สินค้าจีนทะลักไทย
สินค้าจีนหลากหลายประเภทหลั่งไหลเข้ามาในไทยมากขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่สินค้าผู้บริโภค สินค้าแฟชั่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ ไปจนถึงรถยนต์ไฟฟ้า เหล็ก และผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ซึ่งมีแนวโน้มรุนแรงและขยายวงกว้างขึ้น
ก่อนหน้านี้ จีนก้าวได้ขึ้นเป็นมหาอำนาจในภาคการผลิตโลกอย่างรวดเร็ว และไม่ใช่เพียงแต่เฉพาะในหมวดสินค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้นเท่านั้น แต่ยังขยายวงไปเป็นสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงขึ้นเรื่อย ๆ แม้เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาจะมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของโลก แต่ขนาดของภาคการผลิตเล็กกว่าจีนมากกว่าครึ่ง
จีนก้าวขึ้นมาเป็น ‘โรงงานโลก’ นับตั้งแต่ประเทศจีนเข้าร่วมองค์กรการค้าโลก (World Trade Organization : WTO) ในปี 2001 และหากวัดจากทั้งจำนวนการผลิตและมูลค่าเพิ่มการผลิต ในปัจจุบันภาคการผลิตจีนมีขนาดที่ใหญ่ที่สุดในโลกแล้ว
อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่วิกฤตโควิด มีการเปลี่ยนแปลงหลายด้านที่เร่งให้สินค้าจากจีนสามารถเข้ามาในไทยได้เร็วมากขึ้น โดยแบ่งออกเป็น 2 ปัจจัยผลักจากจีน (Push factors) 4 ปัจจัยดึงจากไทย (Pull factors) คือ
ปัจจัยผลักจากจีนอย่างแรก คือ พัฒนาการการเติบโตที่รวดเร็วของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ หรือ e-Commerce (ขายสินค้าบนอินเทอร์เน็ต) จีนนับเป็นหนึ่งในประเทศที่ อีคอมเมิร์ซ เติบโตเร็วมากที่สุดในโลก ธุรกรรมการซื้อขาย e-Commerce ในประเทศจีนมีขนาดใหญ่กว่า 50% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งโลก
นอกจากนี้ จีนยังมีการขยายธุรกิจส่งออกโดยอาศัย อีคอมเมิร์ซข้ามประเทศ (Cross-border e-Commerce) ซึ่งเติบโตขึ้นถึง 15% ในปี 2021 โดยไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่การเติบโตของ อีคอมเมิร์ซ มีสัดส่วนที่ค่อนข้างสูงที่มาจากการส่งสินค้าข้ามประเทศ ซึ่งมีขนาดประมาณ 24% ของมูลค่าอีคอมเมิร์ซทั้งหมด
ปัจจัยผลักที่สอง คือ เศรษฐกิจภายในประเทศของจีนที่ชะลอตัวลงจากปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ ทำให้จีนต้องหันมาพึ่งพาภาคการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก โดยหลังวิกฤติโควิดเป็นต้นมา เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงอย่างมากจากปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เริ่มมีทิศทางหดตัวลง ทำให้การบริโภคในประเทศและความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวแย่ลง และรัฐบาลจีนจำเป็นต้องผลักดันภาคการผลิตและการส่งออกให้กลายเป็นแรงขับเคลื่อนใหม่ของเศรษฐกิจ โดยใช้กลยุทธ์ในการส่งออกสินค้าคงคลังที่ผลิตเหลือ รวมถึงกำลังการผลิตที่มีเหลืออยู่ในจีนมาไปประเทศต่าง ๆ ในโลก
KKP Research ประเมินว่าปัจจัยในไทยก็มีส่วนดึงดูดสินค้าจากจีนให้เร่งเข้ามามากกว่าหลายประเทศ ได้แก่
- ประเทศไทยมีกฎระเบียบที่เอื้อต่อการนำเข้าสินค้าจากจีน เช่น การคิดอัตราภาษีจากสินค้าจีนในระดับต่ำ โดยเฉพาะในรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่จีนสามารถส่งออกมาไทยโดยไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า
- การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่จีนเป็นผู้นำ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ รถยนต์ไฟฟ้า
- การเกิดขึ้นของ อีคอมเมิร์ซ ในประเทศไทยส่งผลให้การส่งสินค้าจากจีนเข้ามาไทยในกลุ่มสินค้าเครื่องใช้ในครัวเรือนมากขึ้น ในขณะที่คนไทยมีความคุ้นเคยและนิยมซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้นเรื่อย ๆ โดยพิจารณาจากราคา ไม่ยึดติดกับแบรนด์มากนัก
- การให้ ฟรีวีซ่า (Free Visa) กับนักท่องเที่ยวจากจีน ทำให้ไม่มีการตรวจสอบการเข้าออกประเทศอย่างเข้มงวด เปิดช่องทางให้คนจีนเข้ามาอยู่อาศัยในไทย เพื่อทำการค้าทำธุรกิจในไทยได้โดยง่าย ผิดวัตถุประสงค์ของ Free visa ที่ควรให้กับนักท่องเที่ยวเท่านั้น
ปัจจัยทั้งหมดส่งผลให้ไทยเป็นหนึ่งในเป้าหมายการส่งออกสินค้าจากจีน และแม้ว่าหลายประเทศจะมีการขาดดุลการค้ากับจีนที่สูงกว่าไทย แต่ไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการเร่งตัวของการขาดดุลการค้ากับจีนเร็วมากที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ซึ่งเกิดจากทั้งการนำเข้ามาเพื่อบริโภคในประเทศเอง และการนำเข้าเพื่อส่งออกสินค้าต่อไปยังต่างประเทศ
ไทยขาดดุลการค้าจีนมาหลายปี
