เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2567 นับว่าเป็นความหวังอีกครั้งในการสร้างสันติภาพในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ เมื่อคณะพูดคุยสันติภาพจังหวัดชายแดนใต้ นำโดย ฉัตรชัย บางชวด รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นหัวหน้าคณะ ได้พูดคัย “สันติสุข” กับตัวแทนขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี (บีอาร์เอ็น) เป็นเวลา 2 วัน ก่อนเห็นชอบในหลักการร่วมกัน 3 ข้อ เพื่อปูทางไปสู่การสร้างสินติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้
ฉัตรชัย นับว่ามีบทบาทสำคัญที่สุดคนหนึ่งในกระบวนการพูดคุยสันติสุข ในฐานะหัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้ของไทย ซึ่งการดูคุยครั้งนี้ เขามองว่าเป็น “จุดเปลี่ยน” และมองอย่างมีความหวังว่าสันติสุขจะกลับคืนมาภายในปี 2568
#เทพชัยทอล์ก สัมภาษณ์พิเศษ “ฉัตรชัย บางชวด” เกี่ยวกับโรดแม็ปที่กำลังจะเกิดขึ้นใน “ตัวแทนไทย-BRN หวังลงนามข้อตกลงสันติภาพสิ้นปีนี้”
ฉัตรชัย มองว่าการพูดคุยสันติภาพจังหวัดชายแดนใต้ครั้งนี้เป็น “ทิศทางที่ดีมาก” เมื่อเทียบกับก่อนหน้านี้ แม้ว่าแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม (JCPP) ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่เคยพูดคุยกันมาแล้ว โดยเราสามารถเห็นชอบในหลักการร่วมกันได้ ถือว่าเป็นการพัฒนาการที่ดีทางบวก ถือว่ามีความคืบหน้า
ส่วนเป้าหมายเรื่องเวลาต่าง ๆ นั้น เราตั้งข้อสังเกตว่าปัญหาในพื้นที่มันรอไม่ได้ เราไม่อยากให้รอเรื่องเวลา แล้วมีคนบาดเจ็บล้มตายกัน เราจึงอยากให้มีโรดแม็ป ชัดเจนเรื่องเวลา ไม่เช่นนั้นมันจะคุยไปเรื่อย ๆ ไม่มีที่สิ้นสุด
เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ
“จุดเปลี่ยนคือ เราทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะฝ่ายรัฐและบีอาร์เอ็น เห็นชอบในหลักการเป็นเชิงบวก 3 ข้อสำคัญ คือ ข้อแรก ยุติความรุนแรง ข้อที่สอง การปรึกษาหารือสาธารณะ และข้อที่สาม แสวงหาทางออกทางการเมือง หมายความว่า 3 ข้อนี้ยอมรับหลักการ เท่ากับว่าบรรยากาศในอนาคตเชิงบวกสามารถหาทางออกได้”
ฉัตรชัย ย้ำว่าการตกลงครั้งนี้ระหว่างสองฝ่าย ถือเป็นคำมั่นสัญญา “เป็นสัญญาลูกผู้ชาย” เมื่อรับปากแล้วก็ต้องทำ เป้าหมายคือประชาชนในพื้นที่ร่วมกัน สันติสุขในพื้นที่ ฝ่ายไทยสามารถดำเนินการได้ทันที และสามารถทำได้เลย เพราะเป็นนโยบายรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม อาจทำให้เกิดข้อสงสัยว่าทำได้แค่ไหน เพราะยังมีความรุนแรง หรือการควบคุมตัว ฉัตรชัยมองในแง่ดีว่าในการพูดคุยทั่วโลก จะมีคนทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งเชื่อว่าในฝ่ายบีอาร์เอ็น มีจำนวนหนึ่งที่อาจจะไม่เห็นด้วย ที่ต้องการแสดงพลัง แสดงศักยภาพ
