ภัยแล้งในไทยมักเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวต่อเนื่องจนถึงฤดูร้อน และในช่วงกลางฤดูฝน เนื่องจากฝนทิ้งช่วง ซึ่งสร้างผลกระทบต่อการเพาะปลูกพืชของภาคเกษตรกร และความเป็นอยู่ของประชาชนจากการขาดแคลนน้ำในการอุปโภคบริโภค
ปี 67 เอลนีโญแผลงฤทธิ์ คาดไทยฝนตกน้อยลง
ในปี 2567 คาดการณ์ว่าประเทศไทย จะเผชิญกับภาวะเอลนีโญอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อุณหภูมิสูงขึ้นและคลื่นความร้อนรุนแรงขึ้น เนื่องจากน้ำอุ่นในมหาสมุทรแปซิฟิกโดยเฉพาะแถบเส้นศูนย์สูตรอุ่นขึ้น และไหลไปทางตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิก (ฝั่งทวีปอเมริกาใต้) ทำให้กระแสลมนำพาอากาศร้อนและแห้งไปยังแถบตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก (ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) มากขึ้น และส่งผลให้ประเทศไทยเผชิญอุณหภูมิที่สูงกว่าค่าปกติ
โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังปี 2567 วิจัยกรุงศรี มองว่า ไทยจะเจอกับภาวะฝนทิ้งช่วง ซึ่งจะส่งผลให้ช่วงเดือน มิ.ย. ถึง ก.ค. 2567 ประเทศไทยมีระยะเวลากักเก็บน้ำในช่วงฤดูฝนสั้นลง และพื้นที่แล้งซ้ำซากบริเวณนอกเขตชลประทานอาจขาดแคลนน้ำใช้สำหรับทำการเกษตร
ปัญหาด้านน้ำอุปสรรคใหญ่ฉุดรายได้ประเทศ
รายงานจากธนาคารโลก (World) ปี 2566 ระบุว่า ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนา แต่ในการที่จะบรรลุเป้าหมายการเป็นประเทศที่มีรายได้สูงในปี พ.ศ. 2580 นั้น จำเป็นต้องมีการดำเนินการตามแนวทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง และมีความครอบคลุมมากขึ้น โดยปัญหาสำคัญ 3 ประการในด้านน้ำ ที่ได้ระบุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาไปสู่สถานะประเทศที่มีรายได้สูง ประกอบด้วย
ปัญหาด้านการบริหารจัดการอุทกภัยและภัยแล้ง อุทกภัยเป็นภัยธรรมชาติที่ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคมต่อประเทศไทยมากที่สุด โดยอุทกภัยในปี พ.ศ.2544 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 680 ราย ส่งผลกระทบต่อประชาชนเกือบ 13 ล้านคน สร้างความเสียหายและความสูญเสียต่อเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่าประมาณ 1.43 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 12.6% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี)
ทั้งนี้อุทกภัยและภัยแล้งยังสร้างความเสียหายให้กับประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยอุทกภัยที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงในเดือน ต.ค. ปี พ.ศ. 2565 ส่งผลให้รัฐบาลมีการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อบรรเทาผลกระทบ 23,000 ล้านบาท ในขณะที่งบประมาณที่จัดสรรสำหรับการบริหารจัดการน้ำในแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบมี 22,556 ล้านบาท (619 ล้านเหรียญสหรัฐ) นอกจากนี้การดำเนินมาตรการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังคงมีความจำเป็นสำหรับการลดปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง
ปัญหาการเข้าถึงน้ำประปาและสุขาภิบาลในพื้นที่ขาดแคลน ระดับการเข้าถึงน้ำประปาขั้นพื้นฐานใกล้เคียง 100% แต่ประชากรราว 8.25 ล้านคน ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบท และเมืองเล็ก ๆ ยังคงไม่มีน้ำประปาใช้ และชุมชนในชนบทบางแห่งยังต้องพึ่งพาแหล่งน้ำดื่มที่ไม่ถูกสุขอนามัย หากไทยต้องการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) เป้าหมายที่ 6 และสามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นประเทศเศรษฐกิจหลัก หรือ ประเทศที่มีรายได้สูงในระยะเวลาอันใกล้นั้น จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขโดยด่วน
นอกจากนี้การสุขาภิบาลและการบำบัดน้ำเสียในเขตเมืองก็มีความสำคัญอย่างมาก ซึ่งต้องใช้วิธีการเฉพาะในการแก้ปัญหา ตั้งแต่กระบวนการในการกักเก็บไปจนถึงการบำบัด ขณะที่น้ำเสียในไทยที่ได้รับการบำบัดก่อนระบายคืนสู่ธรรมชาติมีเพียง 15-30% เท่านั้น
ปัญหาผลิตภาพของการใช้น้ำอยู่ในระดับต่ำ ผลิตภาพของการใช้น้ำของประเทศไทยอยู่ในระดับต่ำเมื่อเปรียบเทียบจีดีพี ต่อหน่วยการใช้น้ำในประเทศเพื่อนบ้าน โดยประมาณการอยู่ที่ 3.6 ดอลลาร์สหรัฐต่อน้ำ 1 ลูกบาศก์เมตร ในขณะที่ประเทศในกลุ่มอาเซียนอยู่ที่ 117.3 ดอลลาร์สหรัฐต่อน้ำ 1 ลูกบาศก์เมตร ส่วนใหญ่เกิดจากาการใช้น้ำอย่างไม่มีประสิทธิภาพในสาขาต่าง ๆ ที่มีการใช้น้ำจำนวนมาก โดยเฉพาะภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม และภาคท่องเที่ยว ซึ่งพื้นที่ที่มีผลิตภาพของการใช้น้ำต่ำที่สุดอยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำโขง คิดเป็น 36% ของพื้นที่ประเทศไทย 32% ของประชากร และ 12% ของจีดีพี
ความท้าทายการจัดการน้ำในไทย 3 ประการ
1. การบริหารจัดการอุทกภัยและภัยแล้งที่ไม่เพียงพอ ความท้าทายที่สำคัญ คือ
- การระบายน้ำออกจากพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยเฉพาะในช่วงน้ำขึ้น รวมทั้งการร่วมมืออย่างมีประสิทธิภาพระหว่างหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในการพยากรณ์ การเตรียมความพร้อม และการรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว ซึ่งการประเมินความต้องการหลังเกิดสาธารภัยในปี พ.ศ.2554 แสดงให้เห็นว่า ปัจจัยด้านโครงสร้างพื้นฐานเสื่อมสภาพ และการเลื่อน การบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานด้านชลศาสตร์ออกไป เป็นสาเหตุหลักทำให้เกิดความเสียหายในโครงสร้าง และการพังของผนังกั้นน้ำตามแนวแม้น้ำเจ้าพระยา ภัยแล้งที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในช่วงระหว่างปี พ.ศ.2561-2563 เป็นหนึ่งในภัยแล้งที่รุนแรงที่สุดในรอบ 40 ปี ที่ผ่านมา ตามรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยาของประเทศไทยในภาพรวม
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดภัยแล้ว และภูมิภาคดังกล่าวมีโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการกักเก็บน้ำในการรับมือกับภัยแล้ง และอุทกภัยที่จำกัด
2. การเข้าถึงน้ำประปาและสุขาภิบาลที่ไม่ทั่วถึงในพื้นที่ขาดแคลน โดยสัดส่วนของครัวเรือนในเขตเมืองที่ไม่สามารถเข้าถึงน้ำประปามีเพียง 3.3% แต่ในเขตชนบทมีมากถึง 12.8% ซึ่งการเข้าถึงน้ำประปาจะแตกต่างกันไปตามภูมิภาค ตั้งแต่การเข้าถึงอย่างทั่วถึงในเขตกรุงเทพฯ ไปจนถึงการเข้าถึง 83% ในภาคใต้ และการเข้าถึง 88% ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยประมาณการประชากร 3.5 ล้านครัวเรือน หรือ 8.25 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 11.5% ของประชากรทั้งหมด ไม่สามารถเข้าถึงระบบประปาได้