หากสำรวจการส่งออกสินค้าของจีนในภาพรวมในตลาดโลก จะพบว่าสัดส่วนการส่งออกสินค้าของจีนแบ่งตามกลุ่มสินค้ามีองค์ประกอบที่เปลี่ยนแปลงไปตลอด 20 ปีที่ผ่านมา โดยจีนมีการเกินดุลการค้ากับโลกเพิ่มขึ้นในกลุ่มสินค้าการผลิตอุตสาหกรรม โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องจักรในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ขาดดุลในอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์และพลาสติก และสินค้าเกษตรเป็นหลัก ซึ่งการส่งออกในหมวดที่ปรับตัวสูงขึ้น สอดคล้องกับข้อมูลสำรวจการส่งออกสินค้าที่ส่งออกมาผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ของสหประชาชาติ (United Nations) ที่พบว่าจีนมีการส่งออกสินค้าในหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ถึง 38% เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย 10% และอุปกรณ์กิจกรรมกลางแจ้ง 8% ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนว่าแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เป็นหนึ่งในช่องทางสำคัญที่ช่วยให้จีนสามารถส่งออกสินค้าต่าง ๆ ไปยังตลาดโลกได้มากและเร็วขึ้น
เมื่อพิจารณาการส่งออกเป็นรายประเทศจะพบว่าภูมิภาคอาเซียน เป็นหนึ่งในเป้าหมายในการส่งออกสินค้าของจีน โดยในช่วงปี 2017-2022 ไทยมีการขาดดุลการค้ากับจีนมากที่สุดเป็นอันดับที่สอง เมื่อวัดจากมูลค่าการขาดดุลซึ่งเป็นรองจากเวียดนามเท่านั้น ขณะที่หากเทียบกับขนาดเศรษฐกิจ หรือ GDP ของแต่ละประเทศแล้ว ไทยขาดดุลการค้ากับจีนเป็นอันดับสาม รองจากกัมพูชาและเวียดนาม การขาดดุลดังกล่าวอาจไม่ได้สะท้อนเฉพาะการส่งออกสินค้าจากจีน เพื่อขายในไทยแต่เป็นการอาศัยไทยเป็นทางผ่าน สำหรับส่งออกไปยังสหรัฐฯ ประเด็นที่น่าสนใจ คือ ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่การขาดดุลกับจีนเพิ่มขึ้นเร็วที่สุดนับตั้งแต่ช่วงการระบาดของโควิดเป็นต้นมา
พัฒนาการด้านดุลการค้าระหว่างไทยกับจีนเปลี่ยนแปลงสอดคล้องกับกลยุทธ์การเติบโตของเศรษฐกิจจีนที่หันมาเน้นภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น จากสถิติการนำเข้าส่งออกของไทย จะพบว่าดุลการค้าระหว่างไทยกับจีนตั้งแต่ปี 1999-2022 มีการเปลี่ยนแปลงที่สามารถแบ่งออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่
- ช่วงที่จีนเริ่มเข้าสู่ตลาดโลก ตั้งแต่ปี 1999-2010 พบว่าไทยจะขาดดุลการค้ากับจีนเล็กน้อยประมาณ 1% ของ GDP ต่อปี เท่านั้น โดยสินค้าที่ขาดดุลส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และสินค้าเหล็กกล้าเป็นสำคัญ ขณะที่สินค้ากลุ่มพลาสติกและเคมีภัณฑ์ยังเกินดุลการค้ากับจีน
- ช่วงที่จีนกลายเป็น “โรงงาน” ของโลก จนถึงก่อนเกิดสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2011-2018 พบว่าไทยเริ่มขาดดุลการค้ากับจีนมากขึ้นเป็น 3-4% ของ GDP ต่อปี โดยนอกจากสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นสินค้าหลักที่ไทยขาดดุลมากขึ้น ไทยเริ่มขาดดุลการค้ากับสินค้าเครื่องจักรมากขึ้นด้วยเช่นกัน
- ช่วงที่จีนเริ่มมีกลยุทธ์ที่เน้นการส่งออกและเข้ามาแข่งกับธุรกิจไทยโดยตรง ตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมา ซึ่งบังเอิญเป็นช่วงที่จีนเริ่มสงครามการค้ากับสหรัฐฯ และเกิดวิกฤติเศรษฐกิจโควิดตามมา จะพบว่าไทยเริ่มขาดดุลการค้ากับจีนเพิ่มขึ้นเป็น 6-7% โดยสินค้าที่ขาดดุลมากขึ้นต่อเนื่องคือสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักร และเหล็กกล้า ขณะที่พลาสติกและเคมีภัณฑ์พลิกกลับมาขาดดุลการค้าหลังจากเกินดุลการค้ากับจีนมาหลายทศวรรษ ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่จีนเริ่มมีกำลังการผลิตส่วนเกินมากขึ้น ส่วนสินค้าที่ไทยเกินดุลการค้ากับจีนในปัจจุบันกลับเหลือเพียงสินค้าเกษตร นำโดยทุเรียนเป็นสำคัญ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
การขาดดุลการค้าที่เพิ่มขึ้นของไทยสะท้อนทั้งการขาดดุลจากการนำเข้าหรือการมาตั้งฐานการผลิตจากจีนเพื่อส่งออกไปยังสหรัฐฯ และการนำเข้าสำหรับการบริโภคในประเทศหรือเป็นกรณีที่เกิดการแข่งขันโดยตรงต่อผู้ประกอบการไทย
5 กลุ่มสินค้าหลักของจีนเข้าไทย
หากพิจารณาพัฒนาการของการค้าระหว่างไทยกับจีน สามารถแบ่งได้เป็น 5 กลุ่มสินค้าสำคัญที่น่าสนใจ คือ
กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ จะเป็นกลุ่มที่ส่งผลให้มีการขาดดุลมากที่สุด โดยสินค้าที่สำคัญที่ไทยนำเข้าจากจีนค่อนข้างมาก คือ สินค้าในกลุ่มสมาร์ทโฟน (Smartphone) ที่ไทยขาดดุลการค้ากับจีนมากที่สุด โดยเป็นสินค้าที่สามารถซื้อขายได้ผ่านช่องทางออนไลน์ หรือ อีคอมเมิร์ซแพลตฟอร์ม (e-Commerce Platform)
