กฎหมายสมรสเท่าเทียมที่ได้อนุญาตให้คู่รักเพศหลากหลายสามารถสมรสกันได้และสามารถก่อตั้งครอบครัวได้อย่างถูกต้อง นำมาซึ่งผลกระทบในเชิงบวกต่อทั้งตัวคู่รักเอง และต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
แต่ยังมีประเด็นที่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต้องเตรียมความพร้อมร่วมกัน เพื่อให้กฎหมายสมรสเท่าเทียมถูกบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นไปตามเจตนารมณ์ที่ตั้งไว้ และเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
ประเด็นด้านความหลากหลายทางเพศในสังคมไทยมีการพัฒนาความก้าวหน้าอย่างชัดเจน ภายหลังจากที่วุฒิสภาได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่..) พ.ศ. …. หรือร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2567 ทำให้ไทยกลายเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และกลุ่มอาเซียน ที่เปิดกว้างให้คู่รักเพศหลากหลาย (LGBTQ+) สามารถสมรสกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย อันเป็นการลดช่องว่างของความไม่เสมอภาคและการเลือกปฏิบัติทางเพศ และสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน
สิทธิคู่รักเพศหลากหลายตามกฎหมาย
หากกฎหมายประกาศและมีผลบังคับใช้ จะทำให้คู่รักเพศหลากหลายได้รับสิทธิตามกฎหมายซึ่งสามารถแบ่งเป็นประเด็นต่าง ๆ ได้ ดังนี้
1. สิทธิในการตั้งครอบครัว
ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่ได้รับการแก้ไขจะส่งผลให้คู่รักไม่ว่าจะเป็นเพศใดสามารถสมรสกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจากมีการใช้คำที่ไม่ระบุเพศ ทั้งการหมั้นที่ใช้คำว่า“ผู้หมั้น” และ “ผู้รับหมั้น” ซึ่งไม่จำกัดว่าผู้หมั้นจะต้องเป็นเพศชาย และผู้รับหมั้นจะต้องเป็นเพศหญิง
นอกจากนี้สถานะของคู่รักหลังการแต่งงาน ได้เปลี่ยนไปใช้คำว่า “คู่สมรส” แทนค าที่บ่งบอกถึงเพศอย่าง สามีภรรยา ซึ่งการที่คู่รัก LGBTQ+ มีสถานะทางครอบครัวตามกฎหมาย จะส่งผลให้มีสิทธิในการดำเนินการเกี่ยวกับสถานะครอบครัวด้วยเช่น การฟ้องหย่า ซึ่งอาจเกิดจากการประพฤติที่ไม่เหมาะสม การทิ้งร้างไม่อุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายตามสมควรมีโรคติดต่อร้ายแรง หรือการถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ เป็นต้น ตลอดจนการฟ้องเรียกค่าทดแทนผู้ล่วงเกินคู่สมรสในทำนองชู้
2. สิทธิในการรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน
คู่รักที่มีเพศสภาพเดียวกันมีข้อจำกัดในการมีลูกเป็นของตนเองซึ่งกฎหมายสมรสเท่าเทียมฉบับนี้ ได้เปิดโอกาสในคู่สมรสเพศเดียวกันสามารถรับผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรมร่วมกันได้โดยบุตรบุญธรรมจะมีฐานะเท่าเทียมกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของคู่สมรสนั้น ขณะที่คู่สมรสผู้รับบุตรบุญธรรมจะกลายบุพการีที่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งจะมีหน้าที่ในการอุปการะเลี้ยงดูบุตรบุญธรรมทั้งด้านความเป็นอยู่ การศึกษาการอบรมสั่งสอนหรือทำโทษตามสมควร รวมถึงการจัดการทรัพย์สินของบุตร
3. สิทธิทางทรัพย์สินและมรดก