เนื่องจากอัตราค่าน้ำประปาของการประปานครหลวง และการประปาส่วนภูมิภาค ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมาเป็นเวลานานกว่า 23 ปี และ 10 ปี ตามลำดับ แสดงให้เห็นว่าไม่มีการปรับอัตราค่าน้ำประปาให้สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อ และค่าดำเนินการ ค่าบำรุงรักษาที่เพิ่มขึ้น
หากไทยต้องการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) เป้าหมายที่ 6 และสามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นประเทศเศรษฐกิจหลัก หรือประเทศที่มีรายได้สูงในระยะเวลาอันใกล้นั้น จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขด่วนในด้านสุขาภิบาล สิ่งปฏิกูล ทั้งในกรุงเทพฯ ประมาณ 70% และเกือบทั้งหมดในเมืองเล็ก ๆ จะถูกรวบรวมผ่านระบบำบัดน้ำเสีย
อย่างไรก็ตาม ไทยยังไม่มีการบังคับใช้รถขนถ่ายกากตะกอน เพื่อลำเลียงไปยังโรงบำบัดที่เหมาะสม ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือ มีน้ำเสียเพียง 15-30% ของปริมาตรทั้งหมดที่ได้รับการบำบัด และสิ่งปฏิกูลส่วนใหญ่จะไม่ได้รับการบำบัด จึงมีความจำเป็นต้องควบคุม ตรวจสอบ และบังคับใช้ให้ครอบคลุมบริการด้านสุขาภิบาลทั้งหมด ตั้งแต่กระบวนการกักเก็บไปจนถึงการบำบัด นอกจากนี้ยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่าภาษีผู้บริโภค หรือภาษีใด ๆ มีการสะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริงของการให้บริการจัดการน้ำเสีย ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับการคืนทุน และการขยายการให้บริการดังกล่าว
3. ผลิตภาพของการใช้น้ำที่อยู่ในระดับต่ำ ไทยมีผลิตภาพของการใช้น้ำอยู่ในระดับต่ำเมื่อเปรียบเทียบจีดีพี ต่อหน่วยการใช้น้ำกับประเทศเพื่อนบ้าน ประมาณการอยู่ที่ 3.6 ดอลลาร์สหรัฐต่อน้ำ 1 ลูกบาศก์เมตร ในขณะที่กลุ่มอาเซียนอยู่ที่ 117.3 ดอลลาร์สหรัฐต่อน้ำ 1 ลูกบาศก์เมตร
นอกจากนี้ในภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย มีสัดส่วน 80% ของผลผลิตทางการเกษตรทั้งหมดใช้น้ำฝนในการทำการเกษตร และทั้งสองภูมิภาคนี้ยังมีอัตราการเข้าถึงระบบชลประทานต่ำที่สุดในประเทศ ซึ่งในภาคใต้มีเพียง 10% ของครัวเรือนเกษตรกร และในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมี 13% เท่านั้น ที่เข้าถึงระบบชลประทาน
ปัญหาดังกล่าว ไม่เพียงทำให้ผลิตภาพของการใช้น้ำต่ำ แต่ยังจำกัดความสามารถในการเพิ่มรายได้ของเกษตรอย่างมาก เนื่องจากเป็นการจำกัดให้ปลูกพืชได้เฉพาะฤดูฝน และเป็นอุปสรรคต่อการปลูกพืชที่มีความหลากหลายและมีมูลค่าสูง ทำให้เกษตรกรเหล่านี้มีความเสี่ยงต่อผลกระทบด้านราคา และความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ
แนวทางบริหารจัดการน้ำเชิงนโยบายฉบับเวิลด์แบงก์
1. การบริหารจัดการอุทกภัย
ดำเนินการทบทวนการออกแบบและตรวจสอบความปลอดภัยของโครงสร้างพื้นฐานในการป้องกันอุทกภัยที่สำคัญ และลงทุนขยายโครงสร้างพื้นฐานในเมืองสำคัญ ได้แก่ นครราชสีมา กรุงเทพฯ และนครสวรรค์ โดยฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานด้านชลศาสตร์ ปัจจุบันมีการศึกษาความเป็นไปได้ของคลองระบายน้ำที่มีความสำคัญร่วมกับกรมชลประทาน และอยู่ระหว่างการจัดหาแหล่งเงินทุน