กลุ่มเครื่องจักร คอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เคยเป็นหนึ่งในกลุ่มสินค้าที่ไทยเกินดุลการค้ากับจีน โดยในช่วงปลายทศวรรษที่ 2000 ไทยส่งออกฮาร์ดดิสก์(Hard Disk Drive) ออกไปยังจีนจำนวนมาก จนทำให้เกิดดุลการค้ากับจีนในสินค้ากลุ่มเครื่องจักรได้ในช่วงปี 2006-2009 แต่ในภายหลังสินค้าเครื่องจักรฯ จากจีนเริ่มเข้ามาในตลาดไทยมากขึ้น นำโดยคอมพิวเตอร์แล็ปท็อป (Laptop) และเครื่องใช้ไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น เครื่องล้างจาน เครื่องซักผ้า เป็นต้น โดนสินค้าอย่าง แล็ปท็อป เป็นสินค้าที่สามารถซื้อขายผ่านอีคอมเมิร์ซแพลตฟอร์ม ได้เช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ การขาดดุลการค้ากับจีนทั้งในหมวดอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องจักรฯ เริ่มกระจายตัวออกไปยังสินค้าประเภทย่อยอื่น ๆ มากขึ้น สะท้อนว่าไทยเริ่มมีปัญหาด้านการแข่งขันกับสินค้าจากจีนที่กระจายตัวมากขึ้น
กลุ่มยานยนต์ เป็นกลุ่มสินค้าที่ในภาพรวมอาจไม่ได้ขาดดุลการค้ากับจีนมากนักเมื่อเทียบกับสินค้าสองกลุ่มแรก แต่เป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทย ประเด็นที่น่าสนใจ คือ สินค้าในหมวดนี้ที่ขาดดุลกับจีนเป็นอันดับต้น ๆ ส่วนใหญ่เป็นชิ้นส่วนรถยนต์ ไม่ว่าจะเป็นส่วนประกอบประตู ชิ้นส่วนรถแทรกเตอร์ ล้อรถยนต์ ระบบเบรก ชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ ขณะที่สินค้าที่เกินดุลการค้ากับจีนเป็นสินค้ารถยนต์ที่ประกอบสำเร็จแล้ว หรือรถยนต์สำเร็จรูป ทั้งรถจักรยานยนต์ขนาดมากกว่า 800 ซีซี หรือรถยนต์ขนาดมากกว่า 1,500 ซีซี
ทั้งนี้ในปี 2022 เริ่มเห็นสัญญาณความเสี่ยงในอนาคต คือ ไทยเริ่มขาดดุลการค้ากับจีนในสินค้าประเภท EV โดยเพิ่มขึ้นจนแซงหน้าชิ้นส่วนยานยนต์ทุกประเภทขึ้นเป็นสินค้าที่ขาดดุลเป็นอันดับ 1 ในปี 2022 ขณะเดียวกันการเกินดุลการค้าในรถยนต์สำเร็จรูปเริ่มลดลงอย่างชัดเจน
กลุ่มเหล็กกล้าและอะลูมิเนียม พบว่าเหล็กและอะลูมิเนียมขาดดุลการค้ามากขึ้นทุกปีกับจีน โดยมีสาเหตุจากกำลังการผลิตที่เกินความอุปสงค์ภายในประเทศจีนที่ชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจ ทำให้ผู้ผลิตเหล็กในจีนจำเป็นต้องระบายสินค้าด้วยการส่งออกเหล็กสำเร็จรูปเหล่านั้นมาที่ประเทศอื่น ๆ รวมถึงประเทศไทย ด้วยราคาที่ถูกกว่าไทยมาก ทำให้ผู้ผลิตเหล็กในประเทศแข่งขันไม่ได้และจำเป็นต้องลดกำลัดการผลิตหรือปิดตัวไป ทั้งนี้ คาดว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะดำเนินต่อไปอีกสักระยะจนกว่าเศรษฐกิจจีนจะฟื้นตัวมากขึ้น
กลุ่มเคมีภัณฑ์และพลาสติก เปลี่ยนจากเกินดุลการค้าเป็นขาดดุลการค้าในช่วง 2-3 ปีหลังที่ผ่านมา โดยสาเหตุสำคัญมาจากการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและขยายกำลังการผลิตพลาสติกและผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีของจีนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จนสามารถผลิตได้เองและมีกำลังการผลิตปริมาณมาก เพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโต โดยข้อมูลจากองค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ระบุว่าในปัจจุบันจีนมีกำลังการผลิตรวมมากกว่ายุโรป ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้รวมกันเสียอีก จีนจึงไม่จำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าอีกต่อไป และเมื่อเศรษฐกิจภายในประเทศซบเซาลงในช่วงที่ผ่านมา ความต้องการใช้พลาสติกในประเทศลดลงมาก จีนจึงระบายอุปทานส่วนเกินผ่านการส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ รวมทั้งไทยด้วย
แพลตฟอร์มขายของจีนคลื่นยักษ์ลูกใหม่
การเติบโตของ อีคอมเมิร์ซ ในไทย จากข้อมูลในอดีตการส่งออกสินค้าจากจีนมายังไทยเพิ่มขึ้นทั้งในแง่ของจำนวนและการกระจายตัวไปสู่หลายหมวดสินค้า แม้ว่าการเข้ามาของสินค้าจีนจะเป็นผลมาจากหลายปัจจัย แต่ KKP Research ประเมินว่าหนึ่งในปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญและอาจเร่งการส่งสินค้าจีนมายังไทย คือ เทรนด์การซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ (e-Commerce platform) ที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในประเทศไทย
ข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม บ่งชี้ว่า มูลค่าของ อีคอมเมิร์ซ ในไทยเติบโตเฉลี่ยถึงปีละ 10.5% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่เร่งให้ผู้บริโภคหันมาใช้ช่องทางออนไลน์ในการสั่งซื้อสินค้าและบริการมากขึ้น ทำให้ในปี 2023 ธุรกิจ e-Commerce มีมูลค่าโดยรวมอยู่ที่ราว 5.96 ล้านล้านบาท ซึ่งสัดส่วนกว่า 50% ของมูลค่าธุรกิจ อีคอมเมิร์ซ เป็นธุรกิจประเภท Business-to-Consumer (B2C) คือการขายของออนไลน์จากธุรกิจไปยังผู้บริโภคโดยตรง รองลงมาคือธุรกิจประเภท Business-to-Business (B2B) ที่กินสัดส่วน 38.7%
