวนโยบายเศรษฐกิจเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน พร้อมกล่าวถึงความสำคัญของการปฏิรูปสหประชาชาติเพื่อรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ในโลกอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะการสร้างเสริมความเข้มแข็งของกระบวนการเพื่อสันติภาพและความมั่นคง ให้สามารถแก้ไขสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในภูมิภาคทั่วโลก
ทั้งยังยกตัวอย่างสถานการณ์ในเมียนมาที่ไทยให้ความสำคัญในฐานะประเทศเพื่อนบ้านที่ไกล้ชิด ถึงการส่งเสริมให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการสร้างสันติภาพในเมียนมาที่ควรเกิดขึ้นจากภายในเมียนมาเอง ขณะที่ไทยพร้อมสนับสนุนความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ นายมาริษยังได้กล่าวถึงความสำคัญของการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) โดยไทยพร้อมสร้างสะพานเชื่อมเพื่อส่งเสริมความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างโลกเหนือกับโลกใต้ ผ่านความหวังที่จะเข้าเป็นสมาชิก องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) และ กลุ่มประเทศบริกส์ (BRICS)
การเป็นสมาชิกมีความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในโลก อาทิ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทุกภาคส่วนและทุกประเทศทั่วโลก เพื่อลดผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนและความมั่นคงมนุษย์
นายมาริษ ยังย้ำความมุ่งมั่นของไทยที่จะปกป้องและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนสำหรับทุกคน ผ่านการผลักดันความยุติธรรมและความเท่าเทียมในสังคม โดยกล่าวถึงการสมัครเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (HRC) วาระปี ค.ศ. 2025-2027 ของไทย
OECD คืออะไร
องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา:Organisation for Economic Co-operation and Development หรือ OECD เป็นองค์การระหว่างประเทศที่มีบทบาทสำคัญในการให้ข้อมูลวิจัยและ คำปรึกษา แลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดี และจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อส่งเสริมความมั่นคง ความเท่าเทียม ความเป็นอยู่ที่ดี และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ตามวิสัยทัศน์ “Better Policies for Better Lives”
ปัจจุบัน ประเทศไทย อยู่ระหว่างการดำเนินโครงการ Country Programme (CP) ระยะที่ 2 เป็นความร่วมมือในระยะเวลา 3 ปี (พ.ศ. 2566- 2568) มีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันให้ไทยเข้าถึงองค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่ดีของ OECD ซึ่งจะช่วยพัฒนาและยกระดับแนวทางการพัฒนาและมาตรฐานภายในประเทศของไทยให้ทัดเทียมสากล
โครงการนี้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 – 2570) และรวมทั้งสอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs)
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2565 คณะรัฐมนตรีได้มีมติ รับทราบรายงานความก้าวหน้าการดำเนิน โครงการ Country Programme ระยะที่ 1 ที่สิ้นสุดลงในปี 2564 และได้มอบหมายให้สานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจัดทำโครงการภายใต้ Country Programme ระยะที่ 2
ต่อมา สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและกระทรวงการต่างประเทศได้หารือกับ OECD และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และนำไปสู่ข้อสรุปในการสร้างความร่วมมือใน 20 โครงการ ภายใต้ 4 สาขาความร่วมมือ
สำหรับ OECD เป็นองค์กรที่พัฒนามาจากองค์รความร่วมมือทางเศรษฐกิจแห่งภาคพื้นยุโรป (Organisation of European Economic Cooperation: OEEC) ซึ่งตั้งขึ้นตามแผนการ (Marshall Plan) ในปี 1948 เพื่อฟื้นฟู เศรษฐกิจของประเทศในภาคพื้นยุโรปภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งต่อมาในปี 1961 ได้จัดตั้งเป็น OECD และมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
