แม้บทสรุปของเหตุการณ์เด็กนักเรียนแตกตื่นวิ่งหนีควันเผาอ้อยที่โรงเรียนในจังหวัดลพบุรี จะพบว่าสาเหตุมาจาก ‘อุบัติเหตุ’ แต่หลายฝ่ายก็ยังตั้งคำถามต่อเนื่องถึงหลักประกันความปลอดภัยของเด็ก ๆ และอยากให้มาตรการควบคุมการเผาในไร่อ้อยหรือไฟไหม้จากอุบัติเหตุมีประสิทธิภาพมากกว่าที่เป็นอยู่
จะเห็นว่าที่ผ่านมาปัญหามลพิษทางอากาศถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยเพื่อเร่งหาทางแก้ไข ในวันที่สถานการณ์กำลังย่ำแย่หนักขึ้นทุกที ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า มลพิษทางอากาศเป็นสาเหตุทำให้คนเสียชีวิตก่อนวัยอันควรถึง 4.2 ล้านคนทั่วโลก โดยเฉพาะมลพิษทางอากาศจากฝุ่น PM 2.5
โดยพบว่า การเผาชีวมวลทางการเกษตรในที่โล่งแจ้ง เป็นหนึ่งในแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศที่สำคัญ นอกเหนือจาก โรงไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรม ไอเสียจากยานพาหนะ เตาเผาขยะ การก่อสร้าง การปิ้งย่าง
การจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรยังทำได้ไม่เหมาะสม
ที่ผ่านมาภาคประชาชน นำโดยเครือข่ายอากาศสะอาด ประเทศไทย ได้ร่วมกันจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายสำหรับอากาศสะอาดทั้ง สมุดปกขาวอากาศสะอาด สมุดปกฟ้าอากาศสะอาด และ สมุดปกเขียวอากาศสะอาด เริ่มตั้งแต่การอธิบายถึงปัญหาเชิงโครงสร้างจนพื้นฐานจนถึงการเจาะลึกผลกระทบ และนำเสนอแนวทางแก้ไขที่น่าจะเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย
จากข้อมูลจะพบว่าการเพิ่มขึ้นของประชากรและการเติบโตทางเศรษฐกิจผลักให้เกิดความต้องการอาหารเพิ่มขึ้นทั่วโลก และทำให้ภาคการเกษตรต้องปรับตัวเพิ่มปริมาณและความเข้มข้น ในขณะที่การจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรก็ยังทำได้ไม่เหมาะสมในหลายประเทศ ทั้งการเผาเพื่อการจัดการแปลง หรือการเผาเพื่อเก็บเกี่ยว โดยมีพืชหลักคือ ข้าว อ้อย ข้าวโพด
สำหรับประเทศไทย การเผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรนับเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศ เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศประมาณ 149 ล้านไร่ จาก 321 ล้านไร่ถูกใช้ในการทำการเกษตร ทั้งพื้นที่ปลูกข้าวประมาณ 68 ล้านไร่ พื้นที่ปลูกอ้อย 10 ล้านไร่ พื้นที่ปลูกข้าวโพด 7 ล้านไร่ ซึ่งการผลิตก่อให้เกิดวัสดุเหลือเหลือใช้ทางการเกษตรจำนวนมาก และเกษตรกรนิยมกำจัดโดยการเผาเนื่องจากสะดวกและต้นทุนต่ำที่สุด แต่ก็นำไปสู่การเปิดปัญหามลพิษทางอากาศ
จากข้อมูลของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) พบว่าจำนวนและสัดส่วนของจุดความร้อนที่เกิดจากการเผามักมีการผันแปรไปตามช่วงเวลา โดย ม.ค. 2564 จุดความร้อนจากการเผาในนาข้าวมีสัดส่วนประมาณ 27% รองลงมาได้แก่ อ้อย และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ คิดเป็น 7% ของ จุดความร้อนทั้งหมด โดยจุดความร้อนจากภาคเกษตรคิดเป็น 54% ขณะที่ เดือน ก.พ. 2564 จุดความร้อนจากการเผาในนาข้าวมีสัดส่วนลดลงเหลือ 15% รองลงมาได้แก่อ้อยและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ คิดเป็น 4% ส่วนจุดความร้อนจากภาคเกษตรโดยรวมลดลงเหลือ 32%
มาตรการแก้ปัญหาการเผาอ้อย ยังไม่ได้ผล
ในแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลดิษด้านฝุ่นละออง” มี 3 มาตรการในการแก้ปัญหาได้แก่ 1. เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ 2. การป้องกันและลดการเกิดมลพิษจากแหล่งกำเนิด และ 3. เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการมลพิษ
ในส่วนของการป้องกันและลดมลพิษจากแหล่งกำเนิด ได้มีการกำหนดมาตรการลดการเผาในไร่อ้อยอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งการออกระเบียบกำหนดให้โรงงานน้ำตาลรับซื้ออ้อยไฟไหม้เข้าหีบได้ไม่เกิน 20% ต่อวัน ภายในปี 2564 กำหนดมาตรการจากภาครัฐในการสนับสนุนเครื่องจักรกลการเกษตรเพื่อแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้ กำหนดพื้นที่เพื่อเป็นจังหวัดต้นแบบปลอดการเผาอ้อย โดยตัดอ้อยสด 100% จำนวน 5 จังหวัด ในปี 2563 และในปี 2565 กำหนดให้โรงงานน้ำตาลรับซื้ออ้อยไฟไหม้เข้าหีบได้ไม่เกิน 0-5% ต่อวัน
ขณะที่มาตรการระยะยาว จะเน้นให้มีการกำหนดระเบียบหรือแนวปฏิบัติในการจัดการเศษวัสดุการทำเกษตรประเภทต่าง ๆ โดยให้มีการนำมาใช้ประโยชน์ อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อไม่ให้มีการเผาในที่โล่ง ใช้มาตรการทางเศรษฐศาสตร์ส่งเสริมป้องกัน ไม่ให้เกิดการเผาในที่โล่งและป่าไม้ และผลักดันให้เกิดแนวทางรับซื้อสินค้าเกษตรจากเกษตรกรที่ผ่านการรับรองมาตรฐานทางการเกษตร ขยายเครือข่ายเกษตรปลอดการเผา
ข้อเสนอเพิ่มเติมจากภาคประชาสังคมเพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วน
นอกจากนี้ยังมีการข้อเสนอเพิ่มเติม ที่จะสามารถดำเนินการได้ทันที ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจัดระเบียบการเผาในพื้นที่ที่มีความจำเป็นต้องเผา โดยคำนึงถึงพื้นที่ที่จะทำการเผา และสภาพทางอุตุนิยมวิทยา เพื่อควบคุมให้สารมลพิษจากการเผาไม่เกินขีดความสามารถในการดูซับของธรรมชาติ
รวมทั้งการกำหนดเป้าหมายลดการเผาในข้าวและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มเติมจากอ้อย เพราะในหลายพื้นที่มีการเผาข้าว และ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งมีพื้นที่การเผาใกล้เคียงกับอ้อย รวมทั้งควรปรับเปลี่ยนกระบวนการช่วยเหลือที่ให้แก่เกษตรกร ภาครัฐควรปรับเปลี่ยนการช่วยเหลือแบบเยียวยาให้เปล่า เป็นการให้เงินช่วยเหลือแบบมีเงื่อนไข (conditional assistances) ให้มากขึ้น เพื่อจูงใจให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดการเผา รวมถึงการปลูกพืชอื่นทดแทนข้าว ข้าวโพด หรือ อ้อย โดยพิจารณาถึงความเหมาะสมของพื้นที่และความต้องการของตลาด
ปรับทัศนคติความเชื่อของชุมชนในประเด็นต่าง ๆ ที่สนับสนุนการเผาด้วย ทั้ง ความเชื่อว่าการเผาจะช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ช่วยควบคุมศัตรูพืช ทำให้การไถพรวนดินง่ายขึ้น รวมทั้งทัศนะการเป็นปฏิปักษ์หรือการปฏิเสธเครื่องจักร ตลอดจนการมีความรู้ที่คลาดเคลื่อน หรือที่สำคัญคือต้องขยายให้เกษตรกรทั่วไป ตระหนักถึงประโยชน์จากการไม่เผา และรับทราบผลกระทบและความเสียหายที่สามารถเกิขึ้นจากมลพิษทางอากาศ
ใช้มาตรการลงโทษและร่วมรับผิดชอบทางสังคม โดยภาคประชาสังคมและภาคการเกษตรต้องร่วมกันรับผิดชอบ ในเรื่องการขยายความรู้ ปรับทัศนคติ และร่วมรณรงค์สนับสนุนการจัดการอากาศสะอาดโดยลดการเผา และหาทางออกร่วมกันต่อประเด็นเกษตรแปลงใหญ่ ตลอดจนสร้างแรงเคลื่อนไหวทางสังคมในลักษณะมาตรการลงโทษทางสังคมต่อผลผลิตที่ได้จากการเผาพื้นที่เกษตร โดยการรณรงค์ไม่อุดหนุนสินค้า หรือไม่สนับสนุนธุรกิจที่ไม่ใส่ใจช่วยลดการเผาของเกษตกร และส่งเสริมการพึ่งพาตนเองของเกษตรกร
จุดอ่อนของมาตรการแก้ปัญหาที่ยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ
ตลอดระยะเวลา 4 ปี ภายใต้แผนดังกล่าว หลายมาตรการไม่สามารถบรรลุได้ตามแผน จนถูกมองว่า “ล้มเหลวเชิงนโยบาย” เนื่องจากการขับเคลื่อนที่ผ่านมาขาดการบรูณาการ ไม่มีเจ้าภาพสั่งการได้เบ็ดเสร็จที่แท้จริง แต่ละหน่วยงานต่างทำตามหน้าที่เท่าที่ทำได้
