“เกิดเป็นคนอีสานทั้งจน ทั้งเจ็บ” ประโยคนี้เราได้ยินกันอยู่บ่อยครั้งเมื่อพูดหรือนึกถึงคนอีสาน ได้ยินแล้วก็น้อยเนื้อต่ำใจอยู่ไม่น้อย แล้วใครมันจะอยากเกิดมาจนกันล่ะ! ก็เราเลือกไม่ได้ว่าจะเกิดเป็นคนภาคไหน เป็นคนรวยหรือคนจนเมื่อเกิดมาแล้วก็ต้องดิ้นรนมีชีวิตกันไป แต่จะบอกให้เราดิ้นรนเพื่อหนีความยากจนด้วยตัวเองก็ดูจะใจร้ายเกินไปในเมื่อรัฐสามารถช่วยทำให้ความจนออกไปจากชีวิตของประชาชนได้ ที่ถึงแม้จะดูเหมือนไม่ค่อยสำเร็จและเหมือนจะแย่ลงไปอีกก็ตาม ถึงอย่างนั้นรัฐก็ยังเป็นส่วนสำคัญและเป็นส่วนหลักในการแก้ไขปัญหานี้อยู่ดี
ในปี 2540 ที่ประเทศไทยประสบปัญหาวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง ทำให้มีคนยากจนเพิ่มขึ้นถึง 9.9 ล้านคนในเวลา 3 ปี จากในปี 2539 ที่มีอยู่ 6.8 ล้านคน พุ่งขึ้นเป็น 15.9 ล้านคนในปี 2542 ปัจจุบันประชากรยากจนมีจำนวน 11.4 ล้านคน อ้างอิงจากข้อมูลในปี 2566 ที่มีการลงทะเบียนกับรัฐ (บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ) และอีกกลุ่ม คือกลุ่มยากจนที่วัดจากดัชนี MPI ซึ่งสะท้อนค่า GDP ภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะที่มีจำนวน 4.4 ล้านคน โดยอาชีพที่ยากจนมากที่สุด 3 อันดับ ได้แก่ เกษตรกร/ประมง เป็นอันดับที่หนึ่ง รองลงมาเป็นอาชีพงานบริการ และงานก่อสร้าง ตามลำดับ
อีสานได้ฝากชีวิตกับนโยบายแก้จนมามากกว่า 20 ปี ภาคอีสานมีประชากรอยู่ที่ราว 21 ล้านคน และส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรเป็นหลัก ซึ่งหากเราดูจากข้อมูลอาชีพที่ยากจนที่สุดก็คือเกษตรกร ซึ่งคงจะกล่าวได้ว่าอีสานเป็นหนึ่งในภาคที่มีคนยากจนอยู่ไม่น้อย จากข้อมูลของ TPMAP จังหวัดที่มีคนจนมากที่สุดในภาคอีสาน คือ จังหวัดอุดรธานีและบุรีรัมย์ โดยความยากจนในที่นี้จะขอนิยามตาม 5 มิติด้วยกันคือ 1. มิติที่จัดเก็บข้อมูลเพื่อสำรวจว่ามีคนจนอยู่ในที่ใดบ้างและมีปัญหาในมิติใด ซึ่งหลัก ๆ แล้วมีอยู่ 5 มิติ คือ 1. ด้านสุขภาพ 2. ด้านความเป็นอยู่ 3. ด้านการศึกษา 4. ด้านรายได้ 5. ด้านการเข้าถึงบริการรัฐ
จาก 1 คนอาจไม่ได้จนเพราะปัญหาด้านเดียว ผู้เขียนอยากว่า เหตุใดสองจังหวัดที่มีคนจนมากที่สุดในภาคอีสานก็ล้วนเป็นจังหวัดใหญ่ที่มีเรื่องเด่นทั้งสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงาม งบฯในการพัฒนาจังหวัดจำนวนไม่น้อยเลย เมื่อลองไปเปิดรายการงบประมาณระดับกลุ่มจังหวัดดูแล้วทั้งสองจังหวัดมีงบฯอยู่ที่จังหวัดละหมื่นล้านบาทจะเป็นงบฯที่ใช้พัฒนาทั้งตัวจังหวัดในทุก ๆ ด้านก็ยังถือเป็นตัวเลขที่มากและดูเหมือนว่าจะเพียงพอต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในจังหวัดได้อย่างดีเลยทีเดียว เป็นหนึ่งในห้าจังหวัดที่มีคนจนมากที่สุดในประเทศโดยจังหวัดอุดรธานีอยู่อันดับที่ 3 และบุรีรัมย์อยู่อันดับที่ 5
หากให้พูดกันตามความรู้สึกของผู้เขียนแล้ว ภาคอีสานอาจจะไม่ใช่ภูมิภาคที่น่าโปรดปรานหรือเป็นจุดมุ่งหมายของใครหลาย ๆ คนอาจจะเป็นเพราะภาพจำความห่างไกล ความยากลำบาก ภูมิภาคที่เต็มไปด้วยนาข้าว ความแห้งแล้งกันดาร ทำให้คนไม่อยากมาท่องเที่ยว นักธุรกิจไม่อยากมาลงทุนในภูมิภาคนี้สักเท่าไร ด้วยเหตุนี้ทำให้เกิดปัญหาการกระจายตัวของความเจริญที่นำมาสู่ปัญหาอีกมากมายตามมา เช่น การกระจุกตัวของรายได้ การแออัดของประชากรในเมืองหลวง ทำให้ไม่ว่าจะอยู่แห่งหนตำบลใดก็จะต้องกระเสือกกระสนพาตัวเองเข้าหาความจะเจริญให้ได้ เพื่อที่จะได้มีเงินให้พอได้กินอิ่มและมีที่ให้ได้นอนหลับ
