การประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Conference of Parties: COP) คือ การประชุมผู้นำโลกที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีเป็นเวทีที่เน้นการกำเนินการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศ ของภาคีอนุสัญญากรอบสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UN Framework Convention on Climate Change-UNFCCC)
ซึ่งปัจจุบันจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 28 หรือ COP28 ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน ถึง 12 ธันวาคม 2566 ซึ่งยึดมั่นเป้าหมายเดิมตามข้อตกลงปารี 2015 คือการลดอุณหภูมิโลกให้ต่ำลง และไม่สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส
Policy Watch ชวนดูข้อสรุปที่เกิดขึ้นในเวที COP26 และ 27 รวมถึงจุดยืนของประเทศไทยในการแสดงความร่วมมือเพื่อนำไปสู่เป้าหมายการลดอุณหภูมิโลก ซึ่งล้วนมีผลสืบเนื่องต่อมายังเวที COP28 โดยเฉพาะเป้าหมายในการลดอุณหภูมิโลกและการจัดตั้งกองทุน Loss and Damage Fund
COP26 ข้อตกลง Glasgow Climate Pact ที่ได้แค่ ‘ลด’ ไม่ใช่ ‘เลิก’
COP26 จัดขึ้นที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ (วันที่ 31 ตุลาคม – 12 พฤศจิกายน 2564) ที่มีผู้นำทั่วโลกเข้าร่วมเกือบ 200 ประเทศ ซึ่งการประชุมครั้งนี้มีการขยายเพิ่มเวลา 1 วัน กระทั่งได้ข้อสรุปออกมาเป็นการตกลง Glasgow Climate Pact สำหรับประเทศไทย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเดินทางไปประชุมด้วยตนเอง มีข้อสรุป ดังนี้
- การผลักดันให้ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เพื่อควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส (ภายใต้ข้อตกลงปารีส เมื่อปี พ.ศ.2558 ประเทศต่าง ๆ ถูกขอให้สร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อรักษาอุณหภูมิของโลกไม่ให้เพิ่มเกิน 2 องศาเซลเซียส และให้พยายามตั้งเป้าไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส)
- ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2030 (พ.ศ 2573) โดยมีเป้าหมาย คือ การลดการปล่อยคาร์บอนจนกระทั่งถึงเป้าหมายเป็นศูนย์ภายใน 2050 (พ.ศ.2593)
- ข้อตกลงได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นที่กลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ต้องเพิ่มเงินช่วยเหลือกับประเทศที่ได้รับความเดือดร้อนจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ให้สูงกว่าเป้าหมายปัจจุบันที่ 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในการปรับตัวและรับมือ
- จอห์น เคอร์รี ผู้แทนพิเศษด้านสิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกา ประกาศว่า สหรัฐฯ ร่วมมือกับประเทศจีน สนับสนุนความสำเร็จของการประชุมในครั้งนี้ และทั้งสองประเทศจะทำงานร่วมกันเพื่อป้องกันไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงกว่า 1.5 องศาเซลเซียส ขณะที่หัวหน้าคณะผู้เจรจาของจีน แถลงในทิศทางเดียวกัน ว่าจีนจะยกระดับความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมกับสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดการปล่อยก๊าซมีเทน และยุติการตัดไม้ทำลายป่า
- จุดยืนประเทศไทย โดย พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวบนเวทีว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญสูงสุดกับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยไทยตั้งเป้าบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนให้ได้ภายในปี 2050 (พ.ศ.2593) ส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์จะทำให้ได้ภายในปี 2065 (พ.ศ.2608)
พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า ไทยให้ความสำคัญอย่างมากกับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และพร้อมร่วมมือกับทุกประเทศ ทุกภาคส่วน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายสำคัญของโลกและเพื่ออนาคตของลูกหลาน ขณะที่ปี พ.ศ.2562 ไทยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 17% หลังจากตั้งเป้าลดให้ได้อย่างน้อย 7% ภายในปี พ.ศ.2563 ซึ่งเร็วกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ถึง 2 เท่า หลังให้สัตยาบันเป็นภาคีของความตกลงปารีส เมื่อปี พ.ศ.2558
พร้อมกับประกาศเจตนารมณ์ว่า “ไทยพร้อมยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่ เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี 2065 โดยในตอนท้ายของการประชุม นายกฯ ยังเรียกร้องให้ทุกประเทศร่วมกันดูแลรักษาโลก ไทยให้ความสำคัญอย่างมากกับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และพร้อมร่วมมือกับทุกประเทศ ทุกภาคส่วน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายสำคัญของโลกและเพื่ออนาคตของลูกหลาน”