ทรัพย์สินประเภทหนึ่งที่เกิดขึ้นภายหลังจากการสมรส คือ สินสมรสซึ่งคู่สมรสจะต้องจัดการร่วมกัน หรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหากจะทำการใด ๆ อาทิ การขายการแลกเปลี่ยน การให้กู้ยืมเงิน การนำทรัพย์สินไปเป็นหลักประกัน ทั้งนี้ ยังรวมไปถึง หนี้สมรส ซึ่งคู่สมรสถือเป็นลูกหนี้ร่วมกัน อาทิ หนี้ที่เกี่ยวกับการจัดการภายในบ้าน การศึกษาของบุตร การรักษาพยาบาลของคนในครอบครัว
นอกจากนี้ เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียชีวิต คู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมายจะได้รับสินสมรสในสัดส่วนครึ่งหนึ่ง และย่อมมีสิทธิที่จะได้รับมรดกเสมอ โดยสัดส่วนที่จะได้รับนั้นขึ้นอยู่กับว่าได้รับร่วมกับทายาทอื่น ๆ หรือไม่ และทายาทประเภทต่าง ๆ มากน้อยแค่ไหน ดังนั้น เมื่อคู่รัก LGBTQ+ มีการจดทะเบียนสมรสกันก็จะได้รับสิทธิดังกล่าวด้วย
4. สิทธิในการดูแลระหว่างคู่ชีวิต
การดูแลเพื่อรักษาและพัฒนาคุณภาพชีวิตเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของความพยายามในการผลักดันการสมรสเท่าเทียมของคู่รักหลากหลายเพศที่ผ่านมา เนื่องจากในอดีตถูกจำกัดสิทธิสำคัญหลายประการ โดยเฉพาะสิทธิในการลงนามยินยอมให้รักษาพยาบาลแทนอีกฝ่าย ที่ส่งผลให้การรักษาเกิดความล่าช้าและไม่ทันกาลในบางครั้ง โดยหากกฎหมายสมรสเท่าเทียมฉบับนี้มีผลบังคับใช้ จะทำให้คู่สมรส LGBTQ+ มีสิทธิในการตัดสินใจหรือให้ความยินยอมเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลแทนได้ในทันที หากอีกฝ่ายตกอยู่ในลักษณะที่ไม่สามารถตัดสินใจได้
ในทำนองเดียวกัน คู่สมรส LGBTQ+ ยังจะมีอำนาจในการจัดการแทนอีกฝ่ายที่เป็นผู้เสียหายในคดีอาญา เช่นเดียวกับคู่สามีภรรยาแบบดั้งเดิม ซึ่งจะเป็นประโยชน์เมื่อผู้เสียหายถูกทำร้ายจนเสียชีวิตหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจัดการเองได้ รวมถึงยังมีสิทธิในการเรียกร้องและได้รับค่าตอบแทน ค่าทดแทน ค่าใช้จ่ายแทนคู่สมรสได้หากอีกฝ่ายถึงแก่ความตายการปรับเปลี่ยนสถานะดังกล่าว ไม่เพียงส่งผลต่อสิทธิในด้านต่าง ๆ ข้างต้นเท่านั้น แต่ยังเชื่อมโยงถึงสิทธิตามกฎหมายอื่น
หลักประกันที่จะได้จากการเป็นคู่สมรสที่ถูกต้องตามกฎหมายของกลุ่มคู่รัก LGBTQ+ ที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนจะมาจากสวัสดิการข้าราชการเป็นหลัก โดยมีสิทธิในการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล พ.ศ. 2553 หากไม่มีสวัสดิการอื่นเป็นของตนเองหรือมีค่าใช้จ่ายที่เกินกว่าสิทธิของตนเอง รวมถึงมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตกทอดในกรณีที่คู่สมรสที่เป็นข้าราชการเสียชีวิต
ขณะที่ สวัสดิการลูกจ้างภาคเอกชน คู่สมรสเพศหลากหลายอาจยังไม่ได้รับสิทธิประโยชน์จากส่วนนี้มากนัก เนื่องจากสิทธิประโยชน์ของคู่สมรสของผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และมาตรา 39 ของสำนักงานประกันสังคมนั้นมีเพียงด้านการคลอดบุตรซึ่งจะเป็นข้อจำกัดของคู่สมรสที่มีเพศสภาพเหมือนกันที่ไม่สามารถมีลูกเป็นของตนเองได้
อย่างไรก็ตาม คู่สมรสซึ่งมีฐานะเป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิที่จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพในกรณีที่อีกฝ่ายเสียชีวิต รวมถึงเงินสงเคราะห์จากกองทุนประกันสังคม โดยจะได้เฉลี่ยกับทายาทประเภทอื่น ๆ และเงินค่าทำศพหากเป็นผู้ดำเนินการจัดการศพ