ที่สำคัญคือไม่มีหน่วยงานใดกำกับอย่างจริงจัง เมื่อเกิดภาวะวิกฤติจึงระดมกันทำแก้เหตุเฉพาะหน้า เช่น จับรถควันดำที่วิ่งใน เขต กทม. และปริมณฑล ซึ่งเพิ่มขึ้นทุกปี สั่งการให้หยุดเผาในที่โล่งยังทำไม่สำเร็จเพราะไม่กล้าบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด ไปจนถึงการควบคุมอ้อยไฟไหม้เข้าโรงงานไม่ได้ เป็นต้น
ดังนั้น การขับเคลื่อนเพื่อจะลดปริมาณฝุ่น PM 2.5 ค่อนข้างช้ามากในระดับนโยบาย เช่น การลดปริมาณรถยนต์ดีเซลในเขตเมือง การเพิ่มปริมาณรถยนต์ไฟฟ้า การนำน้ำมันยูโร 5 เข้ามาใช้เพื่อลดควันดำ การบังคับใช้กฎหมายห้ามเผา การช่วยเหลือเกษตรกรในการไถกลบตอซัง ฟางข้าว รวมทั้งการนำเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาใช้ประโยชน์ การลดการเกิดไฟป่าในพื้นที่อนุรักษ์ การเจรจาและใช้มาตรการกดดัน เพื่อลดฝุ่นควันข้ามแดนจากประเทศใกล้เคียง
ทางออกสุดท้าย จำเป็นต้องมี พ.ร.บ. อากาศสะอาด
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เกิดการเรียกร้องให้มีกฎหมายเฉพาะเพื่อส่งเสริมอากาศสะอาด โดยเฉพาะในมิติของการมีกลไก และเครื่องมือเชิงภาพรวมเพื่อช่วยสนับสนุนป้องกัน แก้ไข เยียวยา ปัญหามลพิษทางอากาศจากการเผาในภาคเกษตรกรรม ทำให้ภาคประชาชนหลายกลุ่มเช่น เครือข่ายอากาศสะอาด สภาลมหายใจภาคเหนือ จัดเวทีสาธารณะวิเคราะห์แลกเปลี่ยนข้อมูล ก่อนจะเดินหน้ารวบรวมรายชื่อเสนอกฎหมายฉบับประชาชน
โดยเมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2567 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติเป็นเอกฉันท์ 443 เสียง งดออกเสียง 1 ให้รับหลักการร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด ที่ ครม. เป็นผู้เสนอ พร้อม ร่าง พ.ร.บ.กำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ ที่ภาคประชาชนกว่า 22,000 รายชื่อ รวมถึงร่างที่พรรคการเมืองอื่น ๆ เสนอประกบรวมทั้งสิ้น 7 ฉบับ
โดยในร่างกฎหมายแต่ละฉบับมีสาระสำคัญ เช่น การกำหนดให้มีแผนแม่บทนโยบายการกำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาด เพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ เพื่อช่วยลดการเผาจากการเก็บเกี่ยวและจัดการแปลงในภาคเกษตร พร้อมเพิ่มบทลงโทษสำหรับผู้ละเมิด
ในขณะที่ร่างของภาคประชาชนมีประเด็นเพิ่มเติมเช่นรวมทั้งมีการกำหนดให้มีคณะกรรมการร่วมด้านอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพในระดับ ต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นกลไกดำเนินการแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพ มีการวางนโยบายที่เกี่ยวข้องสอดคล้องกับแผนแม่บท มีคณะกรรมการกำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพที่จะทำหน้าที่กำกับดูแลให้เป็นไปตามแผนแม่บท
รวมทั้งการกำหนดให้มี ‘กองทุนอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ’ ที่จะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนเครื่องมือและมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ต่าง ๆ เช่น การช่วยเหลือทางการเงินสำหรับพัฒนาประโยชน์จากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร สร้างโครงสร้างพื้นฐานกักเก็บเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรควบคู่กันไปด้วย และมีมาตรการแก้ปัญหาการเผาที่เป็นการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ สถานศึกษา ภาคเอกชนและประชาสังคม ในพื้นที่
ทั้งหมดนี้เป็นอีกความพยายามครั้งสำคัญที่จะขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศอย่างเป็นรูปธรรม ในวันที่สถานการณ์มลพิษทางอากาศกำลังย่ำแย่ลงทุกที
อ้างอิง