อย่างไรก็ตามข้อตกลงดังกล่าว ไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย แต่ก็เป็นการกำหนดแนวทางและเป้าหมายเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิในช่วง 10 ปีข้างหน้า
COP27 กองทุนชดเชย ความเหลื่อมล้ำทางสภาพภูมิอากาศ
COP27 ที่จัดขึ้นที่ เมืองชาร์มเอลชีค ประเทศอียิปต์ (วันที่ 6 – 18 พฤศจิกายน 2565) โดยประเทศไทยมี วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นตัวแทนในฐานะผู้นำประเทศเข้าร่วม การประชุมครั้งนี้เป็นการหารือถึงแนวทางเรียกร้องให้ทั่วโลกร่วมมือกันอย่างจริงจังในการลดการแพร่กระจายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งการประชุมครั้งนี้ มุ่งประเด็นข้อตกลงเกี่ยวกับการจัดตั้งกองทุนเพื่อชดเชย “ความสูญเสียและเสียหาย” (Loss and Damage Fund) ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนและภัยพิบัติที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้น
เหตุผลของการตกลงสร้างกองทุน Loss and Damage มาจากการความเห็นที่ว่าผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ซ้ำเติมให้เกิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศร่ำรวยและประเทศยากจน เนื่องจากประเทศที่ร่ำรวยได้รับประโยชน์ในภาคพลังงานที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงที่เป็นตัวเร่งก่อให้เกิดภาวะโลกรวน ขณะที่ประเทศยากจนต้องแบกรับผลกระทบจากมลพิษที่เกิดจากเชื้อเพลิงฟอสซิลซึ่งเป็นตัวเร่งก่อให้เกิดภาวะโลกรวนโดยที่ไม่ได้รับประโยชน์ เช่น ภัยธรรมชาติ น้ำท่วม ภัยแล้ง นำไปสู่วิกฤตความมั่นคงทางอาหาร มีข้อสรุปจากเวที ดังนี้
- จัดตั้งกองทุนช่วยเหลือกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภาวะโลกรวน (Loss and Damage fund)
- แต่ยังไม่มีรายละเอียดและเกณฑ์ในการจัดตั้งกองทุน ที่มาของเงินในกองทุน และรายละเอียดการจัดสรรให้กับกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งจะมีการหารือรายละเอียดในการประชุม COP28
- โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ เตือนว่าโลกกำลังจะเผชิญหัวเลี้ยวหัวต่อในการต่อสู้กับวิกฤตโลกรวน และให้คำมั่นว่าสหรัฐฯ จะทำตามเป้าหมายการลดโลกร้อนภายในปี 2030 รวมทั้งกล่าวขอโทษต่อการถอนตัวจากข้อตกลงปารีสของอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯและย้ำถึงการนำพาสหรัฐฯ กลับเข้าสู่ข้อตกลงดังกล่าวทันทีเมื่อตนเองเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี พร้อมเผยแผนการรับมือโลกร้อนซึ่งเป็นมาตรการชุดใหม่ที่จัดทำขึ้นเพื่อการตัดลดการปล่อยก๊าซมีเทนในสหรัฐฯ สนับสนุนระบบการเตือนภัยภัยพิบัติล่วงหน้าในแอฟริกา และข้อตกลงสนับสนุนโครงการพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมในอียิปต์ แลกกับการให้อียิปต์เลิกใช้โรงไฟฟ้าพลังงานแก๊สและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
- จุดยืนประเทศไทย วราวุธ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ร่วมกล่าวถ้อยแถลงแสดงจุดยืนของไทยในการมีส่วนร่วมกับประชาคมโลกเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการปรับปรุงยุทธศาสตร์ระยะยาวฯ และการยกระดับเป้าหมาย NDC ค.ศ. 2030 เพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2065 ในทุกสาขา ควบคู่กับการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม การดำเนินความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อถ่ายโอนผลการลดก๊าซเรือนกระจกระหว่างประเทศภายใต้ความตกลงปารีส การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางสำคัญในการจัดทำแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติเพื่อเสริมภูมิคุ้มกันให้กับประชาชน รวมทั้งเน้นย้ำการส่งเสริมโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Economy Model) ซึ่งเป็นผลลัพธ์ที่สำคัญของการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค เพื่อบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ และนำไปสู่การเติบโตที่ยั่งยืน
————————
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- https://www.thaipbs.or.th/news/content/309682
- https://www.thaipbs.or.th/news/content/309258
- https://dxc.thaipbs.or.th/news_update/cop-27-%E0%B8%88%E0%B8%B8%E0%B8%94%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%81%E0%B9%89%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%99/
- https://dxc.thaipbs.or.th/news_update/%E0%B9%82%E0%B8%88-%E0%B9%84%E0%B8%9A%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%99-cop27/
- https://www.thaipbs.or.th/news/content/309578