OECD อยู่ระหว่างกระบวนการรับเป็นสมาชิก
เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 2567 คณะมนตรี OECD (OECD Council) ซึ่งประกอบด้วย 38 ประเทศสมาชิก มีมติเอกฉันท์เห็นชอบเปิดการหารือกระบวนการเข้าเป็นสมาชิก (accession discussion) กับประเทศไทย นับเป็นก้าวสำคัญที่ไทยจะมีบทบาทในเวทีโลกและยกระดับประเทศสู่มาตรฐานสากลในทุกมิติ
ประเทศไทยได้ยื่นต้นฉบับหนังสือแสดงเจตจำนงในการเข้าเป็นสมาชิก OECD ไปเมื่อเดือนเม.ย. 2567 และได้รับเชิญให้เข้าร่วมหารือวาระพิเศษกับคณะมนตรี OECD ซึ่งไทยได้นำเสนอจุดแข็งของประเทศและผลประโยชน์ที่ทั้งสองฝ่ายจะได้รับร่วมกันจากการเข้าเป็นสมาชิกของไทย นับเป็นการแสดงออกถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการสมัครเข้าเป็นสมาชิก ซึ่งต่อมาคณะมนตรี OECD ได้มีมติเอกฉันท์เปิดการหรือกระบวนการเข้าเป็นสมาชิกกับประเทศไทย จึงทำให้ไทยมีสถานะเป็นประเทศผู้สมัครที่อยู่ในกระบวนการเข้าเป็นสมาชิก OECD (OECD Accession Country)
สำหรับขั้นตอนถัดไป เลขาธิการ OECD จะจัดทำแผนการเข้าเป็นสมาชิก (Accession Roadmap) ให้กับประเทศไทย ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญที่จะระบุขั้นตอนการเข้าเป็นสมาชิกและรายละเอียดเงื่อนไขต่าง ๆ โดยตลอดกระบวนการเข้าเป็นสมาชิก ประเทศไทยจะต้องดำเนินการร่วมกับคณะกรรมการ OECD (OECD Committee) อย่างใกล้ชิด ในการปรับปรุงมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย (legislation) นโยบาย (policies) และแนวปฏิบัติ (practices) ให้สอดคล้องกับมาตรฐานของ OECD เพื่อบรรลุการเข้าเป็นสมาชิก (full member) ในอนาคต
แม้การดำเนินการร่วมกับ OECD จะมีหน่วยงานภาครัฐเป็นตัวหลักในการดำเนินการ แต่การปรับมาตรฐานภายในประเทศให้สอดคล้องกับมาตรฐาน OECD นั้น ครอบคลุมมาตรฐานในหลากหลายสาขาและเกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วนของประเทศไทย เช่น หลักธรรมาภิบาล ความโปร่งใส การดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ การแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม การศึกษา แรงงาน การพัฒนาเชิงพื้นที่ สิ่งแวดล้อม และดิจิทัล เป็นต้น
เงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้การเข้าเป็นสมาชิก OECD ของไทยสำเร็จได้ คือการแสดงออกถึงความมุ่งมั่น (willingness) และความสามารถ (ability) ของประเทศไทยในการปฏิบัติตามตราสารทางกฎหมายของ OECD (OECD legal instruments) รวมทั้งการที่ประเทศไทยมีนโยบายและแนวปฏิบัติสอดคล้องกับมาตรฐานของ OECD ในเรื่องนั้น ๆ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมและความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และภาคประชาสังคม ในการดำเนินการให้สอดคล้องกับมาตรฐาน OECD เพื่อให้ไทยผ่านการประเมินและสามารถเข้าเป็นสมาชิก OECD โดยสมบูรณ์
กระบวนการเข้าเป็นสมาชิก OECD มีขั้นตอนและแบบแผนที่ชัดเจน ซึ่งจะช่วยให้ไทยสามารถดำเนินการได้อย่างเป็นระบบ มีประสิทธิภาพ และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
การเข้าเป็นสมาชิก OECD มิใช่การทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) แต่เป็นการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานของไทยในทุกด้านให้ทัดเทียมสากล เนื่องจาก OECD คือองค์กรระหว่างประเทศที่มีบทบาทนำในการกำหนดมาตรฐานโลก
หากไทยได้เข้าร่วมกลุ่มนี้ ก็จะทำให้ไทยมีมาตรฐานระดับโลก ส่งเสริมการเจรจาการค้าอื่น ๆ ที่ไทยกำลังดำเนินการ เพิ่มโอกาสของไทยรอบด้าน และย่อมส่งผลบวกให้กับคุณภาพชีวิตประชาชนคนไทยเช่นกัน
ข้อมูลอ้างอิง:
กรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ ภายใต้การดำเนินงานของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