แล้วในเมื่อเรามีงบในการพัฒนาจังหวัดมากถึงหมื่นล้านบาท แต่ทำไมประชาชนถึงยังต้องดิ้นรนเข้ามาขายแรงงานในกรุงเทพฯ หรือแม้แต่ในนิคมอุสาหกรรมต่าง ๆ ด้วย คำตอบก็ยังคงวนไปที่ในเมื่อจังหวัดไม่ได้มีงานรองรับและค่าตอบแทนก็ไม่คุ้มกับการใช้แรง จึงทำให้ชาวอีสานที่เป็นเกษตรกรเมื่อทำการหว่านพืชผลในฤดูกาลเสร็จแล้ว ก็พากันนั่งรถเข้ามาในเมืองเพื่อเป็นแรงงานก่อสร้าง เป็นพ่อค้าแม่ค้า หรืองานรับจ้างอื่น ๆ ที่พอจะได้เงินไปจุนเจือครอบครัวที่ต่างจังหวัด
เราอาจจะคิดว่าการกระจายตัวของความเจริญเป็นส่วนหนึ่งของการทำให้ความยากจนนั้นหมดไป ซึ่งนั่นก็เป็นสิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นเพื่อให้ทุกพื้นที่ได้มีความเจริญอย่างเท่าเทียมกันได้ หากจะบอกภาคอีสานไม่เหมาะกับการพัฒนามาเป็นพื้นที่เศรษฐกิจเท่ากับภาคอื่น ๆ ผู้เขียนมองว่าถ้าอย่างนั้นเราควรจะยกระดับรายได้ของอาชีพที่มีความยากจนมากที่สุดให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตและรายได้ที่ดีขึ้นกว่านี้จะดีกว่าหรือไม่
การทำการเกษตรในประเทศนี้ค่อนข้างที่จะต้องอาศัยดวงอยู่พอสมควรตรงที่เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าปีนี้จะได้ผลผลิตจำนวนเท่าไร และขายได้ราคาเท่าไร ชาวนาในภาคอีสานปลูกข้าวกันเป็นจำนวนมากแต่ราคาข้าวที่ขายได้กลับไม่ได้ช่วยให้พวกเขามีเงินหรือความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นเลย
จากรายงานปี 2566 ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์พบว่าธนาคารมีลูกหนี้ที่เข้าข่ายความเปราะบางจนต้องติดตามอย่างใกล้ชิดถึง 300,000 ล้านบาท เป็นกลุ่มที่มีหนี้เสียถึง 10,000 ล้านบาท แบ่งเป็นหนี้เก่า 5,000 ล้านบาทและหนี้ใหม่อีก 5,000 ล้านบาททำให้ในเดือนมีนาคมปี 2566 มีปริมาณหนี้เสียมากถึงร้อยละ 7.68 จากจำนวนหนี้ธกส. ทั้งหมด
จากความแห้งแล้งสู่การดิ้นรนหาแหล่งน้ำเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตของกลุ่มคนที่เป็นแรงงานจำนวนมากที่อยู่ทั่วทุกมุมเมืองของประเทศและในต่างประเทศ ไม่ว่าคนอีสานจะถูกมองผ่านกรอบแว่นแบบใดเราก็หนีความจริงที่ว่าเรายังเป็นภูมิภาคที่ไม่ถูกคิดถึง ไม่ถูกเลือกให้เป็นภูมิภาคที่น่าพัฒนาทั้งจากสายตาของคนในประเทศหรือแม้แต่ภาครัฐเองก็ตาม
เราเคยเห็นการออกนโยบายที่จะช่วยลดความยากจนและความเหลื่อมล้ำอยู่มากมายจากในหลาย ๆ รัฐบาลที่เด่น ๆ และคงเป็นที่จดจำกันได้คงจะเป็นนโยบายในรัฐบาลคุณทักษิณ ชินวัตร หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ นโยบายกองทุนหมู่บ้าน หรือจะเป็นนโยบายในสมัยของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน) เราเห็นถึงความพยายามที่ภาครัฐอยากจะช่วยกำจัดความยากจนให้กับประชาชนแต่มันคือการลดหรือเพิ่มความเหลื่อมล้ำให้มากขึ้นกันแน่ เพราะถ้าคุณลงทะเบียนเพื่อขอรับสวัสดิการจากรัฐคุณก็ยังต้องพิสูจน์ตัวเองให้ได้ก่อนว่าคุณจนจริงหรือเปล่า
