เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันแม้จะมีแรงขับเคลื่อนจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศจำนวนมากหลังจากผ่านพ้นโควิด-19 จนเป็นแรงสนับสนุนให้ภาคการท่องเที่ยวไทยฟื้นตัว รวมถึงกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ และภาคส่งออกก็เริ่มกลับมาทรงตัวดีขึ้น แต่ทั้งหมดนี้ก็ยังไม่สามารถผลักดันเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวแบบก้าวกระโดดได้ หรือยังไม่สามารถทำให้จีดีพีเติบโตถึง 3% ตามเป้าหมายได้
ในขณะที่หลายสำนักวิจัยและธนาคารโลก (World Bank) ได้เริ่มปรับลดคาดการณ์จีดีพีไทยปี 2567 ต่ำกว่าเดิมจากที่เคยประมาณการไว้ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยกำลังมีปัญหาในเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะแรงงานส่วนใหญ่ยังไม่มีทักษะสูงเพียงพอที่จะดึงดูดชาวต่างชาติให้เข้ามาลงทุนทำธุรกิจ และสร้างฐานการผลิตเทคโนโลยีในประเทศไทย
ในวันที่ 30 ก.ค. 2567 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงมีมติให้ความเห็นชอบมาตรการภาษีในการสนับสนุนคนไทยที่มีศักยภาพที่ทำงานในต่างประเทศให้กลับเข้ามาทำงานในประเทศ และมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตรายกเว้นภาษี (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … ตามที่ กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ โดยมาตรการและร่างพระราชกฤษฎีกา มีสาระสำคัญเป็นการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรตามมาตรการภาษีในการสนับสนุนคนไทยที่มีศักยภาพที่ทำงานในต่างประเทศให้กลับเข้ามาทำงานในประเทศไทย ดังนี้
1. ลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ลูกจ้าง) ในการหักภาษี ณ ที่จ่ายเหลืออัตราร้อยละ 17 ของเงินได้ เมื่อคำนวณแล้วอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีในอัตราที่กำหนดในบัญชีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงกว่าร้อยละ 17 ของเงินได้ สำหรับคนไทยที่เคยทำงานอยู่ในต่างประเทศและจะกลับเข้ามาทำงานในประเทศในสาขาความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมาย ตามกฎหมายว่าด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน และกฎหมายว่าด้วยเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่มีเงินได้เมื่อคำนวณแล้วอยู่ในบังคับต้องเสียเท่ากับหรือน้อยกว่าร้อยละ 17 ของเงินได้ให้ผู้มีสิทธิ์ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินได้พึงประเมินดังกล่าวไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เมื่อผู้มีเงินได้ยอมให้ผู้จ่ายเงินได้หักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 17 ของเงินได้นั้น
นอกจากนี้ ผู้มีเงินได้จะต้องมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนดในการกลับมาใช้สิทธิประโยชน์ดังกล่าว เช่น ต้องมีวุฒิการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับปริญญาตรี มีประสบการณ์ทำงานในต่างประเทศไม่ต่ำกว่า 2 ปี ต้องเดินทางกลับเข้าประเทศไทยในช่วงเวลาที่กำหนด เป็นต้น
2. ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล (นายจ้าง) สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมาย ตามกฏหมายว่าด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน และกฎหมายว่าด้วยเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งได้จ่ายเงินเดือนให้แก่บุคคลธรรมดาที่เดินทางกลับเข้ามาทำงานในประเทศ โดยให้หักรายจ่ายเงินเดือนตามสัญญาจ้างแรงงานของลูกจ้างซึ่งมีคุณสมบัติตามที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนดที่จ่ายไประหว่างวันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธ.ค. 72 ได้ 1.5 เท่า (ปกติหักได้ 1 เท่า) และนายจ้างจะต้องแจ้งชื่อผู้มีเงินได้ที่เป็นลูกจ้างซึ่งจะใช้สิทธิลดอัตราภาษีดังกล่าวให้แก่กรมสรรพากรทราบด้วย
3. มาตรการภาษีดังกล่าวมีกำหนดระยะเวลาดำเนินการ ดังนี้
- มาตรการมีผลใช้บังคับวันถัดจากวันที่กฎหมายประกาศในราชกิจจานุเบกษา
- ผู้เข้าร่วมมาตรการภาษีดังกล่าวจะต้องเดินทางกลับเข้าประเทศไทยตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธ.ค. 68
- ผู้เข้าร่วมมาตรการภาษีดังกล่าวสามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีได้ตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธ.ค. 72
4. นอกจากนี้กระทรวงการคลังยังได้มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการประชาสัมพันธ์มาตรการภาษี ในการสนับสนุนคนไทยที่มีศักยภาพที่ทำงานในต่างประเทศให้กลับเข้ามาทำงานในประเทศผ่านสถานเอกอัครราชทูตไทยในต่างประเทศ และมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกประชาสัมพันธ์ให้บริษัทที่ประกอบกิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมายรับทราบรายละเอียดของมาตรการนี้ด้วย
5. กระทรวงการคลังได้รายงานประมาณการการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ ตามมาตรามาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐพ.ศ. 2561 แล้วโดยคาดการณ์ว่า
- กรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะไม่ก่อให้เกิดการสูญเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มที่ทำงานอยู่ในต่างประเทศและไม่เคยเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับประเทศไทย ดังนั้นการดำเนินมาตรการนี้อาจเป็นการเพิ่มการจัดเก็บรายได้ให้แก่รัฐบาล
- กรณีภาษีเงินได้นิติบุคคล คาดว่าจะสูญเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลประมาณ 120 ล้านบาท จากการคาดการณ์ว่าจะมีคนไทยที่มีศักยภาพที่ทำงานในต่างประเทศกลับเข้ามาทำงานในประเทศจำนวนประมาณ 500 คน
อย่างไรก็ตาม มาตรการภาษีดังกล่าวจะช่วยดึงดูดคนไทยที่มีศักยภาพสูงและมีความเชี่ยวชาญในสาขาตามความต้องการในอุตสาหกรรมเป้าหมายให้กลับเข้ามาทำงานในประเทศเพิ่มมากขึ้น ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน กระตุ้นให้เกิดการลงทุน และการจ้างงานในอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม และนอกจากนี้ยังเป็นการเตรียมความพร้อมบุคลากรในอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อให้สอดรับกับวิสัยทัศน์ประเทศไทยตามนโยบายของรัฐบาล Thailand Vision “IGNITE Thailand”