การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2567 รับทราบรายงานผลการวิเคราะห์ค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต ประจำปี พ.ศ. 2566 (Corruption Perceptions Index: CPI 2023) และรายงานผลการขับเคลื่อนการยกระดับค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.)
ก่อนหน้านี้ สำนักงานป.ป.ท. เคยแถลงเกี่ยวกับ ดัชนี CPI ไปแล้วเมื่อต้นปี แต่รายงานที่ส่งให้ครม. มีการวิเคราะห์สาเหตุ และข้อเสนอของ องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ มาด้วย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง ดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ไทยร่วง อับดับที่ 108 โลก
สาระสำคัญ
สำนักงาน ป.ป.ท. รายงานว่าคะแนนดัชนีการรับการทุจริต (CPI) มีความสำคัญต่อภาพลักษณ์การทุจริตของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก สำนักงาน ป.ป.ท. ในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนการดำเนินการเพื่อยกระดับค่าคะแนน CPI จึงขอเสนอข้อมูลเกี่ยวกับคะแนน CPI ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ของประเทศไทย สรุปได้ ดังนี้
รายงานผลการวิเคราะห์ค่าคะแนน CPI ประจำปี พ.ศ. 2566 (CPI 2023)
องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) ได้ประกาศผลคะแนน CPI 2023 เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2567 ซึ่งมีประเทศที่เข้าร่วมการประเมินทั้งหมด 180 ประเทศ พบว่า 2 ใน 3 ของประเทศที่ได้รับการประเมินมีระดับคะแนนที่ต่ำกว่า 50 คะแนน (จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน) มีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 43 คะแนน
ประเทศที่ได้รับคะแนนสูงที่สุดใน 10 อันดับแรก คือ ราชอาณาจักรเดนมาร์ก (90 คะแนน) สาธารณรัฐฟินแลนด์ (87 คะแนน) ราชอาณาจักรนิวซีแลนด์ (85 คะแนน) ราชอาณาจักรนอร์เวย์ (84 คะแนน) สาธารณรัฐสิงคโปร์ (83 คะแนน) ราชอาณาจักรสวีเดนและสมาพันธรัฐสวิส (82 คะแนน) ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ (79 คะแนน) สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (78 คะแนน) และราชรัฐลักเซมเบิร์ก (78 คะแนน)
ประเทศที่ได้รับคะแนนน้อยที่สุด คือ สาธารณรัฐเซาท์ซูดาน (13 คะแนน) สาธารณรัฐอาหรับซีเรีย (13 คะแนน) สาธารณรัฐโบลีวาร์แห่งเวเนซุเอลา (13 คะแนน) และสหพันธ์สาธารณรัฐโซมาเลีย (11 คะแนน)
ประเทศไทยได้คะแนน CPI 35 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 108 และอยู่ในอันดับที่ 4 ของอาเซียน รองจากสาธารณรัฐสิงคโปร์ (83 คะแนน) สหพันธรัฐมาเลเซีย (50 คะแนน) และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (41 คะแนน)
ในภาพรวมคะแนนของไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีคะแนนลดลง ซึ่งมีจำนวน 63 ประเทศ ขณะที่ประเทศที่มีคะแนนเพิ่มขึ้นมี 55 ประเทศ และมีประเทศที่คะแนนเท่าเดิม 62 ประเทศ สะท้อนว่า การประเมิน CPI ของไทยในสายตานานาชาติ ในปี 2566 ลดลงจากปี 2565
คะแนน CPI ของประเทศในอาเซียน ประเทศที่มีคะแนนลดลง ได้แก่ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (ลดลง 1 คะแนน) ไทย (ลดลง 1 คะแนน) สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (ลดลง 1 คะแนน) ราชอาณาจักรกัมพูชา (ลดลง 3 คะแนน) และสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา (ลดลง 3 คะแนน) ซึ่งสะท้อนถึงระดับความโปร่งใสที่ลดลงของกลุ่มประเทศเหล่านี้
ขณะที่ประเทศที่มีคะแนนเพิ่มสูงขึ้น 2 ประเทศ ได้แก่ สหพันธรัฐมาเลเซีย (เพิ่มขึ้น 3 คะแนน) และสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ (เพิ่มขึ้น 1 คะแนน)
สาเหตุสำคัญของคะแนน CPI ที่มีการเปลี่ยนแปลงในปี 2566
(1) คะแนนเพิ่มขึ้นในแหล่งการประเมิน 1 แหล่งที่เกี่ยวข้องกับประเด็นประสิทธิภาพการต่อต้านการทุจริต คือ PERC2 โดยไทยได้ 37 คะแนน (เพิ่มขึ้น 2 คะแนน จากปี 2565 ที่ได้ 35 คะแนน) สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจในการดำเนินการป้องกันและปราบปรามการทุจริตเพิ่มมากขึ้น
(2) คะแนนลดลงในแหล่งการประเมิน 3 แหล่ง คือ WEF3 โดยไทยได้ 36 คะแนน (ลดลง 9 คะแนน จากปี 2565 ที่ได้ 45 คะแนน) BF (TI)4 ไทยได้ 33 คะแนน (ลดลง 4 คะแนน จากปี 2565 ที่ได้ 37 คะแนน) และ WJP5 ไทยได้ 33 คะแนน (ลดลง 1 คะแนน จากปี 2565 ที่ได้ 34 คะแนน) สะท้อนให้เห็นว่าในช่วงที่ผ่านมา อาจจะมีประเด็นสำคัญที่เป็นที่น่าสนใจของสังคม ในเรื่องการใช้อำนาจตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบเพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือพวกพ้อง
ดังนั้น จึงควรมีการเร่งรัดกระบวนการดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและเปิดเผยความคืบหน้าการดำเนินการในประเด็นสำคัญให้สาธารณชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม
องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติได้มีข้อเสนอแนะสำคัญ 6 ประเด็น
(1) เสริมสร้างความเป็นอิสระของกระบวนการยุติธรรม การป้องกันกระบวนการยุติธรรมจากการแทรกแซงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการปฏิบัติงานของกระบวนการยุติธรรม ส่งเสริมการแต่งตั้งโดยยึดหลักคุณธรรมมากกว่าเรื่องทางการเมืองและสร้างความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมว่ามีบุคลากรที่มีคุณสมบัติและมีทรัพยากรที่เหมาะสม
(2) มุ่งเสนอกลไกด้านความโปร่งใสและการตรวจสอบติดตาม โดยสร้างความเชื่อมั่นว่าเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมได้รับการคุ้มครองเป็นพิเศษเพื่อให้มีการปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกแทรกแซง อาจทำได้โดยการร้องเรียนและแจ้งเบาะแส การเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและผลประโยชน์อื่นใดของผู้พิพากษา อัยการ และเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ และทำให้มั่นใจว่าเงินเดือนที่ได้รับของเจ้าหน้าที่มีความเหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่
(3) ปรับปรุงและพัฒนาการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ขั้นตอนแรกที่จะป้องกันการได้รับการยกเว้นโทษอย่างไม่เป็นธรรมและการทุจริต จะต้องคุ้มครองสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม โดยจะต้องกำหนดยุทธศาสตร์ในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว การทำให้ขั้นตอนง่ายและไม่ซับซ้อน ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงขั้นตอนและกระบวนการทางกฎหมายได้ ขยายความการเป็นผู้เสียหายจากการทุจริตให้หมายรวมถึงผู้เสียหายที่ไม่ใช่รัฐ และมอบอำนาจให้องค์กรภาคประชาสังคมริเริ่มและเปิดเผยคดีการทุจริตไม่ว่าจะเป็นคดีทุจริตทางอาญา แพ่งหรือกระบวนการทางปกครอง รวมไปถึงให้องค์กรภาคประชาสังคมเหล่านี้เป็นผู้รักษาผลประโยชน์แทนผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการทุจริต
(4) เพิ่มความโปร่งใสในกระบวนการยุติธรรม กระบวนการยุติธรรมที่โปร่งใสจะสามารถสร้างความเชื่อมมั่นในระบบการทำงานของกระบวนการยุติธรรม และทำให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมมีความรับผิดชอบมากขึ้น การรับรองข้อมูลด้านการตัดสินคดีความต่าง ๆ การยุติข้อพิพาทนอกศาล การบังคับใช้กฎหมาย และกระบวนการด้านกฎหมายและกฎระเบียบด้านการบริหาร ให้เป็นที่เปิดเผยและให้ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นและช่วยกลั่นกรองได้ การกระทำเช่นนี้จะช่วยลดอัตราการทุจริตและเสริมสร้างความเชื่อมั่นว่าการบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการทุจริตเป็นไปอย่างถูกต้อง
(5) ส่งเสริมความร่วมมือภายในกระบวนการยุติธรรม กระบวนการยุติธรรมหลักมีความซับซ้อน แต่การบริหารจัดการให้องค์ประกอบต่าง ๆ สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพถือเป็นสิ่งสำคัญ การกำหนดความรับผิดชอบที่ชัดเจนและเสริมกันถือเป็นสิ่งสำคัญในการบรรลุวัตถุประสงค์ เนื่องจากมีการใช้กระบวนการยุติธรรมทางเลือกอย่างแพร่หลายในบางภูมิภาค การไตร่ตรองถึงการทำงานร่วมกันระหว่างกระบวนการยุติธรรมหลักและกระบวนการยุติธรรมทางเลือกเพราะอาจเป็นประโยชน์เช่นกัน
(6) ขยายช่องทางการรับผิดในคดีความการทุจริตระหว่างประเทศ เมื่อมีการทุจริตข้ามชาติเกิดขึ้นในประเทศที่กระบวนการยุติธรรมไม่สามารถหรือไม่ยินยอมที่จะดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด สถาบันยุติธรรมในพื้นที่ปกครองโดยเขตอำนาจศาลต่างประเทศ ซึ่งมีหลักนิติธรรมที่แข็งแกร่งกว่าสามารถมีบทบาทสำคัญในการจัดการกรณีที่มีการยกเว้นโทษการกระทำทุจริตข้ามชาติ โดยมีการบังคับใช้มาตรการสำคัญ เช่น เขตอำนาจศาลเพิ่มเติมการคุ้มครองเบื้องต้นให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐต่างชาติ ยืนหยัดที่จะสนับสนุนให้องค์กรภาคประชาสังคมดำเนินการเพื่อประโยชน์สาธารณะ ติดตามการดำเนินคดีต่าง ๆ และเป็นตัวแทนของผู้ที่ได้รับความเสียหาย ให้คำจัดกัดความของความเสียหายในกระบวนการยุติธรรมที่ครอบคลุมความเสียหายอย่างรอบด้านและจำนวนผู้เสียหายที่ครบถ้วนมากขึ้น