ทั้งนี้มีความจำเป็นต้องปรับปรุงการออกแบบบางประการ เพื่อให้ทนต่อผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ดีขึ้น เพิ่มงบประมาณในการบำรุงรักษาและฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐาน เนื่องจากงบประมาณที่ใช้ในการบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานด้านชลศาสตร์มีเพียงประมาณ 4% ของงบประมาณในด้านการจัดการทรัพยากรน้ำทั้งหมด
2. การบริหารจัดการน้ำประปา
- จัดทำแผนแม่บทน้ำประปาในระดับท้องถิ่น เพื่อระบุความจำเป็นในการลงทุนให้สามารถเข้าถึงน้ำประปาได้อย่างทั่วถึง และเพิ่มการลงทุนภาครัฐในพื้นที่ที่ยังไม่ครอบคลุมเพียงพอ โดยจัดลำดับความสำคัญของหมู่บ้านที่จะทำให้เกิดผลกระทบจากการลงทุนสูงสุด ตามหลักเกณฑ์ที่มีการกำหนดไว้ล่วงหน้า
- ริเริ่มการให้บริการส่งน้ำที่มีความเป็นมืออาชีพในเมืองเล็ก ๆ และพื้นที่ชนบทให้มากขึ้น ซึ่งอาจเกิดจากการมอบหมายงานบริการสาธารณะให้กับผู้ปฏิบัติงานมืออาชีพ ซึ่งจะรับผิดชอบการบำรุงรักษาในรูปแบบของสัญญาเช่า เป็นต้น
- ปรับปรุงการจัดการน้ำเสียและกากตะกอนสิ่งปฎิกูลในเขตเมือง ตั้งแต่กระบวนการการกักเก็บไปจนถึง การกำจัดอย่างปลอดภัย โดยการสร้างระบบบำบัดน้ำเสียใหม่ และดำเนินการศึกษาเพื่อพัฒนาทางเลือกที่เป็นมาตรฐานในการให้บริการการระบายกากตะกอนสิ่งปฏิกูลและการขนส่ง โดยได้รับการสนับสนุนจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน นอกจากนี้ การขยายความครอบคลุมของท่อระบายน้ำในบางพื้นที่จะส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในปลายน้ำได้ในทันที
- เปลี่ยนจากระบบเส้นตรงไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน โดยการนำน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดแล้วกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งสามารถนำร่องในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อวัตถุประสงค์ในเชิงอุตสาหกรรมและการฟื้นฟูระบบนิเวศ การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบบำบัดนำเสียสามารถก่อให้เกิดประโยชน์หลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประสิทธิภาพในการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้น และการลดทรัพยากรที่จำเป็นเพื่อให้ได้ผลผลิตที่เท่ากัน ซึ่งทั้งสองประการทำให้มีต้นทุนการดำเนินงานที่ลดลง
3. ผลิตภาพของการใช้น้ำ
- ส่งเสริมการใช้วีธีการชลประทานที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งทำให้เกษตรกรมีโอกาสในการเพาะปลูกได้ตลอดทั้งปี และช่วยเพิ่มผลผลิต นอกจากนี้ควรมีการริเริ่มการตรวจสอบระบบและขั้นตอนของการจัดทำบัญชีของประเทศ
- ปรับปรุงการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งรวมถึงการใช้เมล็ดพันธุ์และปุ๋ยที่มีความทนทานต่อสภาพภูมิอากาศ และแนวทางปฏิบัติที่ดีในด้านการเกษตร โดยเฉพาะข้าว ตลอดจนการใช้แอปพลิเคชันดิจิทัลและเครื่องจักรที่ทันสมัยในการเพาะปลูก
อ้างอิง: World Bank Group แนวทางการพัฒนา: นโยบายเชิงลึกเพื่ออนาคตของประเทศไทย 2566, ศูนย์วิจัยกรุงศรี เรื่องความเสี่ยงภัยแล้งและน้ำท่วม ปี 2567 ผลกระทบต่อภาคเกษตรและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง