ประเทศไทยมีการพึ่งพาการลงทุนจากต่างชาติในสัดส่วนที่สูง ซึ่งมีส่วนช่วยเพิ่มเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ เกิดการลงทุนใหม่ การขยายธุรกิจ การจ้างงานโดยตรงเพิ่มมากขึ้น การสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ และการสร้างงานให้กับธุรกิจขนาดเล็กในซัพพลายเชนของแต่ละอุตสาหกรรม ช่วยการกระตุ้นการบริโภคภาร รวมไปถึงการมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ นำเข้ามาใช้ในประเทศ เป็นต้น
ดังนั้นการลงทุนจากต่างชาติจึงมีความสำคัญและเป็นปัจจัยต่อการเติบโตเศรษฐกิจของประเทศ
ในอดีตเม็ดเงินลงทุนญี่ปุ่นเข้าไทยจำนวนมาก
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ (สศช.) ได้ออกรายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สี่ ทั้งปี 2567 และแนวโน้มปี 2568 โดยเปิดเผยข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า ในช่วงปี 2543 -2554 (ปีที่เกิดวิกฤตอุทกภัย) เม็ดเงินลงทุนจากญี่ปุ่นที่เข้ามาในประเทศไทยอยู่ในระดับที่สูงและครองสัดส่วนอันดับหนึ่งของวงเงินลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง
เมื่อพิจารณาโครงสร้างสัดส่วนเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเฉพาะ 5 ประเทศผู้ลงทุนหลักในไทย ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน สิงคโปร์ สหรัฐฯ และฮ่องกง พบว่า ในช่วงปี 2543 – 2554 เม็ดเงินลงทุนเฉลี่ยของญี่ปุ่นมีสัดส่วนคิดเป็น 61.1% รองลงมาเป็นสัดส่วนเม็ดเงินจากสิงคโปร์ สหรัฐฯ และจีน อยู่ที่ 19.7% 8.9% และ 7.7% ตามลำดับ
จีนลงทุนไทยมากขึ้น
แต่หลังจากปี 2554 เป็นต้นมา เม็ดเงินลงทุนจากญี่ปุ่นก็ลดลงอย่างต่อเนื่องจนปี 2558 ซึ่งเป็นปีแรกที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการส่งเสริมการลงทุนที่มุ่งเน้นการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย และภายหลังจากปี 2558 พบว่า สิงคโปร์และจีน มีบทบาทในการลงทุนในไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ในปี 2567 เม็ดเงินลงทุนของจีนและสิงคโปร์อยู่ที่ 49,591 ล้านบาท และ 30,139 ล้านบาท ตามลำดับ ในขณะที่เม็ดเงินลงทุนจากญี่ปุ่นอยู่ที่ 12,521 ล้านบาท
เมื่อพิจารณาโครงสร้างเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ในช่วงปี 2555 – 2567 สัดส่วนเงินลงทุนเฉลี่ยของสิงคโปร์และจีนเพิ่มขึ้นเป็น 31.8% และ 31.2% ตามลำดับ
ขณะที่สัดส่วนเงินลงทุนเฉลี่ยของญี่ปุ่นอยู่ที่ 25.8% ส่วนเงินลงทุนเฉลี่ยจากสหรัฐฯ และฮ่องกง มีสัดส่วนอยู่ที่ 6.5% และ 4.6% ตามลำดับ ซึ่งใกล้เคียงกับ 8.9% และ 2.6% ในช่วงปี 2543 – 2554
ต่างชาติลงทุนอุตสาหกรรมน้อยลง
เมื่อพิจารณาถึงโครงสร้างการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศจำแนกตามภาคการผลิตและตามสัญชาติ พบว่า ในช่วงปี 2543 – 2554 โครงสร้างการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ จะมุ่งเน้นไปที่การลงทุนในภาคการผลิตอุตสาหกรรม โดยมีสัดส่วนอยู่ที่ 69.9% (สัดส่วนการลงทุนจากญี่ปุ่น สิงคโปร์ จีน สหรัฐฯ และฮ่องกง อยู่ที่ 48.7%, 11.1%, 5.3%, 4.2% และ 0.3% ตามลำดับ)
ในขณะที่สัดส่วนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในภาคบริการอยู่ที่ 30.0% โดยภาคบริการที่ส่าคัญ เช่น บริการทางการเงิน การขายส่ง ขายปลีกและอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น ในขณะที่สัดส่วนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในภาคเกษตรกรรมอยู่ที่ 0.4%
ภายหลังจากปี 2554 เป็นต้นมา โครงสร้างการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของไทยมีการเปลี่ยนแปลงจากภาคอุตสาหกรรมเป็นภาคบริการเพิ่มมากขึ้น โดยโครงสร้างการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในช่วงปี 2555 – 2567 พบว่า สัดส่วนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศภาคอุตสาหกรรมลดลงเหลือเพียง 42.9%
เมื่อพิจารณารายประเทศพบว่า สัดส่วนเงินลงทุนจากจีนและสิงคโปร์ในภาคการผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเป็น 17.7% และ 10.7% ตามล่าดับ ในขณะที่สัดส่วนเม็ดเงินลงทุนจากญี่ปุ่นลดลงเหลือเพียง 11.9% เท่านั้น ส่วนสัดส่วนเงินลงทุนจากสหรัฐฯ และฮ่องกงอยู่ที่ 1.6% และ 0.8% ตามลำดับ
สำหรับสัดส่วนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในภาคบริการเพิ่มขึ้นเป็น 57.1% ในขณะที่สัดส่วนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในภาคเกษตรกรรมมีเพียง 0.1% เท่านั้น
ที่มา : รายงานภาวะเศรษฐกิจไทย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
- สงครามการค้าล่าสุด ธปท.คาด “แรง-นาน” กว่าครั้งก่อน
- โลกกำลังตีกลับ ยุคโลกาภิวัฒน์ หวนสู่ยุคกีดกันการค้า
- รถยนต์ไฟฟ้าป่วนตลาด ระเบิดสงครามราคา