โดยเฉพาะปีกทหาร มีเป้าหมายในการรักษาความสงบเรียบร้อย เรื่องของการบังคับใช้กฎหมาย แล้วสิ่งสำคัญเราก็สื่อสารกันตลอดว่ายังไงให้ดำเนินการอย่างระมัดระวัง บางเรื่องประนีประนอมได้ก็จะเป็นเรื่องที่ดี อีกอันคือเรื่องความรู้ความเข้าใจ ผมเชื่อว่าเจ้าหน้าที่มีความเข้าใจ เรียนพี่น้องประชาชนว่าเรื่องแผน JCPP ที่เรายกร่าง เจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาร่วมยกร่างตั้งแต่ต้น อันนี้เป็นจุดดี ให้มีความมั่นใจว่ามันเดินหน้าไปได้ ภายใต้การรับรู้ของทหาร ไม่ใช่ฝ่ายรัฐอยู่ ๆ ไปยกร่าง แล้วไปยัดเยียดฝ่ายทหาร เราร่วมทำกันมาตั้งแต่ต้น ฉะนั้นฝ่ายทหารมีความเข้าใจ เชื่อมั่นว่ามันเดินหน้าไปได้ ยืนยันว่าฝ่ายไทยเป็น “หนึ่งเดียวกัน”
สำหรับผู้แทนบีอาร์เอ็น 7 ท่าน ก็มีส่วนที่มาจากปีกทหารด้วย ซึ่งก็เชื่อปีกทหารก็มีส่วนรับรู้ คาดว่ามากกว่า 80% ที่ฝั่งบีอาร์เอ็น เห็นด้วยกับแผน JCPP ที่เหลืออีกสัก 20% เป็นด้านเทคนิคที่จะไปคุยกัน
“ตรงไหนไม่ลงตัวก็ปรับกันได้ เราสามารถยืดหยุ่นได้ เราไม่ได้ปิดกั้น เราเคารพความเห็นของเขาโดยตลอด แต่เป้าหมายสุดท้ายต้องให้เกิดประโยชน์ที่สุดในพื้นที่”
หวังเห็นข้อตกลงสันติสุขภายในสิ้นปี
แผนปฏิบัติการร่วม (JCPP) พยายามจะให้มีข้อตกลงสันติสุขภายในสิ้นปี ตัวร่างแผนมีกิจกรรมย่อยมากมาย ร่างแผนต้องมีการปฏิบัติการครบถ้วน ครบถ้วนในเนื้อทั้งหมด เมื่อครบถ้วยมีความเห็นประกอบเรียบร้อย มีความเห็นจากสาธารณะ มีความเห็นจากการพูดคุย มารวมด้วย จะออกมาเป็นข้อตกลงสันติสุข บางทีก็เรียกว่า “ข้อตกลงสันติภาพ”
“อันนั้นเป็นความคาดหวัง เป็นข้อตกลงเข้าสู่ภาวะปกติ ทุกอย่างจะหยุด เราคาดว่าจะมี end game เกิดขึ้นในอนาคตใน 3 ลักษณะ โดยลักษณะแรก เป็น end game ที่สร้างบรรยากาศสงบ ความรุนแรงลดลง end game ขั้นกลาง บรรยากาศปกติเข้ามาในพื้นที่มากขึ้น เช่น ไม่มีกฎหมายพิเศษ ทุกอย่างเป็นภาวะปกติ ส่วน end game ขั้นที่ 3 จะเป็นการตอบสนองข้อเรียกร้องบางส่วน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอัตลักษณ์ วัฒนธรรม และศาสนา หรือแม้กระทั่งเรื่องการเมืองการปกครอง ก็จะไปสู่จุดนั้นทุกอย่าง ก็จะเข้าสู่ภาวะปกติ”
“พูดคุยสันติสุข” จบลงด้วยดี 3 ฝ่าย เห็นชอบ 3 หลักการ ร่วมสร้างสันติสุขแบบองค์รวม
เปิดทุกฝ่ายเข้าร่วมพูดคุยได้เต็มที่
