หากคนทำงานเจ็บป่วย พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ให้สิทธิลาป่วยตามความจำเป็นจริง แต่ถ้าสมาชิกในครอบครัวของพวกเขาเจ็บป่วย คนทำงานต้องพาไปหาหมอ ฟังคำวินิจฉัย เฝ้าไข้ เฝ้าผ่าตัด กฎหมายกลับไม่รับรองสิทธิให้ลางานเพื่อดูแลพวกเขา
ในปี พ.ศ. 2541 เมื่อ พ.ร.บ.ฉบับนี้ถือกำเนิด คนทำงานกว่า 40 ล้านคนดูแลเด็กวัยพึ่งพิงราว 10 ล้านคน และผู้สูงอายุ 5 ล้านคน การไม่ให้สิทธิวันลาไปดูแลอาจสมเหตุสมผลกับบริบทขณะนั้น แต่ในปี 2568 ประชากรพึ่งพิงวัยเด็กลดลงเหลือเพียงครึ่งเดียว ขณะที่ผู้สูงอายุมีจำนวนถึง 13 ล้านคน ในจำนวนนี้มีผู้สูงอายุเกิน 70 ปี ถึง 5.8 ล้านคน เรากำลังอยู่ในสังคมที่มีผู้ป่วยเรื้อรังและผู้สูงวัยเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่า
สิทธิ “ลาไปดูแล”
ในเมื่อรัฐยังไม่รับรองสิทธินี้ คนทำงานจึงต้อง “ผัน” สิทธิลากิจ (3 วันต่อปี) หรือลาพักร้อน (ประมาณ 10 วันต่อปี) มาใช้ดูแลผู้ป่วยในครอบครัว ส่งผลให้เสียโอกาสในการใช้สิทธิลากิจและลาพักผ่อนตามวัตถุประสงค์ จะขอลาไปดูแลเพิ่มเติมได้หรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับ “ความใจดี” ของนายจ้าง
ผลกระทบเกิดขึ้นทั้งต่อตัวผู้ป่วย คนทำงานอาจชะลอวันพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ ทำให้ไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาการลุกลาม รักษายากขึ้น เสี่ยงเสียชีวิตหรือประสบความพิการ ผู้ป่วยขาดผู้ช่วยสื่อสารกับแพทย์ ครอบครัวขาดโอกาสประชุมร่วมกันกับทีมแพทย์เพื่อวางแผนการรักษาต่อเนื่อง นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจเลือกปกปิดความเจ็บป่วยเพราะเกรงใจคนทำงานที่ต้องขอลาหยุดเพื่อมาดูแลตนเอง
เมื่อไม่สามารถลาไปดูแลได้ คนทำงานจึงยังคงทำงานด้วยความกังวล ไม่มีสมาธิ ส่งผลประสิทธิภาพการทำงานลด บางองค์กรจึงกำหนด “สิทธิลาฉุกเฉิน” หรือ “ลาไปดูแล” ไว้ แต่ก็ยังไม่ใช่สวัสดิการพื้นฐานทั่วประเทศ
สังคมจึงควรให้สิทธิคนทำงานลาไปดูแลไม่เกิน 15 วันต่อปีโดยได้รับค่าจ้าง เพื่อให้มั่นใจว่าทุกคนสามารถจัดการวิกฤตในครอบครัวได้โดยไม่ต้องวางใจไว้กับเมตตาของนายจ้างเป็นรายกรณี
สิทธิ “ลาไปบอกลา”
คือสิทธิลาหยุดงานเพื่อไปดูแบุคคลอันเป็นที่รักในช่วงสุดท้ายของชีวิต (ผู้ป่วยระยะท้ายที่มีชีวิตไม่เกิน 1 ปี) เป็นสิทธิที่ควรมีในสังคมไทยที่ยึดถือคุณค่าของความกตัญญู การตอบแทนผู้มีพระคุณ และการจากไปอย่างมีความหมาย
การได้ใช้เวลาเคียงข้างกันในโมงยามสุดท้าย ได้ขอขมาลาโทษ ได้กล่าวคำอำลา หรือร่วมจัดงานศพอย่างเหมาะสม คือประสบการณ์ที่เยียวยาใจ และช่วยให้คนทำงานรู้สึกว่าได้ทำหน้าที่ลูกหลานอย่างสมบูรณ์ หากพลาดโอกาสนี้ คนจำนวนไม่น้อยอาจเผชิญกับ “ความรู้สึกผิด” และ “บาดแผลทางใจ” ที่ตามหลอกหลอนยาวนานหลายปี
ปัจจุบัน คนทำงานต้องใช้ลากิจหรือลาพักร้อนแทน แต่สิทธิเหล่านี้มักไม่เพียงพอ บางคนจึงวางแผนลาแบบระมัดระวัง หากผู้ป่วยเสียชีวิตเสียก่อนจะลางานได้ทัน ผลที่ตามมาคือทั้งคนทำงานและผู้ป่วยสูญเสียโอกาสในการใช้เวลาช่วงสุดท้ายของชีวิตอย่างมีคุณภาพ คนทำงานที่เสียสุขภาพจิตเพราะไม่มีโอกาสดูแลก็อาจลาออกจากองค์กรในเวลาต่อมา
สังคมที่ที่ไม่เปิดโอกาสให้คนทำงานลาไปดูแลบุพการี ส่งผลให้ลูกหลานจำนวนหนึ่งตัดสินใจลาออกมาเป็นผู้ดูแลผู้ป่วย ส่วนหนึ่งถูกบังคับให้ลาออกมาดูแล สูญเสียโอกาสการทำงานที่มั่นคง
ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่เราจะให้สิทธิ “ลาไปบอกลา” คนทำงานในครอบครัว แก่คนทำงาน ปีละไม่น้อยกว่า 30 วัน (รวมถึงเวลาจัดงานศพ) โดยต้องได้รับการรับรองจากแพทย์ว่าเป็นผู้ป่วยระยะท้าย สิทธินี้จะเป็นหลักประกันว่า ผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่มีครอบครัว จะไม่ตายอย่างเดียวดาย และคนทำงานจะไม่สูญเสียงานเพราะทำในสิ่งที่มนุษย์ควรทำ
ก้าวต่อไป สิทธิลาไปดูแล ลาไปบอกลา
เอกภพ สิทธิวรรณธนะ กลุ่ม Peaceful Death ระบุว่า คนส่วนใหญ่คงไม่ปฏิเสธว่า “สิทธิลาดูแล” และ “ลาไปบอกลา” คือสิทธิที่คนทำงานควรได้รับ คำถามที่ต้องถกเถียงต่อไปคือ คนทำงานควรลาได้กี่วัน ควรได้รับค่าจ้างหรือไม่ ใครจะเป็นคนจ่าย และเงื่อนไขการลาคืออะไร
ปัจจุบัน ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ที่เสนอโดย นางสาววรรณวิภา ไม้สน ได้บรรจุ “สิทธิลาดูแล” ไว้แล้ว และคาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในสมัยหน้า ส่วน “สิทธิลาไปบอกลา” กลุ่ม Peaceful Death จะร่วมรณรงค์ต่อกับทุกภาคส่วนเพื่อผลักดันให้เป็นจริงในอนาคต