นอกจากนี้ เมื่อกลายเป็นคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย จะส่งผลให้สามารถเป็นผู้รับประโยชน์จากการท าประกันชีวิตได้โดยในปัจจุบันบริษัทประกันบางแห่งยังไม่อนุญาตให้ระบุคู่ชีวิตที่เป็นเพศเดียวกันเป็นผู้รับประโยชน์ แม้กฎหมายจะกำหนดว่าผู้รับผลประโยชน์นั้นจะเป็นผู้ใดก็ได้ แต่ในทางปฏิบัติบริษัทประกันชีวิตจะกำหนดให้ผู้เอาประกันภัยและผู้รับผลประโยชน์จะต้องมีความผูกพัน ที่เน้นไปที่ผู้เกี่ยวข้องตามสายโลหิตหรือครอบครัว เช่น บิดา/มารดา สามี/ภรรยา และบุตร เป็นหลัก ขณะที่หากเป็นบุคคลอื่นนอกจากที่กล่าวไว้จะต้องแสดงหลักฐานหรือแจ้งสาระของความผูกพันให้บริษัทพิจารณา รวมถึงคู่สมรสที่ถูกต้องตามกฎหมายยังจะได้รับเงินคืนรายงวด เงินปันผล และเงินครบสัญญาจากกรมธรรม์ประกันชีวิตในฐานะสินสมรสอีกด้วย
ผลต่อการกระตุ้นทางเศรษฐกิจ
นอกจากสิทธิต่าง ๆ ที่คู่สมรสเพศหลากหลายจะได้รับแล้ว พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม ยังมีส่วนช่วยการกระตุ้นเศรษฐกิจจากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการสมรส โดยผลการศึกษาของสถาบันด้านการวิจัย The William Institute ของประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า ภายหลังที่ได้มีการบังคับใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมทั่วประเทศในช่วงปี 2558 – 2562 สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ถึง 3.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมทั้งยังช่วยสร้างการจ้างงาน
ในธุรกิจที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้นถึง 45,000 ราย
ทั้งนี้ ประโยชน์ทางเศรษฐกิจส่วนหนึ่งเกิดจากร้อยละ 75 ของกลุ่ม LGBT เป็นกลุ่มประชากรที่มีรายได้สูงและไม่มีลูกหรือ “Double Income, No Kid” (DINK) ทำให้กลุ่ม LGBT เป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้หลังหักภาษี (Disposable Income) และรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายพื้นฐาน (Discretionary Income) อยู่ในระดับสูงกว่าประชากรทั่วไป รวมทั้งพฤติกรรมการใช้จ่ายของครอบครัวกลุ่ม LGBT ซึ่งในกรณีของสหรัฐอเมริกา พบว่า ครอบครัว LGBT มีการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคสูงกว่าครัวเรือนทั่วไป
พฤติกรรมการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคของครอบครัว LGBT
สำหรับประเทศไทย จากข้อมูลของ Ipsos ในปี 2566 คาดว่า ไทยอาจมีประชากร LGBTQ+ วัยผู้ใหญ่ประมาณร้อยละ 9 หรือคิดเป็นจำนวนกว่า 4.4 ล้านคน ซึ่งหากในจำนวนนี้มีการสมรสในอัตราเดียวกับการจดทะเบียนสมรสระหว่างชายหญิง อาจส่งผลให้ในแต่ละปีมีการจัดงานแต่งงานเพิ่มขึ้นประมาณ 1.2 หมื่นงาน หรืออาจสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ถึงปีละ 1.7 พันล้านบาท ซึ่งเป็นโอกาสในการเติบโตของหลายธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการจัดงานแต่ง อาทิ ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจสตูดิโอถ่ายภาพ ธุรกิจซื้อเช่าชุดแต่งงาน ธุรกิจบริการรับจัดงานแต่ง