ด้านช่องทางการซื้อขายออนไลน์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดอันดับแรก คือ e-Marketplace (แพลตฟอร์มออนไลน์) เช่น Shopee, Lazada, Kaidee เป็นต้น ซึ่งมีสัดส่วนมูลค่าพาณิชย์อยู่ที่ 24.6% รองลงมา คือ การซื้อขายผ่านทางเว็บไซต์และแอปพลิเคชันของแต่ละธุรกิจหรือแต่ละแบรนด์สินค้า ซึ่งอาจเรียกว่าช่องทาง Brand.com มีสัดส่วนอยู่ที่ 23.6% และตามมาด้วยช่องทาง Social Commerce (การค้าขายผ่านโซเชียล) เช่น การซื้อขายผ่าน Facebook, Tiktok, และ Instagram ที่มีสัดส่วนอยู่ที่ 22.3% แต่มีแนวโน้มการเติบโตที่ค่อนข้างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา โดยหมวดสินค้าที่มีการซื้อผ่านช่องทางออนไลน์มากที่สุด ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเลกทรอนิกส์ สินค้าแฟชั่น สินค้าเพื่อความงาม เครื่องใช้ในบ้านและของตกแต่งบ้าน เครื่องครัว
KKP Research ประเมินว่าสาเหตุที่ทำให้ อีคอมเมิร์ซ ในไทยเติบโตอย่างรวดเร็วและยังมีโอกาสเติบโตต่อไปได้สูงจากหลายปัจจัย ได้แก่
- การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่อยู่ในระดับสูง โดยสัดส่วนประชากรที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตสูงถึง 88% จัดอยู่ในอันดับต้น ๆ ของโลก เทียบกับค่าเฉลี่ยโลกที่ 66%
- สัดส่วนการเข้าถึงสมาร์ทโฟน สูงถึง 77.2% เทียบกับค่าเฉลี่ยโลกที่ 69% ทำให้การซื้อขายของออนไลน์ผ่านมือถือสามารถทำได้อย่างสะดวก และทำให้เครือข่ายสังคมออนไลน์ สามารถมีอิทธิพลต่อการซื้อขายผ่าน Social Commerce ได้มาก
- การเข้าถึงข่องทางการชำระเงินออนไลน์ (online payments) ที่หลากหลาย ช่วยสนับสนุนการค้าปลีกออนไลน์ให้มีความสะดวกในต้นทุนที่ต่ำ โดยไทยมีสัดส่วนการใช้บริการธนาคารผ่านโทรศัพท์มือถือ (mobile banking) และการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ (mobile payment) สูงถึง 68% และ 45% ของจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต ซึ่งสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก
นอกจากนี้โครงข่ายการขนส่งสินค้า (logistics) ที่พัฒนาขึ้นมากและด้วยต้นทุนที่ต่ำลง รวมถึงการแข่งขันอย่างเข้มข้นของธุรกิจ อีคอมเมิร์ซ ในหลากหลายช่องทาง ก็เป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญของการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของ อีคอมเมิร์ซ ในประเทศไทย
จีนทุบผู้ประกอบการไทย
การแข่งขันในสมรภูมิ อีคอมเมิร์ซ กำลังจะเข้มข้นขึ้นอีก เมื่อแอปพลิเคชั่นขายของออนไลน์จากจีนที่กำลังมาแรงอย่าง Temu ได้รุกก้าวเข้ามาบุกตลาดในไทยเมื่อไม่นานมานี้ หลังจากที่ได้ท้าทายยักษ์ใหญ่อย่าง Alibaba และ JD ในประเทศจีน และได้สร้างแรงกระเพื่อมไปยังเจ้าตลาดอย่าง Amazon ในสหรัฐอเมริกามาแล้ว โดยในปัจจุบัน Temu ได้เจาะตลาดไปแล้วถึง 51 ประเทศทั่วโลกภายในเวลาเพียงไม่กี่ปีหลังเปิดตัวเข้ามาเป็นผู้ท้าชิงหน้าใหม่ในสมรภูมิ อีคอมเมิร์ซ
นอกจากนี้ Shein และ TikTok ก็เป็นอีกสองแพลตฟอร์มจากจีนที่กำลังขยายตลาดธุรกิจค้าปลีก อีคอมเมิร์ซ เข้าไปยังหลายประเทศทั่วโลกด้วยกลยุทธ์และจุดยืนทางการตลาดที่แตกต่างกันไป ซึ่งนอกจากความสามารถในการผลิตสินค้าปริมาณมาก หลากหลาย และต้นทุนที่ต่ำ แอปพลิเคชั่นขายของหน้าใหม่ของจีนยังใช้กลยุทธ์ใหม่หลายกระบวนท่าในการดึงดูดผู้บริโภคซึ่งยากที่ผู้ประกอบการไทยจะแข่งกับจีนได้ ซึ่งจะส่งผล อีคอมเมิร์ซ จีนกินส่วนแบ่งตลาดผู้บริโภคในไทยได้มากขึ้นต่อเนื่อง
ในช่วงที่ผ่านมาผู้ผลิตสินค้าในไทยในภาคการผลิตอุตสาหกรรม ต้องเผชิญกับการแข่งขันอย่างรุนแรงจากผู้ผลิตจีน ทั้งในตลาดส่งออกและตลาดในประเทศ โดยไม่สามารถที่จะสู้ราคาที่ถูกมากของสินค้าจากจีนได้ จนจำเป็นต้องปิดโรงงานผลิตในประเทศไป และบางส่วนหันไปนำเข้าสินค้าจากจีนมาขายแทน โดยเฉพาะธุรกิจรายเล็กและกลาง (SMEs) ซึ่งสิ่งที่น่ากังวลคือ การเข้ามาบุกตลาดผู้บริโภคไทยโดยตรงของผู้ผลิตจีน ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ของจีนเอง จะทำให้ผู้ค้าคนกลางของไทยซึ่งส่วนใหญ่เป็น ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) จะถูกตัดออกไปจากรูปแบบธุรกิจแบบใหม่นี้ เพราะไม่สามารถซื้อของมาเพื่อขายในราคาถูกเท่ากับที่ขายตรงจากโรงงานจีนได้ แม้กระทั่งธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่ ก็อาจจะได้รับผลกระทบไม่น้อย จากการที่ผู้บริโภคจะหันไปซื้อของผ่านแพลตฟอร์มเหล่านี้ของจีนโดยตรงมากยิ่งขึ้น ด้วยกลยุทธ์ทางการตลาดที่น่าดึงดูดและจูงใจ
นอกจากผู้ผลิตและธุรกิจการค้าที่จะได้รับผลกระทบแล้ว หากมองในภาพใหญ่ของเศรษฐกิจไทย เงินที่ผู้บริโภคจ่ายค่าสินค้าให้กับแพลตฟอร์มต่างชาติเหล่านี้ ก็จะออกไปยังผู้รับค่าสินค้าในต่างประเทศโดยตรง รายได้ไม่ตกอยู่กับผู้ประกอบการและแรงงานไทย ไม่หมุนเวียนในเศรษฐกิจไทย รวมถึงภาครัฐอาจไม่สามารถเก็บภาษีจากการทำธุรกิจเหล่านี้ที่ไม่ได้ที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยได้ แล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับเศรษฐกิจไทย
อีคอมเมิร์ซจีนกระทบเศรษฐกิจไทย 5 ด้าน
ในอดีตงานวิจัยส่วนใหญ่มักกล่าวถึงผลที่เป็นบวกจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ต่อเศรษฐกิจ เนื่องจากเป็นการสนับสนุนให้เกิดการแข่งขันที่มากขึ้น และเปิดโอกาสให้ผู้เล่นรายใหม่ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็กที่มีเงินลงทุนต่ำไม่สามารถแข่งด้วยการมีหน้าร้านหรืองบโฆษณาแข่งกับรายใหญ่ ให้สามารถเข้าถึงตลาดได้อย่างเท่าเทียมกันมากขึ้น
นอกจากนี้ในงานศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการจ้างงาน จากการเกิดขึ้นของอีคอมเมิร์ซ จะพบว่ามีโอกาสสร้างผลกระทบให้กับธุรกิจเดิมในกลุ่มธุรกิจการค้าปลีก แต่ก็มีแนวโน้มที่จะเกิดอาชีพใหม่ ๆ ขึ้นมา เช่น ธุรกิจขนส่งและโกดัง ซึ่งเป็นหนึ่งในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของอีคอมเมิร์ซมาทดแทน
ในกรณีของไทยการเข้ามาของ อีคอมเมิร์ซ มีแนวโน้มส่งผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจไทยในระยะยาว โดยผลจะแตกต่างกันในแต่ละกลุ่มผู้เล่นในระบบเศรษฐกิจ แบ่งเป็น 3 กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบ คือ
- ผู้บริโภคมีแนวโน้มได้ประโยชน์ เพราะสามารถซื้อสินค้าได้ในราคาถูกลง จากการเข้ามาแข่งขันโดยตรงจากสินค้าต่างประเทศโดยไม่ต้องผ่านตัวกลาง อีกทั้งการแข่งขันของผู้ค้าที่เพิ่มขึ้นยังทำให้ผลประโยชน์ตกอยู่กับผู้บริโภค
- ผู้ผลิตในกลุ่มธุรกิจที่ได้ประโยชน์จากการใช้วัตถุดิบราคาถูก หรือธุรกิจที่โตไปพร้อมกับ อีคอมเมิร์ซเช่น การขนส่งและโกดัง ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาอาจได้ประโยชน์จากการนำเข้าสินค้าต้นทุนต่ำจากจีนมาขายในไทยและมีการเติบโต อย่างไรก็ตามในอนาคตมีความเสี่ยงสูงขึ้นจากผู้ผลิตจีนจะส่งสินค้ามาขายถึงไทยโดยตรงโดยไม่ผ่านตัวกลางและอาจทำให้ผู้ประกอบการในกลุ่มนี้ได้ประโยชน์ลดลง
- ผู้ผลิตในกลุ่มสินค้าเดียวกับสินค้าที่นำเข้าผ่าน อีคอมเมิร์ซ มีแนวโน้มได้รับผลกระทบทางลบจากการเข้ามาทดแทนของสินค้าจีน และตัดวงจรทั้งผู้ผลิตและพ่อค้าแม่ค้าคนกลาง ตัวอย่างเช่น สินค้าในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า
แนวโน้มส่งออกผ่านแพลตฟอร์ม อีคอมเมิร์ซ มายังประเทศไทย จากทั้งข้อมูลในงานวิจัยและหลักฐานจากข้อมูลดุลการค้าระหว่างไทยกับจีนในกลุ่มสินค้าหลัก จะเห็นทิศทางการขาดดุลการค้าที่มากขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในสินค้ากลุ่มคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มมากถึง 8.8% ของภาคการผลิตไทย เครื่องใช้ไฟฟ้ามีมูลค่าเพิ่ม 3.5 % และอุตสาหกรรมสิ่งทอและเสื้อผ้ามีมูลค่าประมาณ 3 %
หากนับรวมสินค้าที่มีความเกี่ยวข้องกับสินค้าที่มีแนวโน้มส่งผ่าน อีคอมเมิร์ซ จากจีน จะคิดเป็นมูลค่าเพิ่มในภาคการผลิตประมาณ 18% ของมูลค่าการผลิตทั้งหมดของประเทศ โดยในช่วงที่ผ่านมาการผลิตสินค้าของไทยในกลุ่มนี้มีทิศทางที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องนับจากช่วงต้นปี 2021 โดยเฉพาะสินค้าในหมวดคอมพิวเตอร์ เฟอร์นิเจอร์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ซึ่งส่วนหนึ่งสะท้อนผลกระทบจากการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศทดแทนการผลิตไทยมากขึ้น
นอกจากนี้การเข้ามาของอีคอมเมิร์ซยังมีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อภาคบริการแบบเก่า คือ ภาคการค้าส่งและค้าปลีก ถือเป็นอีกหนึ่งธุรกิจขนาดใหญ่ของภาคบริการไทยและเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงจาก Traditional Trade (ซื้อขายแบบดั้งเดิม) เป็น Modern Trade (ซื้อขายแบบสมัยใหม่) ไปแล้วก่อนหน้านี้ ส่งผลให้หนี้เสียเพิ่มขึ้นมากที่สุดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และอยู่ในระดับสูงมาก ซึ่งการเข้ามาของ อีคอมเมิร์ซ จะยิ่งทำให้แนวโน้มนี้แย่ลง โดยภาคบริการการค้าปลีกและค้าส่งของไทยคิดเป็นสัดส่วนใหญ่ถึงประมาณ 16% ของ GDP
ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทยอาจมีขนาดใหญ่และกว้างกว่าเฉพาะกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวข้องกับอีคอมเมิร์ซโดยตรง หากพิจารณาถึงความเสี่ยงในภาคการผลิตของไทย KKP Research คาดว่า ยังมีสินค้าอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่ไม่ได้ส่งผ่านแพลตฟอร์ม อีคอมเมิร์ซ แต่ได้รับผลกระทบจากการส่งออกจากจีนมายังไทย ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลงและทำให้มีสินค้าคงคลังเพิ่มสูงขึ้นมากในบางกลุ่ม โดยภาคการผลิตไทยหลายกลุ่มเห็นผลกระทบชัดขึ้นแล้วจากการผลิตที่หดตัวลงโดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มยานยนต์ ที่ได้รับผลกระทบจากการเข้ามาของ EV จีนและสินค้าในกลุ่มเหล็กที่มีการส่งออกจากจีนมายังไทยเพิ่มขึ้นมาก
