ThaiPBS Logo

ส่งเสริมการเรียนรู้ขั้นพื้นฐานทุกที่ทุกเวลา

โครงการส่งเสริมการเรียนรู้ขั้นพื้นฐานทุกที่ทุกเวลา (Anywhere Anytime) เป็นนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อสอดรับกับนโยบายรัฐบาลในการสร้างสังคมการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยหวังลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ผ่านการจัดทำหลักสูตรที่ทันสมัย ใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ (1 นักเรียน 1 แท็บเล็ต)

อ่านเพิ่มเติม

  • เริ่มนโยบาย
  • วางแผน
  • ดำเนินงาน
  • ตรวจสอบ
  • ประเมินผล

เริ่มนโยบาย

ขั้นตอนเริ่มต้นนโยบาย ประกาศนโยบายต่อสาธารณะ

วางแผน

ขั้นตอนวางแผน เสนอแผนงานต่างๆ

ดำเนินงาน

ขั้นตอนดำเนินงานตามนโยบายที่ประกาศไว้

ตรวจสอบ

ขั้นตอนการตรวจสอบการทำงาน

ประเมินผล

ขั้นตอนการประเมินผลการดำเนินการตามนโยบาย

อ่านเพิ่มเติม

ความคืบหน้าล่าสุด (20 ก.พ. 2567)

  • (20 ก.พ. 2567) ครม. อนุมัติโครงการส่งเสริมการเรียนรู้ขั้นพื้นฐานทุกที่ทุกเวลา ระยะที่ 2 เพื่อจัดหาอุปกรณ์การเรียนที่เหมาะสมต่อผู้เรียนแต่ละวัย (Anywhere Anytime) วงเงินรวม 22,102.97 ล้านบาท

 

รัฐบาลเศรษฐา ปัดฝุ่นโครงการ

นโยบายแจกแท็บเล็ตเพื่อเปิดโอกาสทางการศึกษาผ่านช่องทางออนไลน์ ปรากฏในสนามการหาเสียงเลือกตั้งปี 2566 โดยพรรคเพื่อไทยได้ประกาศนโยบายด้านการศึกษา เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2566 โดยระบุนโยบายแจกแท็บเล็ตว่า

“Free tablet for all” โครงการ 1 นักเรียน 1 แท็บเล็ต และโครงการ 1 ครู 1 แท็บเล็ต เพื่อเปิดโอกาสทางการศึกษาผ่านออนไลน์

ต่อมาในวันที่ 11 ก.ย. 2566 ภายหลังการจัดตั้งรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน นายกฯ แถลงนโยบายต่อรัฐสภา โดยระบุถึงนโยบายการศึกษาว่า

ในด้านการศึกษา รัฐบาลจะดำเนินนโยบายปฏิรูปการศึกษาและสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต … สร้างรายได้กระจายอำนาจการศึกษาให้ผู้เรียนได้เข้าถึงการเรียนรู้อย่างทั่วถึง มีอุปกรณ์การเรียนที่เหมาะสมต่อผู้เรียนแต่ละวัย และใช้ระบบเทคโนโลยีการศึกษาสมัยใหม่

สอดคล้องกับนโยบายของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่ได้เอานโยบายแจกแท็บเล็ตมาเป็นหนึ่งในนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” โดยระบุในนโยบาย

  • • ลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา ผ่านการจัดหาอุปกรณ์การสอนและสวัสดิการ (1 ครู 1 แท็บเล็ต)
  • • ลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง ผ่านการเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา (Anywhere Anytime) เรียนฟรี มีงานทำ “ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง” มีระบบหรือแพลตฟอร์มการเรียนรู้ โดยผู้เรียนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา (1 นักเรียน 1 แท็บเล็ต)

ปีงบประมาณ 2567

สพฐ. ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการเรียนรู้ขั้นพื้นฐานทุกที่ทุกเวลา ระยะที่ 1 : พัฒนาระบบนิเวศทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัล วงเงินรวม 482.26 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนผ่านระบบเทคโนโลยีดิจิทัลของ ศธ. โดยสามารถรองรับโรงเรียนคุณภาพ ในสังกัด ศธ. จำนวน 349 โรงเรียน โดยแบ่งการดำเนินการ ดังนี้

  • 1. เช่าใช้ระบบคลาวด์ระดับ ศธ. วงเงิน 36.38 ล้านบาท
  • 2. จ้างที่ปรึกษาพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้แห่งชาติโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นฐาน (NDLP) วงเงิน 200.88 ล้านบาท
  • 3. จ้างที่ปรึกษาวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นฐาน วงเงิน 245.00 ล้านบาท
  • รวม 482.26 ล้านบาท

ปีงบประมาณ 2568

วันที่ 20 ก.พ. 2567 ครม. ได้อนุมัติโครงการส่งเสริมการเรียนรู้ขั้นพื้นฐานทุกที่ทุกเวลา ระยะที่ 2 : จัดหาอุปกรณ์การเรียนที่เหมาะสมต่อผู้เรียนแต่ละวัย (Anywhere Anytime) เพื่อเป็นการขยายโอกาสทางการศึกษาให้ครอบคลุมสถานศึกษาในสังกัด ศธ. จำนวน 29,312 โรงเรียน วงเงินรวม 22,102.97 ล้านบาท โดยก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ ระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568-2572 ประกอบด้วย 2 กิจกรรม ดังนี้

  • 1. การพัฒนาระบบนิเวศด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และการเช่าใช้ระบบคลาวด์ สำหรับแพลตฟอร์มด้านการศึกษา วงเงิน 6,531.08 ล้านบาท
  • 2. การจัดหาอุปกรณ์การเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมสนับสนุนการเรียนรู้ทุกที่ทุกเวลา วงเงิน 15,571.90 ล้านบาท แบ่งเป็น
    • 2.1 การเช่าอุปกรณ์การเรียนการสอน (Tablet หรือ Notebook หรือ Chromebook) เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการเรียนรู้ทุกที่ทุกเวลา จำนวน 607,655 เครื่อง ระยะเวลา 60 เดือน วงเงิน 15,491.90 ล้านบาท
    • 2.2 การพัฒนา ส่งเสริม และขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้ด้วยรูปแบบการเรียนรู้ของผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ผ่านแพลตฟอร์มการเรียนรู้เทคโนโลยีดิจิทัล วงเงิน 80 ล้านบาท
  • รวม 22,102.97 ล้านบาท

 

ย้อนดูนโยบาย One Tablet Per Child (OTPC) ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์

อย่างไรก็ตาม นโยบายแจกแท็บเล็ตในประเทศไทยไม่ได้เกิดเป็นครั้งแรก ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2554 ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ แถลงนโยบายต่อรัฐสภา โดยมีนโยบายจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตให้แก่โรงเรียนเป็นนโยบายเร่งด่วน และเริ่มทดลองดำเนินการในโรงเรียนนำร่องสำหรับระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ปีการศึกษา 2555 ควบคู่กับการเร่งพัฒนาเนื้อหาที่เหมาะสม โดยระบุว่า

1.15 จัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตให้แก่โรงเรียน โดยเริ่มทดลองดำเนินการในโรงเรียนนำร่องสำหรับระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ปีการศึกษา พ.ศ. 2555 ควบคู่กับการเร่งพัฒนาเนื้อหาที่เหมาะสมตามหลักสูตรบรรจุลงในคอมพิวเตอร์แท็บเล็ต รวมทั้งจัดทำระบบอินเทอร์เน็ตไร้สายตามมาตรฐานการให้บริการในสถานศึกษาที่กำหนด โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

นำมาสู่การเปิดโครงการ One Tablet PC Per Child (OTPC) เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2555 มีการจัดซื้อแท็บเล็ตให้แก่นักเรียนและครูชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และคอมพิวเตอร์สำรองให้แก่โรงเรียน จำนวนรวม 1 ล้านเครื่อง

โดยมองว่าเป็นการยกระดับคุณภาพการศึกษาให้เด็กนักเรียนชั้น ป.1 สามารถอ่านออก เขียนได้ คิดเลขเป็น รวมไปถึงการสร้างนิสัยให้เด็กสนุกกับการเรียนรู้

