การเลือกตั้งครั้งนี้ มี 2 พรรคการเมืองที่ชูนโยบายการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 คือ พรรคก้าวไกล และ พรรคเพื่อไทย โดยเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวไม่เป็นประชาธิปไตย
นับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองตั้งแต่ปี 2475 ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญการปกครองมาแล้ว 20 ฉบับ เฉลี่ยรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ ทั้งฉบับชั่วคราวและถาวร มีอายุเฉลี่ยจนถึงปีนี้ (2566) ราวฉบับละ 4.55 ปี ซึ่งสาเหตุสำคัญคือการเมืองไทยมีการปฏิวัติรัฐประหารบ่อยครั้งและทุกครั้งก็อ้างเหตุในการยกเลิกรัฐธรรมนูญ และร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
แม้ว่าพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยจะมีนโยบายที่เคยประกาศไว้ในช่วงหาเสียง คือ การแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย แต่ความเป็นไปได้ถึงแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทยจะมีความเป็นไปได้มากที่สุด หลังจากกลายเป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยแกนนำของพรรคอย่างภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นผู้มีบทบาทในการจัดตั้งรัฐบาลถึงกับประกาศว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรก จะมีการจัดตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ทันที
รัฐบาลได้บรรจุไว้เป็น “นโยบายเร่งด่วนสุดท้าย คือการแก้ปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เพื่อให้คนไทยได้มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น โดยยึดรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและไม่แก้ไขในหมวดพระมหากษัตริย์ โดยรัฐบาลจะหารือแนวทางในการทำประชามติที่ให้ความสำคัญกับการทำให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมออกแบบกฎ กติกาที่เป็นประชาธิปไตย ทันสมัยและเป็นที่ยอมรับร่วมกัน รวมถึงการหารือแนวทางการจัดทำรัฐธรรมนูญในรัฐสภาเพื่อให้ประเทศสามารถเดินต่อไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง”
แต่กว่าที่รัฐบาลจะเริ่มดำเนินการ ก็เข้าสู่สัปดาห์ที่ 3 โดยไม่ได้เป็นมติครม. แต่เป็นคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 264/2566 แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 โดยเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีลงนามเมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2566
หลังจากนั้น มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มอาชีพต่าง ๆ และคณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ โดยกำหนดกรอบเวลาไว้จะศึกษาให้เสร็จภายในเดือน ธ.ค.นี้ และราวเดือน ม.ค. 2567 แต่ไม่เกินไตรมาสแรกของปีหน้าต้องเสนอครม.อนุมัติ
จากนั้น ครม.จะเสนอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อทำประชามติ โดยกกต.จะต้องดำเนินการไม่ต่ำกว่า 90 วัน แต่ต้องไม่เกิน 120 วัน
หลังจากกต.จัดทำประชามติเสร็จสิ้นจะส่งให้ครม.อีกครั้ง โดยครม.หรือพรรคการเมืองจะดำเนินการส่งต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 256 โดยต้องเพิ่มเติมหมวดใหม่เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ
หลังจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 มีผลบังคับใช้แล้ว ก็จะมีการจัดสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่
รัฐบาลคาดว่ากระบวนการทั้งหมดจะใช้เวลาประมาณ 3 ปี
อย่างไรก็ตาม ในระหว่างกระบวนการดังหล่าว อาจจะมีข้อถกเพียงเรื่องการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ หรือ แก้ไขบางมาตรา รวมทั้งข้อข้อแย้งอื่น ๆ ตามมา ซึ่งอาจจะทำให้กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ต้องล่าช้าออกไป และหากติดตามท่าทีของแต่ละกลุ่มมีความเห็นต่างกันในประเด็นนี้ บางกลุ่มไม่เห็นด้วยกับการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในขณะนี้ที่บางพรรคการเมืองเสนอยกร่างใหม่ซึ่งต่างไปจากเดิมในบางหมวดที่ยังเป็นประเด็นขัดแย้งรุนแรง
หากเปรียบเทียบประเด็นการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่กับเรื่องอื่น ๆ ที่เป็นนโยบายรัฐบาลในด้านการบริหารราชการภาครัฐ จะเห็นได้ว่าการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่เป็นงานยากที่สุดในบรรดานโยบายการบริหารงานภาครัฐทั้งหมด แต่หากดูจากการลงคะแนนเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าเป็นประเด็นที่คนไทยส่วนใหญ่สนับสนุนมากที่สุดเช่นเดียวกัน
ในอดีตที่ผ่านมา “การเมืองเรื่องรัฐธรรมนูญ” ในสังคมไทย มักจะนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรง แม้ตามหลักการแล้ว รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด ซึ่งเป็นกติการ่วมของคนในสังคม แต่ความเป็นจริงแล้ว รัฐธรรมนูญของไทยมียกเลิกและร่างใหม่เป็นเรื่อง “ปกติ” เนื่องจากรัฐธรรมนูญเป็นการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจในสังคมไทย
ตามงานวิจัยที่ถืองานคลาสสิกเรื่อง “การเมืองไทยกับพัฒนาการรัฐธรรมนูญ” ของ เสน่ห์ จามริก ชี้ว่ารัฐธรรมนูญของไทยเป็นพื้นที่ในการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างกลุ่มคนต่าง ๆ ในสังคม ในช่วงที่ประชาธิปไตยเบ่งบาน รัฐธรรมนูญจะสนับสนุนอำนาจของประชาชน แต่ในช่วงที่รัฐประหาร ก็จะมีการเขียนรัฐธรรมนูญที่เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มราชการที่มีทหารเป็นแกนนำ
ดังนั้น การยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ในครั้งนี้ จะเห็นได้ว่าคนที่ไม่เห็นด้วยมักจะเป็นกลุ่มคนที่ได้ประโยชน์จากการรัฐประหารครั้งล่าสุด แต่คนที่เห็นด้วยและสนับสนุนจะเป็นคนที่ต่อต้านรัฐประหาร เป็นกลุ่มคนที่เรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนี้ การเมืองไทยก็ยังเผชิญกับความเสี่ยงความขัดแย้ง เหมือนทุกครั้งเมื่อมีการแก้ไขหรือพยายามจะเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