KKP Research ประเมินว่า จากผลกระทบของสินค้าจีนต่อภาคอุตสาหกรรมไทยจะทำให้เกิดผลกระทบสำคัญต่อภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในอีกอย่างน้อย 5 ด้าน คือ
ด้านที่ 1 รายได้ธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs และแรงงานไทยได้จะตกต่ำ เศรษฐกิจไทยในภาพรวมกำลังขาดแรงส่งที่สำคัญจากภาคอุตสาหกรรมซึ่งเป็นขนาดกว่า 35% ของเศรษฐกิจ โดยภาคอุตสาหกรรมไทยชะลอตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2022 ในขณะที่ต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่าของจีนและความสามารถในการปรับธุรกิจหรือขยายช่องทางการขายไปยังตลาดอื่น ๆ ที่น้อยกว่าของธุรกิจขนาดเล็ก มีแนวโน้มทำให้ได้รับผลกระทบจากสินค้าจีนรุนแรงกว่ากลุ่มอื่น ๆ ประกอบกับธุรกิจขนาดเล็กมีสถานะที่ค่อนข้างอ่อนแอกว่าธุรกิจรายใหญ่มาอยู่ก่อนแล้ว โดยการเติบโตของรายได้ของภาคอุตสาหกรรมไทยที่วัดจากมูลค่า GDP ลดลงจากค่าเฉลี่ย 3.5% ในช่วงปี 2015-2019 เหลือเพียง 1.0% ในช่วงปี 2022 ถึงปัจจุบัน
ด้านที่ 2 หนี้เสียในภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยในปัจจุบันเริ่มเห็นสัญญาณการเพิ่มขึ้นของหนี้เสียของธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมและบางกลุ่มสินค้าที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งมีแนวโน้มเป็นกลุ่มสินค้าเดียวกันกับสินค้าที่ไทยขาดดุลกับจีนมากขึ้น เช่น สิ่งทอและเสื้อผ้า เหล็ก รวมไปถึงธุรกิจค้าปลีกแบบดั้งเดิม รวมถึงแรงงานที่มีโอกาสถูกเลิกจ้างหรือรายได้ไม่เติบโต สอดคล้องกับตัวเลขการปืดโรงงานที่เร่งตัวขึ้นโดยในช่วงมกราคมถึงสิงหาคมของปีนี้มีการปิดโรงงานไปแล้ว 852 แห่งใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันในปีก่อน และเร่งตัวขึ้นจากการปิดที่ระดับ 469 โรงงาน และ 707 โรงงานในปี 2021 และ 2022
ด้านที่ 3 ดุลการค้ามีแนวโน้มพลิกเป็นขาดดุลในระยะยาว และอาจทำให้ค่าเงินบาทปรับตัวเข้าสู่ดุลยภาพใหม่ ในอดีตไทยมีการเกินดุลการค้ามาอย่างต่อเนื่องซึ่งเกิดจากมูลค่าการส่งออกที่สูงกว่าการนำเข้า โดยดุลการค้าไทยที่เคยเกินดุลได้ 5% – 8% ของ GDP ในช่วงปี 2015 – 2019 ในขณะที่คาดว่าดุลการค้าในช่วงหลังจากนี้จะลดลงโดยมีขนาดการเกินดุล 1% – 2% จากทั้งราคาน้ำมันที่สูงขึ้นและปัญหาความสามารถในการแข่งขันของไทย
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการส่งออกสินค้าของไทยอาจกำลังถูกทดแทนด้วยสินค้าจีนมากขึ้น และในบางกลุ่มสินค้าไทยอาจเป็นผู้นำเข้าแทนผู้ส่งออกในระยะยาว เช่น รถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าซึ่งจีนสามารถผลิตได้ในราคาถูกกว่า จะทำให้ผลกระทบต่อดุลการค้ารุนแรงขึ้น ในกรณีนี้อาจทำให้ดุลการค้าพลิกเป็นขาดดุลและเงินบาทเปลี่ยนทิศเป็นอ่อนค่าในระยะยาว
ด้านที่ 4 เงินเฟ้อไทยมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง แม้ว่าช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ยุคของเงินเฟ้อสูงโดยแรงกดดันเงินเฟ้อสูงขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงหลังโควิด -19 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตามเงินเฟ้อไทยกลับปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็วและไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นนานเหมือนในต่างประเทศแม้ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ได้ปรับดอกเบี้ยขึ้นแรง โดยเงินเฟ้อไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ลดลงเร็วมากที่สุดในโลกโดยลดลงจากจุดสูงสุดในช่วงเดือนสิงหาคม 2022 ที่เงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้นไปแตะ 7.9% เงินเฟ้อฟื้นฐานสูงขึ้นเป็น 3.2% ในขณะที่ช่วงกลางปี 2022 เงินเฟ้อทั่วไปลดลงเหลือเพียง 0.2% และเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงเหลือต่ำกว่า 2% การลดลงของเงินเฟ้อเกิดจากทั้งอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแอและส่วนหนึ่งเกิดจากการนำเข้าสินค้าราคาถูกจากจีนซึ่งจะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อในไทยอยู่ในระดับต่ำในระยะยาว
ด้านที่ 5 รัฐบาลไทยสูญเสียรายได้ภาษี และรายได้ไม่หมุนเวียนในประเทศ เนื่องจากการชำระเงินให้กับการซื้อสินค้าออนไลน์บนแพลตฟอร์มข้ามชาติเหล่านี้ ถูกจ่ายตรงไปยังธุรกิจในต่างประเทศ ทำให้รายได้ไม่หมุนเวียนอยู่ในประเทศ อีกทั้ง ธุรกิจแพลตฟอร์มข้ามชาติไม่ได้จดทะเบียนในประเทศไทย ทำให้รัฐบาลไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้จากเม็ดเงินรายได้ของธุรกิจจากการขายสินค้าในประเทศไทยชะลอตัว ภาครัฐและผู้ประกอบการไทยยังไม่สามารถปรับตัวแข่งขันกับสินค้าจีนได้ แนวโน้มนี้จะยังคงสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยต่อไปในระยะข้างหน้า
ไทยควรรับมืออย่างไร ?
การเข้ามาบุกตลาดของสินค้าจีนอาจมีข้อดีทำให้ผู้บริโภคไทยซื้อสินค้าได้ในราคาถูกลง แต่ย่อมตามมาด้วยผลกระทบด้านลบต่อผู้ผลิตและผู้ประกอบการไทยและความสามารถในการแข่งขันและการเติบโตของเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การรับมือกับปัญหาที่ใหญ่ หลายมิติ และส่งผลกระทบเป็นวงกว้างเช่นนี้ จำเป็นที่ภาครัฐไทยต้องเข้ามาวางแนวทางเชิงรุกในการช่วยลดผลกระทบแก่ผู้ประกอบการและปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ โดยเฉพาะ หากพบว่ามีการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้ประกอบการไทย
ทั้งนี้ การออกมาตรการสกัดกั้นหรือตอบโต้สินค้าจากจีนอาจเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนในทางการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และการที่ประเทศไทยยังคงพึ่งพาเศรษฐกิจจีนค่อนข้างสูง ทั้งในด้านเม็ดเงินลงทุน ภาคการท่องเที่ยว และการส่งออกสินค้า โดยเฉพาะสินค้าทางการเกษตรของไทย ทำให้การพิจารณาแนวทางการแก้ปัญหานี้จำเป็นต้องคำนึงถึงจุดสมดุล และผลได้ผลเสีย รวมทั้งหาวิธีป้องกันหรือลดทอนผลกระทบข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นตามมา
KKP Research ประเมินว่าภาครัฐไทยอาจไม่จำเป็นต้องกีดกันสินค้าจากจีนในวงกว้าง แต่การออกแบบมาตรการรับมือต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับสถานการณ์และหลักการความถูกต้อง ควรพิจารณาคุณลักษณะของกลุ่มสินค้าหรือกลุ่มผู้ขายจากต่างประเทศ ในมิติดังต่อไปนี้
- Fair competition: สินค้านำเข้าเป็นการนำเข้าที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย มีการลักลอบ หรือใช้ช่องว่างทางกฎหมายต่าง ๆ เพื่อหลบเลี่ยงภาษี หรือการตั้งราคาต่ำกว่าต้นทุนที่เข้าข่ายเป็นการทุ่มตลาด ทำให้ผู้ประกอบการไทยเสียผลประโยชน์จากการแข่งขันที่ไม่เท่าเทียม หรือกฏระเบียบ ข้อตกลงต่าง ๆ ที่มีอยู่ (เช่น การยกเว้นภาษีให้สินค้านำเข้าบางกลุ่ม การยกเว้นภาษีนำเข้าให้กับธุรกรรมขนาดเล็ก การยกเว้นภาษีนำเข้าตามข้อตกลง FTA) สร้างความไม่เป็นธรรมให้กับผู้ประกอบการไทยหรือไม่?
- Quality and standards: สินค้านำเข้าเป็นการนำเข้าสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพมาตรฐานตามที่กำหนดโดยมาตรฐานสินค้าและอาหารของหน่วยงานภาครัฐไทยหรือไม่?
- Strategic industry: สินค้านำเข้าเป็นการนำเข้าที่มาแข่งขันกับการผลิตในประเทศในอุตสาหกรรมสำคัญที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์สำหรับเศรษฐกิจไทย และการจ้างงานในภาพรวมหรือไม่?
ในกรณีที่สินค้ามีลักษณะที่ตรงตามเกณฑ์ต่าง ๆ ที่เป็นหลักการกว้าง ๆ ในการพิจารณากลุ่มสินค้า ภาครัฐควรให้ความช่วยเหลือธุรกิจไทยในกรณีที่มีการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม หรือเป็นการช่วยให้อุตสาหกรรมที่มีความสำคัญกับเศรษฐกิจมีเวลาปรับตัวมากขึ้นกับสถานการณ์การแข่งขันในตลาดโลกที่เปลี่ยนไปเพื่อรักษาผลประโยชน์สูงสุดต่อเศรษฐกิจในระยะยาว
มาตรการในต่างประเทศสกัดสินค้าจีน
ไม่เพียงแต่ประเทศไทยที่ประสบกับปัญหาการทะลักเข้ามาของสินค้าจีนจนสร้างผลกระทบในวงกว้างต่อผู้ประกอบการในประเทศ แต่ประเทศอื่น ๆ ทั้งพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนาต่างประสบกับปัญหานี้เช่นกัน และมีวิธีการรับมือและตอบโต้ในรูปแบบแตกต่างกันไป ในบางประเทศมีการตั้งกำแพงภาษีกับสินค้าบางชนิด เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และแคนาดามีตั้งกำแพงภาษีกับรถยนต์ไฟฟ้านำเข้าจากจีน เนื่องจากกระทบต่ออุตสาหกรรมที่สำคัญในประเทศ อีกตัวอย่างที่น่าสนใจ คือ ประเทศอินโดนีเซียได้มีมาตรการออกมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อปกป้องผู้ประกอบการและอุตสาหกรรมในประเทศ ดังนี้
– การเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping Duties: ADD) อินโดนีเซียได้กำหนดภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดกับสินค้านำเข้าจากจีนหลายรายการ เช่น เซรามิก สิ่งทอ และเหล็ก เนื่องจากการนำเข้าสินค้าเหล่านี้ในราคาที่ต่ำกว่าทุน ส่งผลเสียต่ออุตสาหกรรมท้องถิ่น