นอกจากนี้ กฎหมายสมรสเท่าเทียมยังช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อและการเป็นเจ้าของทรัพย์สิน โดยคู่สมรสสามารถใช้สิทธิในการกู้ร่วมเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ได้ ซึ่งข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (REIC) พบว่า ในจำนวนผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยร้อยละ 4.9 เป็นกลุ่ม LGBTQ+ อีกทั้งการสมรสเท่าเทียมยังส่งผลให้เกิดประโยชน์ทางด้านสังคม เช่น ความมั่นคงของความสัมพันธ์ภายในครอบครัว จากการมีหลักประกันของการใช้ชีวิตคู่
ผลการศึกษาของ ภคพล เส้นขาว (2561) พบว่าคู่รักชายรักชายมักมีอุปสรรคในการใช้ชีวิตคู่ เนื่องจากต้องเผชิญกับปัญหาการยอมรับจากครอบครัวและสังคมรวมถึงปัญหาด้านความมั่นคงในชีวิต ซึ่งมีปัจจัยมาจากการไม่มีกฎหมายรองรับการสมรสที่จะนำมาซึ่งสิทธิและสวัสดิการต่าง ๆ จนทำให้ไม่กล้าที่จะวางแผนในอนาคตของครอบครัว
นอกจากนี้ การเปิดโอกาสให้คู่รักเพศหลากหลายสามารถรับบุตรบุญธรรมมาอุปการะเลี้ยงดูได้ อาจมีส่วนช่วยลดปัญหาเด็กโตนอกบ้านได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งการศึกษาในสหรัฐอเมริกา พบว่า คู่รักเพศเดียวกันที่แต่งงานแล้วมีการรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมและอุปถัมภ์เด็กในอัตราที่สูงกว่าคู่รักต่างเพศอย่างมีนัยสำคัญ โดยคู่รักเพศเดียวกันที่แต่งงานแล้วร้อยละ 24 มีการรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมขณะที่คู่รักต่างเพศที่มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 3 ซึ่งกรณีของไทย จากข้อมูลของระบบสารสนเทศเพื่อการคุ้มครองเด็ก
กรมกิจการเด็กและเยาวชน พบว่า เด็กที่ได้รับการคุ้มครองในกระบวนการคุ้มครองเด็ก ในปี 2566 มีจำนวน 41,082 คน ซึ่งเด็กที่เติบโตในสถานรับรองมักมีผลการเรียนที่ด้อยกว่าและมีพฤติกรรมก้าวร้าวกว่าเด็กที่อาศัยอยู่กับครอบครัวอุปถัมภ์ รวมถึงยังเสี่ยงต่อการมีปัญหาด้านการพัฒนาความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง อีกทั้ง เด็กเล็กที่อยู่ในสถานรองรับมักมีพัฒนาการที่ล่าช้ากว่าเด็กทั่วไปเนื่องจากไม่ได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง
ทั้งนี้ ผลการศึกษาของ Research Gate ในประเทศกลุ่มภูมิภาคยุโรป ปี 2566 พบว่า เด็กที่ถูกเลี้ยงโดยพ่อแม่เพศเดียวกันจะมีพฤติกรรมและอารมณ์ที่ดีกว่าเด็กที่ถูกเลี้ยงโดยพ่อแม่เพศตรงข้าม เนื่องจากคู่รักเพศเดียวกันมีแนวโน้มที่จะมีความพยายามดูแลเอาใจใส่เด็กมากกว่า รวมถึงมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีและมีความขัดแย้งภายในครอบครัวน้อยกว่า
นอกจากนี้ การศึกษาของมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ยังพบว่า เด็กอายุ 5 – 17 ปี ในประเทศออสเตรเลียที่มีพ่อแม่เพศเดียวกัน จะมีสภาพจิตใจ ความสามารถในการปรับตัว และการแก้ไขปัญหาที่ดี เนื่องจากการเติบโตในครอบครัวที่มีความหลากหลายทางเพศวิถี จะช่วยให้เด็กมีมุมมองที่เปิดกว้างและยอมรับต่อความหลากหลายทางสังคมและวัฒนธรรมได้ดียิ่งขึ้น
การเตรียมความพร้อมหลังกฎหมายบังคับใช้
การเปลี่ยนแปลงสถานภาพและการได้รับสิทธิต่าง ๆ ของเพศหลากหลายข้างต้น ยังมีประเด็นที่ต้องเตรียมความพร้อมและดำเนินการต่อเนื่องภายหลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ คือ
1. การทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และการเตรียมความพร้อมในการดำเนินงานของภาครัฐ
จากมาตรา 67 ที่ได้มีการเพิ่มเติมลงไปใน พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม ที่ระบุให้บรรดาบทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ ระเบียบข้อบังคับ ข้อกำหนด ข้อบัญญัติ ประกาศ คำสั่ง หรือมติคณะรัฐมนตรีต่าง ๆ ที่มีการอ้างถึงคำว่า “สามี” “ภริยา”ให้ถือว่าอ้างถึงคู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสตาม ร่าง พ.ร.บ.ฯ ฉบับนี้ ซึ่งทำให้กฎหมายอื่นที่มีการระบุสิทธิของสามีภริยาถูกปรับไปโดยอัตโนมัติ อาทิ มาตรา 58 แห่ง พ.ร.บ. กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ที่ให้จ่ายบำเหน็จตกทอดแก่ทายาท ซึ่งรวมถึงสามีหรือภรรยา จะถูกปรับเป็นคู่สมรสโดยอัตโนมัติ
อย่างไรก็ตาม ในมาตรา 68 ของร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ยังได้กำหนดให้หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบการประเมินผลสัมฤทธิ์ตามกฎหมาย ดำเนินการทบทวนกฎหมายในความรับผิดชอบที่เกี่ยวข้องกับสิทธิ หน้าที่ สถานะทางกฎหมาย หรืออื่น ๆ ของสามี ภริยา สามีภริยา หรือคู่สมรส เพื่อรองรับเรื่องดังกล่าว โดยจะต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับเพศสภาพของคู่สมรส ซึ่งจะทำให้มีกฎหมายอย่างน้อย 51 ฉบับ76 ที่ต้องได้รับการทบทวน อาทิ พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481 ซึ่งให้สิทธิกับสามีและภริยาแตกต่างกัน โดยให้ใช้กฎหมายตามสัญชาติของสามีเป็นหลัก กล่าวคือ มาตรา 22 วรรคสองระบุว่า ถ้าสามีภริยามีสัญชาติแตกต่างกัน ทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยาให้เป็นไปตามสัญชาติแห่งสามี ซึ่งหากเปลี่ยนเป็นคู่สมรสตามกฎหมายสมรสเท่าเทียม อาจทำให้ยากต่อการตีความ
นอกจากนี้ การที่คู่สมรสเพศเดียวสามารถสมรสกันได้ตามกฎหมายและมีสิทธิได้รับสวัสดิการต่าง ๆ ยังส่งผลให้รัฐต้องเตรียมความพร้อมด้านทะเบียนทั้งเอกสาร ใบสำคัญ และข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งต้องสร้างความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่รัฐ ให้มีทัศนคติที่ดีต่อการให้บริการเพศหลากหลาย เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มได้รับบริการที่เป็นมิตรและเท่าเทียมกัน
2. การพิจารณาประเด็นเชื่อมโยงที่เป็นผลสืบเนื่องจากสิทธิที่คู่รักเพศหลากหลายได้รับเพิ่มขึ้น ไม่เพียงแต่ต้องพิจารณากฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับคู่สมรสโดยตรง ยังมีประเด็นอื่นที่อาจต้องได้รับการพิจารณาต่อเนื่องด้วย โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับบุตรบุญธรรมที่อยู่ในการปกครองของคู่รักเพศหลากหลาย ที่ปัจจุบันยังคงถูกจำกัดสิทธิและสวัสดิการต่าง ๆ ทั้งจากภาคราชการและสำนักงานประกันสังคม ที่ส่วนใหญ่กำหนดไว้ให้เพียงเฉพาะบุตรที่เกิดจากคู่สมรสซึ่งเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้บุตรบุญธรรมยังคงได้รับเพียงสิทธิจากพ่อแม่ผู้ให้กำเนิด ทั้งสิทธิการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล ค่าเล่าเรียน เป็นต้น