โครงการดังกล่าวดำเนินการควบคู่กับการพัฒนาเนื้อหาที่เหมาะสมตามหลักสูตรบรรจุลงในแท็บเล็ต รวมถึงพัฒนาอินเตอร์เน็ตไร้สายในระดับการให้บริหารและในพื้นที่สาธารณะ รวมถึงสถานศึกษาที่กำหนดฟรี

โดยในส่วนของแท็บเล็ตที่มีการจัดซื้อ มีการแจกให้นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 856,886 เครื่อง วงเงินรวม 1,900 ล้านบาท ซึ่งมีกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ปัจจุบันคือ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม) เป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อจากประเทศจีน โดยแบ่งเป็น

ถัดมาในปี 2556 ซึ่งเป็นปีที่สองของโครงการ มีการประกวดราคาจัดซื้อแท็บเล็ต วงเงินจำนวน 4,611 ล้านบาท แต่บริษัทไม่สามารถจัดส่งเครื่องได้ตามสัญญา ส่งผลให้สพฐ. ต้องยกเลิกสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง ส่อเกิดปัญหาฮั้วประมูล ทำให้การกระจายแท็บเล็ตล่าช้า

ภายหลังรัฐบาลพลเรือนถูกรัฐประหารยึดอำนาจโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 ตามมาด้วยการขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกฯ ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นโยบายดังกล้าวก็ถูกยุติลง โดยที่ประชุมเพื่อพิจารณาโครงการ OTPC เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2557 ซึ่งมี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ในฐานะรองหัวหน้า คสช. กำกับดูแลฝ่ายสังคมจิตวิทยา เป็นประธาน มีมติให้ยกเลิกการจัดซื้อแท็บเล็ตตามปีงบประมาณ 2556 ที่เหลืออยู่ และปีงบประมาณ 2557 ทั้งหมด โดยให้เหตุผลว่าไม่คุ้มค่าและไม่เหมาะสม ดังนี้

  • 1. นักเรียนใช้แท็บเล็ตเรียน 1-2 ชั่วโมงต่อวันเท่านั้น อาจใช้งานหมุนเวียนกันได้ จึงไม่คุ้มค่า-ไม่เหมาะสมที่จะจัดซื้อให้นักเรียนทุกคน
  • 2. แท็บเล็ตไม่เหมาะ-ไม่ควรที่จะนำมาสอนตลอดเวลา ควรใช้ในบางชั่วโมง และนักเรียนควรเรียนจากครูผู้สอน
  • 3. แท็บเล็ตมีขนาดหน้าจอเล็กทำให้มีปัญหาด้านสายตา ราคาถูก อายุใช้งานสั้นเพียง 3 ปี ไม่คุ้มค่าจ่อการซ่อมบำรุง
  • 4. แท็บเล็ตเป็นครุภัณฑ์ของโรงเรียน ไม่เหมาะสมที่ไปมอบให้เป็นของส่วนตัวของนักเรียน และคณะกรรมการว่าด้วยพัสดุ กรมบัญชีกลาง แจ้งว่ามอบให้เด็กนักเรียนไม่ได้

และนำงบประมาณที่เหลือจากปีงบประมาณ 2556 จำนวน 1,170 ล้านบาท และปีงบประมาณ 2557 จำนวน 5,800 ล้านบาท ไปทำประโยชน์ต่อการศึกษาในด้านอื่น ๆ โดยมอบให้ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เสนอขอกรมบัญชีกลางและสำนักงบประมาณ เปลี่ยนแปลงรายการและขอกันเงินงบประมาณแบบไม่มีหนี้ เพื่อนำเงินไปใช้ในโครงการอื่นต่อไป

 

อ้างอิง

 

ภาพรวม

ลำดับเหตุการณ์

  • ครม. อนุมัติโครงการส่งเสริมการเรียนรู้ขั้นพื้นฐานทุกที่ทุกเวลา ระยะที่ 2 เพื่อจัดหาอุปกรณ์การเรียนที่เหมาะสมต่อผู้เรียนแต่ละวัย (Anywhere Anytime) วงเงินรวม 22,102.97 ล้านบาท  ดูเพิ่มเติม ›