– กฎระเบียบการนำเข้าที่เข้มงวดขึ้น อินโดนีเซียได้เพิ่มภาษีนำเข้ากับสินค้าหลายรายการที่มาจากจีน ซึ่งรวมถึงสินค้าในกลุ่มสิ่งทอ เซรามิก และรองเท้า โดยภาษีนำเข้าถูกเพิ่มขึ้นอย่างมากถึง 200% เพื่อป้องกันไม่ให้สินค้าราคาถูกจากจีนเข้าสู่ตลาดในประเทศอย่างไม่จำกัด
– การปราบปรามการนำเข้าอย่างผิดกฎหมาย อินโดนีเซียได้จัดตั้งหน่วยงานเฉพาะเพื่อจัดการกับการนำเข้าสินค้าอย่างผิดกฎหมาย โดยเฉพาะการลักลอบนำเข้าสินค้าผ่านท่าเรือที่ไม่ได้รับการควบคุม การปราบปรามการนำเข้าอย่างผิดกฎหมายนี้ช่วยป้องกันไม่ให้สินค้าหลบเลี่ยงภาษีเข้าสู่ตลาด
– การกำหนดโควต้านำเข้า เป็นมาตรการป้องกันชั่วคราวด้วยการกำหนดโควต้าการนำเข้าสินค้าจากจีนที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มาตรการนี้ถูกนำมาใช้กับสินค้าหลายประเภท รวมถึงอุตสาหกรรมสิ่งทอและอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ผู้ผลิตในประเทศมีเวลาปรับตัวต่อการแข่งขันในเวทีระหว่างประเทศ
– กฎระเบียบเกี่ยวกับ อีคอมเมิร์ซ รัฐบาลอินโดนีเซียได้ออกกฎระเบียบใหม่เพื่อควบคุมแพลตฟอร์ม e-Commerce ต่างชาติ โดยเฉพาะแพลตฟอร์ม social media จากจีน เช่น TikTok ที่มีธุรกรรมการค้าออนไลน์ โดยรัฐบาลได้สั่งห้ามการทำธุรกรรมซื้อขายผ่านแพลตฟอร์ม social media โดยให้อนุญาตเฉพาะการโฆษณาและการโปรโมทเท่านั้น หากต้องการทำธุรกรรมซื้อขาย แพลตฟอร์มดังกล่าวต้องเข้ามาจดทะเบียนในประเทศและได้รับใบอนุญาตพิเศษสำหรับ e-Commerce นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้กำหนดราคาขั้นต่ำที่ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับสินค้านำเข้าจากต่างประเทศที่ขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อป้องกันไม่ให้สินค้าราคาถูกเข้ามาท่วมตลาด
ทั้งนี้ การตอบโต้ที่ได้ผลต้องพิจารณาจากโครงสร้างเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ลักษณะและระดับของปัญหา และความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจในด้านอื่น ๆ ประกอบกันด้วย ขณะเดียวกันการเลือกใช้มาตรการที่เหมาะสมควรคำนึงถึงการช่วยลดผลกระทบด้านลบในระยะสั้นได้อย่างทันท่วงที ขณะที่สร้างเสริมความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการ โดยไม่เป็นการปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศจนเกินควรจนเป็นการหล่อเลี้ยงปัญหาศักยภาพการผลิต ทำให้ธุรกิจไม่เร่งปรับตัว
ดิ้นรนยกระดับอุตสาหกรรมไทยเพื่ออยู่รอด
ต้องยอมรับว่าประเทศไทยเผชิญกับปัญหาความสามารถในการแข่งขันในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่ปัญหาดังกล่าวถูกเร่งให้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและผู้ประกอบการไทยรุนแรงและขยายวงกว้างมากขึ้น จากการไหลทะลักเข้ามาของสินค้าราคาถูกจากจีน อย่างที่ผู้ประกอบการไทยอาจไม่ทันได้ตั้งตัว ไม่ว่าจะเป็นมาตรการใดที่จะใช้ในการตั้งรับกับการแข่งขันในสมรภูมิสินค้าที่ดุเดือดและไร้พรมแดนมากขึ้นเรื่อย ๆ นี้ ก็อาจเป็นเพียงการซื้อเวลาให้ผู้ประกอบการได้พอมีเวลาปรับตัว
แต่ท้ายที่สุดแล้วผู้ชนะในตลาดผู้ซื้อ ก็จำเป็นต้องแข่งกันด้วยคุณภาพของสินค้า ประสิทธิภาพในการผลิต ความคุ้มค่า รวมไปถึงการบริการที่ตอบโจทย์และได้ความพึงพอใจจากผู้บริโภค หากมองวิกฤตการทะลักเข้ามาของสินค้าราคาถูกจากจีนให้เป็นโอกาส ก็นับว่านี่เป็นโอกาสที่ดีที่ภาคการผลิตไทย ซึ่งอาจไม่มีทางเลือกมากนักและจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจ พัฒนาประสิทธิภาพการผลิต สร้างนวัตกรรม สร้างแบรนด์ที่มีความแตกต่าง จำเป็นต้องไต่ระดับขึ้นไปแข่งขันในอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นเพื่อการอยู่รอด
โดยภาครัฐอาจต้องช่วยส่งเสริมด้วยการสนับสนุนการลงทุนในเทคโนโลยีและนวัตกรรม การปรับปรุงการผลิต การบุกเบิกตลาดใหม่ ซึ่งหากสามารถขับเคลื่อนธุรกิจไทยไปในทิศทางดังกล่าวได้สำเร็จ ก็จะช่วยยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจและผู้ประกอบการไทยได้อย่างยั่งยืน
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
- จับตาบทบาทการค้าจีน-อาเซียน สัญญาณเตือนไทยต้องเร่งปรับตัว
- โฉมใหม่ตลาดรถยนต์ กำลังซื้อหดหาย อีวีจีนทุบราคา
- จีนทุบราคา-แพลตฟอร์มออนไลน์ฮิต ธุรกิจไทยอาการหนัก
ที่มา : KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงิน เกียรตินาคินภัทร