การศึกษาของ ฐาฏญาณี นิลเกต (2561)78 พบว่า เด็กที่กลายเป็นบุตรบุญธรรมมักเกิดจากพ่อแม่ที่ไม่พร้อมในการเลี้ยงดู ทั้งด้วยอายุ/วุฒิภาวะ ความยากจน การไม่เวลาเลี้ยงดูเนื่องจากต้องไปประกอบอาชีพ การหย่าร้างเลิกรา เป็นต้น ซึ่งส่งผลให้หลายครั้งไม่สามารถติดตามตัวพ่อแม่ที่แท้จริงได้ และทำให้เด็กไม่ได้รับสิทธิอย่างเหมาะสม อีกทั้ง ยังกลายเป็นภาระค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูของพ่อแม่บุญธรรม จึงอาจต้องมีการพิจารณา เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้รับบุตรบุตรธรรมซึ่งเป็นผู้ปกครองตามกฎหมายและผู้เลี้ยงดูหลักในทางปฏิบัติ สามารถให้สิทธิต่าง ๆ แก่บุตรบุญธรรมในกรณีที่ไม่สามารถรับสิทธิจากพ่อแม่ผู้ให้กำเนิดได
3. การเตรียมความพร้อมทางธุรกิจเพื่อรองรับกลุ่มคนเพศ
หลากหลาย ซึ่งนอกจากกฎหมายสมรสเท่าเทียมจะส่งเสริมธุรกิจการแต่งงานและธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่อง รวมทั้งธุรกิจเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์แล้ว ยังมีธุรกิจอื่นทั้งด้านสินค้าและบริการที่อาจได้รับประโยชน์ร่วมด้วย เนื่องจากครอบครัวLGBTQ+ มีการใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง จึงอาจต้องมีการศึกษาพฤติกรรมการบริโภคและความต้องการของกลุ่ม LGBTQ+ เพิ่มเติม เพื่อเตรียมความพร้อมด้านกลยุทธ์ทางการตลาดให้สามารถตอบโจทย์กลุ่มนี้ได้มากขึ้น
นอกจากนี้ ธุรกิจด้านการท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มที่จะได้ประโยชน์จากการที่ไทยอนุญาตให้คู่รักLGBTQ+ สมรสได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจากผลสำรวจของ Community Marketing & Insights ในสหรัฐอเมริกา พบว่า กลุ่ม LGBTQ+ กว่าร้อยละ 42 จะไม่เดินทางไปรัฐที่ผ่านร่างกฎหมายต่อต้านกลุ่มคนข้ามเพศ (Anti-Transgender) และร้อยละ 35 จะเลือกเดินทางไปท่องเที่ยวในรัฐหรือเมืองที่มีชื่อเสียงว่าเป็นมิตรกับชาว LGBTQ+ ซึ่งอาจทำให้ไทยสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มนี้มากขึ้น
ทั้งนี้ การบังคับใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมอาจเป็นการส่งเสริมให้เกิดธุรกิจใหม่ ๆ ที่จะมาตอบโจทย์วิถีชีวิตของคนกลุ่มนี้อย่างครอบคลุมมากยิ่งขึ้น อาทิ คลินิกสุขภาพเพศหลากหลาย ที่ให้การตรวจรักษาและให้ปรึกษาด้านต่าง ๆ แบบครบวงจร ทั้งทางด้านสุขภาพร่างกาย ด้านจิตใจ และครอบครัวเพศหลากหลาย
4. การสร้างความเข้าใจถึงความหลากหลายทางเพศให้กับสังคม
แม้ว่าสังคมไทยจะค่อนข้างเปิดกว้างต่อบุคคลเพศหลายหลาย แต่ยังเป็นการยอมรับเพียงในระดับหนึ่ง โดยผลสำรวจของ UNDP ในปี 2561 – 2562 พบว่า คนทั่วไปจะยอมรับกับคนอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับตนเอง ขณะที่การยอมรับจะลดลงหากผู้มีความหลากหลายทางเพศเป็นนักเรียน บุคคลในที่ทำงาน สมาชิกในครอบครัว หรือคนใกล้ชิด
