อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างครั้งใหญ่ หลังจากการเข้ามาของรถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ตามนโยบายรัฐบาล ทั้งตลาดรถยนต์และการจ้างงาน
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในปี 66 มีสัดส่วน 8.2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)ของภาคอุตสาหกรรม และ 2.0% ของ GDP โดยรวม และ 15.6% ของมูลค่าการส่งออกรวม
ขณะที่มีการจ้างงานรวม 5-6 แสนคน ทั้งนี้ หากรวมอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อาทิ ธุรกิจซ่อมบำรุงธุรกิจผู้แทนจำหน่าย และปั๊มน้ำมัน อาจมีการจ้างงานสูงถึง 2 ล้านคน
ผลกระทบจาก EV ในช่วงที่ผ่านมา เกิดขึ้นเป็นระยะ ทั้งการปิดโรงงานชิ้นส่วน การปรับตัวของผู้ผลิตรายใหญ่อย่างฮอนด้า รวมทั้งสงครามราคาภายในประเทศ
จากผลกระทบที่เกิดขึ้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกบทวิเคราะห์ “พัฒนาการอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยและแนวโน้ม” ในรายงานนโยบายการเงินไตรมาสที่ 4 ปี 2567 และข้อมูลทางเศรษฐกิจล่าสุดที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ใช้ประกอบการตัดสินใจในการดำเนินนโยบายการเงิน โดยในหมวดการลงทุนภาคเอกชน พบว่า การลงทุนหมวดยานพาหนะยังคงฟื้นตัวได้ช้าตามแนวโน้มอุตสาหกรรมยานยนต์
ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 67 ไทยมียอดการผลิตรถยนต์ในประเทศลดลงจากปีก่อนหน้าเกือบ 20% จากการลดลงของการผลิตรถยนต์เพื่อขายในประเทศเป็นหลัก โดยการผลิตรถกระบะลดลง 52% และรถยนต์นั่งลดลง 25% ขณะที่การผลิตเพื่อส่งออกลดลงเพียง 5% ส่งผลให้สัดส่วนการผลิตเพื่อขายในประเทศต่อการส่งออกลดลงมาอยู่ที่ 31:69 ในปัจจุบัน จากเดิมที่ 48:52 ในปี 62
อุตฯยานยนต์ย่ำแย่จากหลายปัจจัย
การหดตัวของตลาดยานยนต์ในประเทศเป็นผลจากหลายปัจจัย ทั้งปัจจัยเฉพาะของอุตสาหกรรม ปัจจัยเชิงวัฏจักร และปัจจัยเชิงโครงสร้าง โดยมีจุดเริ่มต้นตั้งแต่ช่วงปี 63 ที่มีการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้เกิดปัญหาขาดแคลนชิปทั่วโลก ผู้ผลิตรถยนต์ในไทยจึงเน้นผลิตและขายรถกระบะที่ใช้ชิปในปริมาณที่น้อยกว่ารถยนต์นั่ง ประกอบกับความต้องการจากธุรกิจขนส่งสินค้าขยายตัวสูงตามธุรกิจซื้อขายสินค้าหรือบริการผ่านทางอินเทอร์เน็ต (E-commerce) ที่เติบโตดีในช่วงโควิด-19 ทำให้ยอดขายกระบะฟื้นตัวได้เร็วกว่ารถยนต์นั่งในช่วงปี 2563-2565
หลังจากมาตรการช่วยเหลือทางการเงินทยอยสิ้นสุดลงตั้งแต่ปี 2566 ประกอบกับเศรษฐกิจขยายตัวไม่ทั่วถึง ผู้ที่กู้ซื้อรถยนต์ไปในช่วงก่อนหน้าจึงประสบปัญหาในการผ่อนชำระต่อ ทำให้มีรถยนต์ถูกยึดเข้าลานประมูลเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะรถกระบะที่กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรและผู้ประกอบอาชีพอิสระที่รายได้ฟื้นตัวช้าและไม่แน่นอน ส่งผลกระทบมายังราคารถยนต์มือสองให้ปรับลดลงเร็วและแรง ซึ่งทำให้ความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นหากลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ (Loss given default หรือ LGD) ของสถาบันการเงินปรับสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จึงเป็นที่มาทำให้สถาบันการเงินระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อมากขึ้นในระยะต่อมา สะท้อนจากการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่ลดลง
นอกจากนี้ เกณฑ์ของทางการ อาทิ การควบคุมสัญญาเช่าซื้อรถโดยกาหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยสูงสุด และเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (responsible lending) เป็นปัจจัยร่วมที่ทาให้สถาบันการเงินต้องพิจารณาการให้สินเชื่ออย่างถี่ถ้วนมากขึ้นด้วย
ขณะเดียวกันการลดลงของราคารถยนต์มือสองทำให้ผู้บริโภคที่ต้องการขายรถเก่าเพื่อใช้เป็นเงินดาวน์ชะลอการซื้อด้วย นอกจากนี้ปริมาณการขนส่งสินค้าที่ลดลงหลังเปิดเมืองเข้าสู่ภาวะปกติ และงบประมาณภาครัฐที่ล่าช้าซึ่งกระทบการก่อสร้าง ทำให้ความต้องการซื้อรถกระบะของภาคธุรกิจลดลง ยิ่งซ้ำเติมยอดขายรถกระบะให้หดตัวรุนแรงตั้งแต่ปี 66 เป็นต้นมา
ดัมป์ราคา EV ฉุดกำลังซื้อรถยนต์นั่ง