    20 ก.พ. 2567

  • พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ มอบหมายให้จัดตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาเรื่องรูปแบบของแท็บเล็ตที่จะแจก

    17 พ.ย. 2566

  • สพฐ. ดำเนินโครงการส่งเสริมการเรียนรู้ขั้นพื้นฐานทุกที่ทุกเวลา ระยะที่ 1 โดยพัฒนาระบบนิเวศทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัล วงเงินรวม 482.26 ล้านบาท  ดูเพิ่มเติม ›

    ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (1 ต.ค. 2566 - 30 ก.ย. 2567)

  • พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. มอบนโยบายแก่ผู้บริหาร โดยมีหนึ่งในนโยบายเร่งด่วน คือ เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา (Anywhere Anytime) มีแพลตฟอร์มการเรียนรู้ ไม่เสียค่าใช้จ่าย ด้วยนโยบาย 1 นักเรียน 1 แท็บเล็ต  ดูเพิ่มเติม ›

    14 ก.ย. 2566

  • เศรษฐา ทวีสิน นายกฯ แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ระบุ "(จะทำ)ให้ผู้เรียนได้เข้าถึงการเรียนรู้อย่างทั่วถึง มีอุปกรณ์การเรียนที่เหมาะสมต่อผู้เรียนแต่ละวัย และใช้ระบบเทคโนโลยีการศึกษาสมัยใหม่"  ดูเพิ่มเติม ›

    11 ก.ย. 2566

  • พรรคเพื่อไทย ประกาศนโยบายหาเสียง โดยมีนโยบาย Free tablet for all โครงการ 1 นักเรียน 1 แท็บเล็ต และ โครงการ 1 ครู 1 แท็บเล็ต เพื่อเปิดโอกาสทางการศึกษาผ่านออนไลน์ เป็นหนึ่งในนโยบายด้านการศึกษา  ดูเพิ่มเติม ›

    20 เม.ย. 2566

  • รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีความคิดที่จะเอานโยบายแจกแท็บเล็ตกลับมา เพื่อรองรับการเรียนออนไลน์เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 แต่ไม่ได้มีการดำเนินการแต่อย่างใด

    เม.ย. 2563

  • ภายหลังการรัฐประหาร ที่ประชุมเพื่อพิจารณาโครงการ OTPC (มี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองหัวหน้า คสช. เป็นประธาน) มีมติให้ยกเลิกการจัดซื้อแท็บเล็ตตามปีงบประมาณ 2556 ที่เหลืออยู่ และปีงบประมาณ 2557 ทั้งหมด

    16 มิ.ย. 2557

  • ปีที่ 2 ของการดำเนินโครงการ OTPC มีการประกวดราคาจัดซื้อแท็บเล็ต วงเงินจำนวน 4,611 ล้านบาท แต่บริษัทไม่สามารถจัดส่งเครื่องได้ตามสัญญา ส่งผลให้สพฐ. ต้องยกเลิกสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง ส่อเกิดปัญหาฮั้วประมูล  ดูเพิ่มเติม ›

    2556

  • ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ เป็นประธานในพิธีเปิดงานโครงการ One Tablet PC Per Child (OTPC) โดยได้มีการจัดซื้อแท็บเล็ตให้แก่นักเรียน และครูผู้สอน ชั้น ป.1 จำนวน 856,886 เครื่อง วงเงินประมาณ 2,000 ล้านบาท

    7 มิ.ย. 2555

  • ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ แถลงนโยบายต่อรัฐสภา โดยมีนโยบายจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตให้แก่โรงเรียนเป็นนโยบายเร่งด่วน และเริ่มทดลองดำเนินการในโรงเรียนนำร่องสำหรับระดับชั้น ป.1 ปีการศึกษา 2555  ดูเพิ่มเติม ›

    23 ส.ค. 2554

รายละเอียด

ความสำเร็จของนโยบาย


บทความ/บทวิเคราะห์