สำหรับกระบวนการที่จะเกิดขึ้น อันดับแรก เรากำลังหาองค์กรตัวกลางในการออกแบบ จัดเวทีอันเป็นที่ยอมรับ ทุกฝ่ายจะได้สื่อสารเต็มที่ อันที่สอง เราก็พยายามให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม ทั้งภาควิชาการ ภาคประชาสังคม เอ็นจีโอ ตัวแทนชาวบ้าน แม้กระทั่งคนคิดต่างจากรัฐที่อยู่ในและนอกประเทศ ให้เข้ามาร่วม
การจัดเวทีก็อาจจะมีทั้ง “แบบปิดแบบเปิด” เรื่องไหนที่เป็นเรื่องละเอียดอ่อนก็จะมีเวทีเฉพาะ ส่วนน้อง ๆ ที่ถูกดำเนินคดีอยู่ในขณะนี้ ต่อไปก็ไม่ต้องไปพูดในโซเชียลหรือเวทีสาธารณะ ให้มาพูดในเวทีพูดคุยได้เลย มาพูดในเวทีปิด พูดกันได้เต็มที่ ทั้งหมดนี้ก็พยายามพูดคุยทุกกลุ่ม และมีเวทีที่เหมาะสม ที่ยอมรับเชื่อถือ และผลจากอันนี้จะมีข้อตกลงในอนาคต
สำหรับผู้ที่จะมาเข้าร่วมพูดคุย สำหรับคนที่อยู่นอกประเทศจะง่าย หากไม่มีหมายจับ แต่เห็นต่างก็เข้ามาร่วมได้เลย ส่วนคนที่มีหมายจับ อาจจะไม่สบายใจ ก็สามารถส่งตัวแทนเข้ามาได้
“เราได้วางกรอบเชิงนโยบาย หรือกฎหมายไว้ ในเรื่องเดิม เราก็จะปรับให้ดีขึ้น ตามมาตรา 21 ตามพระราชบัญญัติความมั่นคงในราชอาณาจักร มาตรานี้สามารถดำเนินการละเว้นหรือนำคนกลับคืนสู่สังคมได้ คล้าย ๆ พูดในหลักการเหมือนการอภัยโทษ ก็มีกระบวนการมาสู่มาตรานี้ จะทำให้คนส่วนหนึ่งอาจมีคดี สามารถเข้าสู่กระบวนการ เข้าสู่สังคม อาจจะได้ยินโครงการการพาคนกลับบ้าน อันนี้เป็นช่องทางทำให้คนมีหมาย มีความระแวง ไม่มั่นมั่นใจ เป็นช่องทางคืนสู่สังคม”
ฉัตรชัย กล่าวว่าคนเหล่านี้ ทางการไทยมีรายชื่อระดับหนึ่งแล้ว แต่คงไม่ใช่เป็นการอภัยโทษทั้งหมด เพราะมีรายละเอียด คงมีกระบวนการว่าตามกฎหมายที่มีอยู่ แต่หลักการคือ ให้ผู้ที่เป็นนักรบ หรือมีคดีต่าง ๆ เป็นช่องทางในการต่อสู้ในเรื่องความยุติธรรมและกลับคืนสังคมได้ และภายใต้การยอมรับ ไม่ใช่มาแบบเสียเกียรติ
เปิดคำกล่าว BRN บนโต๊ะเจรจา ย้ำ ไทยย้อนดูบทเรียน-แก้รากเหง้าปัญหา ขอ 3 ข้อ เปิดทางสันติภาพปาตานี
หวังเดือนเม.ย.นี้ ลงนามครั้งแรกแผนปฏิบัติการร่วม
สำหรับคณะกรรมการทางเทคนิค จะเข้ามาดำเนินการคืบหน้าของแผน พิจารณาร่างแผน เหมือนเก็บตก ประเด็นอะไรที่ยังไม่สบายใจก็จะมาปรับแก้ จนเป็นที่สบายใจทั้งสองฝ่าย เหลือไม่มากที่มาถกกัน หลังจากถกกันเรียบร้อย ก็คาดว่าอย่างที่ประกาศไว้ว่าเราจะลงนามในเดือนเม.ย. โดยไม่เกินพ.ค. จะเป็นเรื่องที่ดีที่เราจะได้ขับเคลื่อนต่อได้
“เราคาดหวังว่าเมื่อลงนามไปแล้ว อย่างน้อยบรรยากาศที่ดีมากคือความรุนแรงแรง ส่วนเรื่องสารถะมาว่ากัน มาถกแถลงกัน”
ฉัตรชัย กล่าวว่าหากสามารถลงนามได้ก็จะเป็น “การลงนามครั้งแรก” ซึ่งถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนและเป็นหมุดหมายที่ดี เป็นพัฒนาการเชิงบวก
เชื่อรัฐตอบสนองได้หลายเรื่องภายใต้รัฐธรรมนูญ