สอดคล้องกับผลการสำรวจของกรุงเทพโพลล์ ในปี 2566 ที่พบว่า ประชาชนเกือบร้อยละ 25 ไม่แน่ใจ/ยอมรับไม่ได้ หากลูกหรือคนในครอบครัวเป็น LGBTQ+ ขณะที่ร้อยละ 21.4 ที่ไม่ค่อยเห็นด้วย/ไม่เห็นด้วยเลย ต่อการให้คู่รัก LGBTQ+ ได้รับสิทธิทางกฎหมาย และกว่าร้อยละ 35.6 ยังพบการแสดงออกที่ไม่ปกติต่อกลุ่ม LGBTQ+ สะท้อนให้เห็นว่ายังมีคนอีกจำนวนหนึ่งที่ยังมีทัศนคติที่ไม่เปิดรับต่อความแตกต่างอย่างเต็มที่ ซึ่งต้องมีการสร้างความเข้าใจ การเคารพต่อสิทธิและความเห็นของแต่ละฝ่ายอีกทั้ง ทุกฝ่ายจะต้องร่วมกันเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโดยเฉพาะทางด้านจิตใจให้แก่เด็กและเยาวชน โดยเฉพาะเด็กที่เติบโตในครอบครัว LGBTQ+ ตั้งแต่การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางเพศ (Gender identity) และเพศวิถี(Sexual Orientation) รวมทั้งแนวทางการตอบเมื่อเด็กตั้งคำถามเกี่ยวกับการกำเนิดของเด็กในช่วงวัยเรียนรู้ตลอดจนการรับมือต่อความเห็นต่างจากคนในสังคม ซึ่งอาจจะต้องปรับปรุงเนื้อหาการเรียนการสอนของโรงเรียนที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางเพศ
นอกจากนี้ อาจต้องมีการทบทวนและปรับปรุงวิถีประพฤติปฏิบัติในอดีตที่ผ่านมาบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับอัตลักษณ์ทางเพศ อาทิ กิจกรรมในโรงเรียนอย่างกิจกรรมงานวันพ่อ/วันแม่
5. การเตรียมความพร้อมของงบประมาณ
เพื่อรองรับการได้รับสวัสดิการที่เพิ่มขึ้น โดยคู่สมรสของกลุ่มเพศหลากหลายที่ประกอบอาชีพเป็นข้าราชการย่อมมีสิทธิได้รับสวัสดิการจากภาครัฐ โดยเฉพาะสิทธิการเบิกเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล ซึ่งอาจส่งผลให้ภาครัฐต้องมีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้มากขึ้น
จากข้อมูลงบประมาณด้านสังคม (social budgeting) ในปี 2564 พบว่า ผู้ใช้สิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาลจากงบประมาณในหมวดเงินสวัสดิการของข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ มีจำนวนทั้งสิ้น 3.25 ล้านคนซึ่งในจำนวนนี้ร้อยละ 51 เป็นคนในครอบครัว และใช้งบประมาณรวมกันทั้งสิ้น 7.90 หมื่นล้านบาท ซึ่งทำให้รัฐอาจต้องมีการใช้จ่ายงบประมาณที่มากขึ้น
ขณะเดียวกัน คู่สมรสเพศหลากหลายยังมีโอกาสในการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในด้านการลดหย่อน ทั้งของตัวคู่สมรสเองและของบิดามารดาคู่สมรส ซึ่งอาจท าให้การจัดเก็บรายได้ของรัฐลดลงได้
ดังนั้น การบริหารจัดการการเงินการคลังของภาครัฐในอนาคต จะต้องคำนึงถึงการเบิกจ่ายที่อาจเพิ่มมากขึ้นจากการใช้สิทธิและสวัสดิการต่าง ๆ ของคู่สมรส LGBTQ+ รวมถึงการลดลงของรายได้ภาครัฐจะเห็นได้ว่าทั้ง 5 ประเด็นเป็นสิ่งที่ต้องมีการเตรียมการเพื่อรองรับภายหลัง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมมีผลบังคับใช้ เพื่อทำให้การแก้ไขกฎหมายบรรลุวัตถุประสงค์ในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัวที่ก่อตั้งขึ้นระหว่างบุคคลไม่ว่าจะเป็นเพศใด
รวมทั้งเป็นการสร้างความเท่าเทียม อันเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 27 วรรคหนึ่ง และวรรคสาม ซึ่งบัญญัติว่า “บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายมีสิทธิและเสรีภาพ และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน… การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่อง… เพศ… หรือเหตุอื่นใด จะกระทำมิได้” และสร้างประโยชน์ให้เกิดกับเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