ลองกลับมาทบทวนตัวนโยบายที่ทางรัฐพยายามจะช่วยประชาชนก็ยังมีข้อสงสัยและต้องตั้งคำถามอีกมากมาย เช่น การส่งเสริมให้มีหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์เกิดขึ้นก็ดูจะเป็นสิ่งที่ดีเพราะช่วยทำให้คนในพื้นที่มีรายได้ทั้งจากการเป็นผู้ผลิตและผู้ขาย แต่ถ้ามามองกันในเชิงของการตลาด เราทำสินค้าออกมาได้ตอบโจทย์การใช้งานของคนในประเทศหรือไม่ อย่างในยุคสมัยก่อนสินค้าบางอย่างก็ดูจะไม่เข้ากับไลฟ์สไตล์คนในประเทศสักเท่าไร เช่น ผ้าไหม ที่เมื่อก่อนหากมีใครสักคนหยิบผ้าไหมขึ้นมาสวมใส่ก็คงถูกมองว่าเป็นคนบ้านนอก เป็นคนไม่ทันสมัย แล้วถ้าตัดภาพมาในปัจจุบันในยุคสมัยนี้การที่จะหยิบจับผ้าไหมมาแมตช์กับเสื้อผ้าหรือการแต่งตัวได้ง่ายมากกว่า อาจด้วยดีไซน์ การแปรรูปออกมาสามารถหยิบจับมาใช้ได้ง่ายขึ้นทั้งกระเป๋า ผ้าพันคอ
และด้วยโลกที่เปลี่ยนไปเรายังคงพยายามที่จะส่งเสริมและผลักดันสิ่งเหล่านี้อยู่เหมือนเดิม แต่เปลี่ยนวิธีการใหม่ด้วยการทำให้สินค้าที่เป็นของขึ้นชื่อของประเทศเป็นหนึ่งใน Soft Power ของไทยให้ได้ เพื่อจะได้เป็นการส่งเสริมภูมิปัญญา งานฝีมือของคนที่ไทย หรือแม้แต่ภาคการเกษตรที่ภาครัฐต้องเข้ามาผลักดัน สนับสนุนเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรให้เหมาะสมเป็นหลักประกันให้กับสันหลังของชาติ เพื่อนำไปสู่การลดปัญหาความยากจนทั้ง 5 มิติที่เกิดขึ้น ผลักดันให้เกิดการกระจายความเจริญและรายได้เพื่อลดความแออัด สร้างการมีส่วนร่วมและเปิดเผยข้อมูลให้สามารถตรวจสอบ เข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับการใช้งบประมาณของจังหวัดได้อย่างง่ายลดช่องว่างในการคอร์รัปชันงบประมาณจังหวัดไปใช้ในส่วนที่ไม่จำเป็นได้มากขึ้น
สุดท้ายคงได้แต่หวังว่าสักวันนโยบายที่เคยออกมาแล้วจะสามารถนำมาปรับใช้เพื่อให้คุณภาพชีวิตของคนในทุกตำบลได้มีรายได้มากพอ ไม่ใช่นโยบายเพื่อคนอีสานอย่างเดียวแต่เป็นประชาชนทั้งประเทศที่ไม่ว่าจะกี่ยุคกี่สมัยนโยบายที่ใช้หาเสียงก็หนีไม่พ้นเรื่องปากท้อง เรื่องแก้ปัญหาความยากจน ให้คนไทยมีกิน มีใช้ มีศักดิ์ศรี อย่างที่เขาเคยพูดกัน สร้างคุณภาพชีวิตและคุณภาพจิตที่ดีสำหรับการมีชีวิตในประเทศนี้ต่อไป
อ้างอิง:
- ชุติมณฑน์ ยั่งยืน, เศรษฐศาสตร์สถาบันว่าด้วยการกำกับดูแลโดยรัฐและการติดกับดักปรแทศรายได้ปานกลาง, [สืบค้นเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2567]
- ไทยรัฐ, เปิดจักวาล.“คนจน” เมื่อคนไทย 1 คนจนมากกว่าที่คิด “เส้นยากจน” วัดกันอย่างไร, [สืบค้นเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2567]
- รายการจัดสรรงบประมาณระดับกลุ่มจังหวัด, [สืบค้นเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2567]
- ภาพรวมคนจนในปี 2566, Thai People Map and Analytics Platform – TPM★P (tpmap.in.th), [สืบค้นเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2567]
- THE ISAAN RECORD, คนจนมีสิทธิ์ไหมคะ ส่องความจนคนอีสาน หนี้ครัวเรือนสูงสุดในประเทศ แก่ใกล้ตายยังใช้หนี้ไม่หมด, [สืบค้นเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2567]
- รายงานของผู้สอบบัญชีและงบการเงินธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ สำหรับสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2566 สำนักงานตรวจการเงินแผ่นดิน, www.baac.or.th, [สืบค้นเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2567]