สำหรับคนที่ไม่เห็นด้วยกับแผน JCPP ฉัตรชัยมองว่าต้องชี้แจงว่าเราต้องการอะไร ถ้าต้องการให้พื้นที่สงบร่วมเย็น ยึดประชาชนเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่ยึดอุดมการส่วนบุคคล หรือองค์กร ก็ต้องเป็นเป้าหมายร่วมกัน ต้องยึดส่วนรวมที่ประชาชนเป็นที่ตั้ง
“ผมเชื่อว่าทางบีอาร์เอ็นคิดคล้ายเรา เขามองที่ประชาชน ถ้าประชาชนมีความกินดีอยู่ดี มีอัตลักษณ์วัฒนธรรม ผมว่าที่เราจะทำร่วมกัน ทางบีอาร์เอ็นต้องเข้าใจ มาร่วมกับภาครัฐ เชื่อว่าอย่างนั้นนะครับ หลักการคล้าย ๆ กัน ทางโน้มเขาอ้างตลอดว่าประชาชนเป็นสิ่งสำคัญ หลักการเดียวกันครับ เราก็ประชาชน”
สำหรับความต้องการของบีอาร์เอ็นต่อ 3 จังหวัดและอีก 4 อำเภอของสงขลานั้น เท่าที่เห็นหลายเรื่องจะได้การตอบสนอง โดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและอัตลักษณ์ เชื่อว่าภาครัฐจะตอบสนอง ส่วนเรื่องการเมืองการปกครองสามารถตอบนองตามรัฐธรรมนูญไทย ซึ่งเปิดช่องเรื่องการกระจายอำนาจ แต่ทุกอย่างอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ
สำหรับทุกประเด็นที่เกี่ยวข้องจะปิดท้ายด้วยตามรัฐธรรมนูญไทยนั้น ฉัตรชัยกล่าวว่า “ไม่ใช่ผ่ายเรา แต่เป็นหลักการทั่วไป ที่เป็นฐานสำคัญ เราเห็นชอบร่วมกัน ในนั้นเขียนชัดครับว่าทุกอย่างขับเคลื่อนภายใต้รัฐธรรมนูญไทย ขณะเดียวกันรัฐไทยก็ยอมรับชุมชนปาตานี คนในพื้นที่เรียกร้องกันมา ต้องเรียกร้องความเป็นปาตานี ซึ่งอันนี้รัฐก็ยอมรับ เทียบเคียงกับยอมรับคนล้านนา คนล้านช้าง แบบเดียวกัน ยอมรับในเชิงมิติและสังคม ยอมรับว่ามีชุมชนปาตานีในพื้นที่”
อยากให้คนไทยเข้าใจและเคารพความแตกต่าง
สำหรับการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ที่เรียกร้องสอดคล้องกับบีอาร์เอ็นนั้น ฉัตรชัยกล่าวว่าเท่าที่ฟังสอดคล้อง มีเรื่องอัตลักษณ์ วัฒนธรรม ศาสนา ซึ่งปรับไม่ยาก ในรัฐธรรมนูญไทยเปิดกว้างเรื่องอยู่แล้ว คิดว่าเนื้อหาที่เรียกร้องตรงกัน ในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา เราทำเรื่องนี้มาก เราทำเต็มที่
แต่อยากจะให้คนนอกพื้นที่เกิดความเข้าใจในเรื่องอัตลักษณ์ เคารพในความแตกต่าง สามารถอยู่ด้วยกันได้ ก็จะเป็นสิ่งที่สามารถขับเคลื่อน และเป็นกระแสสนับสนุน ซึ่งสามารถให้ภาครัฐทำงานเรื่องนี้ได้ แต่หากมีความไม่เข้าใจเกิดขึ้น ก็จะพยายามอธิบายให้เข้าใจคงต้องใช้เวลาในการอธิบาย
ภายในปี 2568 “เชื่อว่าสิ่งที่ได้เห็นอันแรกที่เป็นรูปธรรม ความรุนแรงน่าจะหมดไป สอง เวทีพูดคุยในหลายเวทีจะถูกนำไปปฏิบัติ ถัดมาคือความพิเศษต่าง ๆ ในพื้นที่จะหายไป เช่นกฎหมายพิเศษ ทหารจะกลับที่ตั้งได้ ผมว่าทุกอย่างจะคลี่คลายไปสู่จุดนั้น”