สำหรับรถยนต์นั่งเผชิญสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกันแต่รุนแรงน้อยกว่า เพราะว่าส่วนหนึ่งกลุ่มลูกค้าหลักเป็นผู้มีรายได้ประจำ ซึ่งมีรายได้สูงและมั่นคงกว่ากลุ่มลูกค้าหลักของรถกระบะ ทำให้สัดส่วนของหนี้เสียต่ำกว่า สอดคล้องกับราคารถยนต์นั่งมือสองที่หดตัวน้อยกว่ารถกระบะ อย่างไรก็ตามรถยนต์นั่งได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากการเข้ามาของรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งเป็นปัจจัยเชิงโครงสร้าง
โดยผู้ผลิตรถ EV เริ่มแข่งขันด้านราคาในปี 66 และรุนแรงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์สันดาปต้องแข่งขันด้านราคาด้วย ผู้บริโภคส่วนหนึ่งจึงชะลอการซื้อรถใหม่เพื่อรอความแน่นอนของราคา
ทั้งนี้ผู้บริโภคบางส่วนยังชะลอการซื้อรถ EV เพื่อรอความมั่นใจในเทคโนโลยี เพราะเทคโนโลยีแบตเตอรี่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อีกทั้งรอความพร้อมของระบบนิเวศ (Ecosystems) ในการใช้รถ EV อาทิ สถานีชาร์จไฟฟ้า ราคาและเงื่อนไขของการประกันภัยรถ EV รวมถึงตลาดมือสองสาหรับรถ EV
จากการหดตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ดังกล่าว ทำให้การจ้างงานและรายได้ลูกจ้างในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง ทั้งผลิตยานยนต์และชิ้นส่วน การค้าและซ่อมยานยนต์ ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 67 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ผู้ประกอบการเห็นว่าผู้ผลิตชิ้นส่วนและตัวแทนจำหน่ายได้รับผลกระทบรุนแรงมากขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงต้นปี และเริ่มส่งผลกระทบไปยังธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น ธุรกิจขนส่งยานยนต์และชิ้นส่วนต้องลดปริมาณขนส่งลงเหลือ 1 ใน 3 จากรอบการขนส่งปกติ รวมถึงกระทบธุรกิจการค้าและอสังหาริมทรัพย์ในบริเวณนิคมอุตสาหกรรมบ้างแล้ว
รถยนต์ไทยปี 68 ขึ้นกับ EV Hub
ในปี 68 แนวโน้มยอดขายรถยนต์ในประเทศยังมีความไม่แน่นอนสูง และต้องติดตามแนวโน้มราคารถยนต์มือสองอย่างใกล้ชิด เนื่องจากจะส่งผลต่อทั้งการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงินและเงินดาวน์สำหรับซื้อรถใหม่
แม้ว่าผู้ประกอบการบางส่วนคาดว่าราคารถยนต์มือสองจะปรับดีขึ้น เนื่องจากปริมาณรถถูกยึดเข้าลานประมูลน้อยลงในช่วงปลายปี 67 แต่ยังมีปัจจัยที่ไม่แน่นอน อาทิ การแข่งขันด้านราคาของรถยนต์ EV ที่อาจรุนแรงขึ้น และแนวโน้มเศรษฐกิจปี 68
ทั้งนี้ คาดว่าปี 68 ยอดขายรถกระบะจะฟื้นตัวได้ช้ากว่ารถยนต์นั่ง เนื่องจากรายได้ของผู้ซื้อรถกระบะจะยังฟื้นตัวช้า อีกทั้งความต้องการลงทุนซื้อรถกระบะในธุรกิจก่อสร้างน่าจะยังไม่ดีขึ้น เนื่องจากงานก่อสร้างที่อยู่อาศัยชะลอตัว แม้จะมีปัจจัยบวกจากปริมาณงานก่อสร้างโครงการภาครัฐที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ยอดขายรถยนต์นั่งมีโอกาสขยายตัวได้จากความนิยมรถยนต์ไฮบริด (Hybrid) ที่มากขึ้น และกลุ่มลูกค้าหลักยังคงมีกาลังซื้อค่อนข้างสูง
สำหรับในระยะปานกลาง อุตสาหกรรมยานยนต์จะยังเผชิญความท้าทาย โดยจะสามารถกลับมาเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างในอดีตได้เพียงใด ขึ้นอยู่กับการปรับตัวของอุตสาหกรรมเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ทั้งการอิ่มตัวของตลาดรถยนต์ในประเทศจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่ที่เปลี่ยนไปนิยมใช้ขนส่งมวลชน การเรียกรถผ่านสมาร์ทโฟน และการเช่า มากกว่าการเป็นเจ้าของรถ
นอกจากนี้ การปรับตัวที่สำคัญจะขึ้นอยู่กับการยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยให้เป็นฐานการผลิตรถยนต์ EV ของเอเชีย (EV hub) รวมถึงโมเดลธุรกิจและกระบวนการผลิตว่าจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทยเพียงใด
อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
- ไทยจะเป็นฮับรถอีวี แต่ไร้มาตรการจัดการซากแบตเตอรี่
- เทียบรถยนต์ “BEV-HYBRID-น้ำมัน” จะใช้อะไรดี?
- โฉมใหม่ตลาดรถยนต์ กำลังซื้อหดหาย อีวีจีนทุบราคา
ที่มา : รายงานนโยบายการเงินไตรมาสที่ 4 ปี 2567 ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)