การประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 21 ส.ค. 2567 มีการประชุมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …โดยผลการพิจารณามีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติฯดังกล่าวและมีมติเห็นด้วยกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการ
ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติฯในวาระที่ 3 ด้วยคะแนนเสียง 409 เสียง จากทั้งหมด 410 เสียง โดยขั้นตอนต่อไปจะส่งร่างพระราชบัญญัติฯสู่การพิจารณาของวุฒิสภา
ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติฯ เป็นการพิจารณาจากร่างพระราชบัญญัติฯ มีผู้เสนอ 5 ร่าง โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2567 ก่อนที่สภาจะบรรจุวาระในการพิจารณาวันที่ 21 ส.ค. 2567
ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติฯ ถือเป็นความสำเร็จในขั้นต้น เพื่อนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ผ่านกลไกการออกเสียงประชามติ ให้มีกติกาที่เป็นสากล และสอดคล้องกับบริบทในสังคมไทยมากขึ้น
ร่างพระราชบัญญัติฯที่ผ่านสภาผู้แทราษฎร มีการแก้สาระสำคัญใน 3 ประเด็นหลัก คือ
1.เพิ่มความคล่องตัวในการทำประชามติ โดยเปิดให้สามารถจัดการออกเสียงประชามติในวันเดียวกันกับการเลือกตั้งทั่วไปอื่นได้ และใช้เขตลงคะแนนนั้น ๆ ในการดำเนินการได้
2.เพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยกำหนดให้การออกเสียงกระทำได้ด้วยวิธีที่หลากหลาย ทั้งการใช้บัตรออกเสียงแบบปกติ การออกเสียงทางไปรษณีย์ การออกเสียงโดยเครื่องลงคะแนน การออกเสียงทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือออกเสียงโดยวิธีอื่น และกำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้งต้องเปิดให้มีการแสดงความคิดเห็นอย่างเท่าเทียมทั้งจากผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการออกเสียงนั้น
3.เพิ่มความเป็นธรรม โดยปรับเกณฑ์การได้ข้อยุติในการออกเสียง จากรูปแบบ “เสียงข้างมาก 2 ชั้น” (Double Majority) ให้เป็น “เสียงข้างมากธรรมดา” (Plurality หรือ Simple Majority) ตามร่างของพรรคเพื่อไทย หรือ ตัดเงื่อนไขเกณฑ์ขั้นต่ำของผู้ออกมาใช้สิทธิ์ และคงไว้เพียงว่า “เสียงเห็นชอบ” ต้องเป็นเสียงที่มากที่สุดของผู้มาลงคะแนนเท่านั้น
นับว่าร่างพระราชบัญญัติฯดังกล่าว เป็นความเห็นร่วมกันของพรรคการเมืองทุกพรรคผ่านกลไกสภา เพื่อนำไปสู่การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
อ่านเพิ่มเติม: