ThaiPBS Logo
Policy Forum ครั้งที่ 9 I วิชาชีวิตเทียบหน่วยกิตได้

Policy Forum ครั้งที่ 9 I วิชาชีวิตเทียบหน่วยกิตได้

13 มี.ค. 256714:05 น.

เรียนรู้มาเพียบ แต่เทียบโอนวุฒิไม่ได้ ทำไงดี ? เทรนด์ยุคใหม่ ! หลายทักษะความรู้ ไม่มีสอนในห้องเรียน ครั้นไป Re-skill Up-skill แล้วกลับเทียบวุฒิ โอนเป็นหน่วยกิตในระบบไม่ได้ กำลังสะท้อนภาพปัญหาระบบการศึกษาไทยที่ยังไม่เชื่อมต่อ และ ไม่รองรับความเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการเรียนรู้

รายละเอียด

Copied!
เรียนรู้มาเพียบ แต่เทียบโอนวุฒิไม่ได้ ทำไงดี ? เทรนด์ยุคใหม่ ! หลายทักษะความรู้ ไม่มีสอนในห้องเรียน ครั้นไป Re-skill Up-skill แล้วกลับเทียบวุฒิ โอนเป็นหน่วยกิตในระบบไม่ได้ กำลังสะท้อนภาพปัญหาระบบการศึกษาไทยที่ยังไม่เชื่อมต่อ และ ไม่รองรับความเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการเรียนรู้

“โลกหมุนเร็วมากขึ้นทุกวัน”

ประโยคข้างต้นไม่ได้กล่าวขึ้นมาลอย ๆ แต่อ้างอิงจาก World Economic Forum ที่บอกกับเราว่า ในปี 2566 ที่ผ่านมา ราว 1 ใน 3 ของงานทั้งหมดในโลกถูกกดดันให้ปรับตัว เพราะการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและการมาของนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI) ส่วนงานราว 75 ล้านตำแหน่งกำลังถูกลดความสำคัญลง และมีงานอีกกว่า 133 ล้านตำแหน่ง กำลังเกิดขึ้นใหม่บนเงื่อนไขเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป

แล้วการศึกษาต้องยืดหยุ่นอย่างไรถึงจะตอบโจทย์ให้ผู้เรียนสามารถเอาตัวรอดในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ — นี่คือข้อคำถามหลักที่ทุกคนชวนพูดคุยกันใน Policy Forum : ‘วิชาชีวิต เทียบหน่วยกิตได้

หนึ่งในวิธีการสร้างระบบความรู้ให้อยู่คู่เยาวชนไทยไปจนถึงวัยแรงงาน คือ การออกแบบระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่นกับชีวิตของผู้เรียนมากขึ้น ตาม พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ ปี 2542 ระบุไว้ว่า สถานศึกษาทุกแห่งสามารถจัดการศึกษาได้ 3 รูปแบบ คือ 1) การศึกษาในระบบ 2) การศึกษานอกระบบ และ 3) การศึกษาตามอัธยาศัย จะเห็นได้ว่าเรามี พ.ร.บ. และระบบการเทียบโอนหน่วยกิตโดยสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพที่พร้อมใช้ แต่ที่ผ่านมาโรงเรียนส่วนใหญ่เลือกจัดแค่รูปแบบเดียว คือการศึกษาในระบบที่มีการประเมินวัดผลและการตัดเกรดที่เคร่งครัด เราจึงยังติดอยู่กับกับดักการให้ความรู้ที่ตายตัวและไม่ยืดหยุ่นตามบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลง

โจทย์ของโลกความเป็นจริงคือ “เราไม่อาจรู้ได้ด้วยตาเปล่า ว่าใครมีทักษะอะไรบ้าง” ระบบวุฒิการศึกษาจึงยังจำเป็นในการช่วยบ่งชี้โดยคร่าว ๆ ว่าคนแต่ละคนมีความเชี่ยวชาญอย่างไรบ้าง เอื้ออำนวยความสะดวกให้นายจ้างเลือกรับคนให้ตรงกับงาน แต่ระบบนี้ยังติดชะงักอยู่ 3 ประเด็นหลัก คือ

  • การให้วุฒิการศึกษายังเป็นหน้าที่และธุรกิจหลักของภาครัฐ หมายความว่า บรรดาวุฒิการศึกษาที่มีอยู่ในสังคมไทยและได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย เจ้าของวุฒิเหล่านั้นยังขึ้นตรงอยู่กับสถาบันทางการศึกษาของภาครัฐ เป็นเหตุให้เมื่อภาคเอกชนจะสร้างระบบมอบวุฒิการศึกษาขึ้นเองบ้าง ก็จะไม่ได้รับการยอมรับเท่ากับวุฒิของทางภาครัฐ หรือมี ‘ข้อจำกัด’ ของการใช้วุฒิฯ เพื่อสมัครงานมากกว่า และเมื่อวุฒิการศึกษายังถูกผูกติดกับรัฐ หลักสูตรการศึกษาที่สร้างโดยภาคเอกชน เพื่อภาคเอกชนจึงยังเกิดขึ้นได้น้อย
  • วุฒิการศึกษาไม่อาจสะท้อน ‘ทักษะ’ ได้อย่างชัดเจน กล่าวคือ วุฒิฯ ที่ได้รับจากทางสถาบันอุดมศึกษาหรือสถานศึกษาต่าง ๆ ไม่อาจรับรองได้อย่างครบถ้วนว่าแรงงานนั้นมีทักษะตามที่ปรากฎจริง หรืออาจมีทักษะอยู่บ้าง แต่ก็ไม่สามารถช่วยการันตีให้นายจ้างได้ว่า “คนนี้เหมาะกับงานที่เปิดรับอยู่หรือไม่” ส่วนหนึ่งจากวงเสวนาสะท้อนว่า เป็นเพราะสถาบันที่ให้วุฒิการศึกษาส่วนใหญ่ยังมีหลักสูตรที่ตายตัว ไม่ยืดหยุ่น ไม่สอดคล้องกับสมรรถนะของการทำงานจริง เป็นต้น จนนำมาซึ่งปัญหาการจ้างงานไม่ตรงสายหรือไม่ตรงระดับวุฒิฯ ซึ่งการว่าจ้างที่ไม่สอดคล้องกับวุฒิฯ ยังก่อให้เกิดความไม่คุ้มทุนทางเศรษฐศาสตร์อีกด้วย
  • ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงวุฒิการศึกษา แน่นอนว่าตลาดงานย่อมมองหาแรงงานที่มีวุฒิฯ ซึ่งได้รับการยอมรับมาก เช่น จบจากสถาบันมีชื่อเสียง, ได้รับวุฒิการศึกษาระดับสูง เป็นต้น แต่โอกาสในการเข้าไปเล่าเรียนเพื่อให้ได้มาซึ่งวุฒิฯ เหล่านั้นจำเป็นต้องใช้ ‘ทุนมนุษย์’ และ ‘ทุนทรัพย์’ ด้วยเหตุนี้ คนที่ขาดแคลนโอกาสก็จะยิ่งถูกทิ้งห่างและยากที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตตัวเอง ปัญหาในข้อนี้ จำเป็นต้องอาศัยการแก้ไขระบบการเทียบโอนวุฒิฯ-หน่วยกิตให้ยืดหยุ่น หลากหลาย มีคุณภาพ แต่ต้องมีการปรับค่านิยมในสังคมด้วย

‘ระบบเทียบโอนหน่วยกิต’ ยังขาดอะไร?

ในเบื้องต้น ประเทศไทยมี พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ปี 2542 ที่เอื้อให้สถานศึกษาทุกแห่ง และสถาบันอื่น ๆ เช่น ครอบครัว ชุมชน สามารถจัดการศึกษาได้ 3 รูปแบบ และเทียบโอนหน่วยกิตของผู้เรียนได้ ไม่ว่าผู้เรียนจะมีข้อจำกัดในชีวิตอย่างไร กฎหมายฉบับนี้มุ่งอำนวยให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้อย่างอิสระ ล่าสุดได้ออก พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ ปี 2566 ที่ยกระดับสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.) ให้เป็น “กรมส่งเสริมการเรียนรู้” มีหน้าที่สนับสนุนการเรียนรู้ของวัยอื่น ๆ ที่ไม่ใช่วัยเรียน ผ่านการเรียนรู้ 3 รูปแบบ ได้แก่ 1) การเรียนรู้ตลอดชีวิต 2) การเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเอง และ 3) การเรียนรู้เพื่อคุณวุฒิตามระดับ

เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาคนสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (สคช.) จึงถูกจัดตั้งขึ้น โดยมีหน้าที่พัฒนาระบบคุณวุฒิวิชาชีพให้เป็นไปตามนโยบายปฏิรูปการศึกษาและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานความรู้ ระบบคุณวุฒิวิชาชีพ ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อรับรอง ‘สมรรถนะ’ ของคนตามมาตรฐานอาชีพ เพื่อตอบสนองความต้องการของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ซึ่งแรงงานจะได้รับ ‘คุณวุฒิวิชาชีพ’ ที่สอดคล้องกับสมรรถนะประสบการณ์และความรู้ของตน และสามารถเทียบเคียง และเชื่อมโยงกับระบบคุณวุฒิอื่น ๆ ของประเทศได้ ปัจจุบัน สคช. รองรับการวัดผลมาตรฐานอาชีพมากถึง 54 สาขา และมีการวัดผลมาตรฐานสมรรถนะอีก 9 ทักษะ เพื่อตอบโจทย์ของโลกของงานที่มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

มีกฎหมายรองรับแล้ว มีหน่วยงานที่เข้ามาดูแลโดยตรงแล้ว แต่สิ่งที่วงเสวนาสะท้อนเป็นเสียงเดียวกัน คือ การขาดความเข้าใจต่อนโยบาย ปัจจุบันยังพบรอยต่อของการเทียบโอนหน่วยกิต บุคลากรด้านการศึกษา เจ้าหน้าที่เขตพื้นที่การศึกษา รวมไปถึงหน่วยงานด้านการศึกษาอื่น ๆ ยังไม่เข้าใจว่าการเทียบโอนสามารถทำได้อย่างไร ทั้งนี้ การเทียบโอนหน่วยกิตแต่ละวิชาต้องมีเครื่องมือและต้นทุนจำนวนหนึ่ง เมื่อไม่มีการสร้างความเข้าใจอย่างเป็นระบบ จึงทำให้หลายหน่วยงานมองข้ามไป กุญแจสำคัญคือ การประสานความร่วมมือในแต่ละหน่วยการศึกษาต้องเกิดขึ้น ไม่อย่างนั้นแล้วการเรียนรู้ของคนไทยก็จะติดตะเข็บและเต็มไปด้วยรอยต่อที่ไม่เอื้อให้การเทียบคุณวุฒิเกิดขึ้นได้อย่างสะดวก

ทางไปต่อสู่ ‘สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต’

ระบบเทียบโอนคุณวุฒิ ไม่อาจสำเร็จได้อย่างที่หวังหากสังคมยังไม่เปลี่ยนแนวคิดของระบบการศึกษาอย่างจริงจัง การพยายามปรับหลักสูตรการศึกษาให้ทันโลกอยู่เสมอเป็นเรื่องที่ควรทำ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการศึกษาไทยยังใหญ่โตเทอะทะเกินกว่าจะเข้าใจและแก้ไขปัญหาซับซ้อนในแต่ละพื้นที่ได้ ดังนั้นการวางระบบ Reskill & Upskill ให้แรงงานสามารถเทียบวุฒิ-พัฒนาทักษะได้ตลอดจะช่วยให้คนมีความเชี่ยวชาญที่ตอบโจทย์โลกได้มากขึ้น ขณะที่นายจ้างได้ว่าจ้างคนที่ตรงกับงาน และระบบการศึกษาก็ไม่ต้องรับภาระในการพยายามสร้างอัจฉริยะตั้งแต่เด็ก และเอาเวลาไปใส่ใจการพัฒนาคนขั้นพื้นฐานให้แข็งแรงมากขึ้น โดยวงเสวนาได้เสนอทางไปต่อสู่ ‘สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต’ ดังนี้

  • รัฐต้องปรับเปลี่ยนบทบาทจากผู้บังคับบัญชา เป็นผู้สร้างนโยบาย เน้นสร้างบรรยากาศในการออกแบบการศึกษาที่เปิดกว้าง เอื้อให้ภาคีเครือข่ายด้านการศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมได้มากขึ้น รวมถึงเป็นคนคอยประสานงานให้แต่ละหน่วยได้มาร่วมมือกัน เช่น จัดการศึกษาทวิภาคีระหว่างอาชีวะศึกษากับภาคอุตสาหกรรม การเชื่อมโยงสถานศึกษาเข้ากับสถานประกอบการ จะช่วยทำให้แรงงานมีโอกาสพัฒนาทักษะได้มากขึ้น
  • สร้างระบบนิเวศแห่งการเรียนรู้ที่เข้าถึงง่าย ได้คุณภาพ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ด้วยการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ผ่านการสร้างช่องทางการเรียนรู้ที่หลากหลาย, ผู้ปฏิบัติงานมีความรู้และความเข้าใจในพันธกิจของนโยบายที่ดำเนินอยู่, หน่วยงานอย่างกรมส่งเสริมการเรียนรู้ต้องเป็นผู้สนับสนุนหน่วยการศึกษาของเอกชน และที่สำคัญรัฐต้องเชื่อว่าการสร้างระบบนิเวศเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นเรื่องที่ต้องทำทันที
  • คุณวุฒิทางการศึกษาต้องทันสมัย ทันโลก จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยคนจากหลายภาคส่วนช่วยกันมอง บางอย่างที่ภาครัฐไม่ถนัด ก็เปิดโอกาสให้เอกชนได้เป็นคนออกแบบ และรัฐมีหน้าที่กำหนดมาตรฐาน เอื้ออำนวยให้ระบบการสร้างหลักสูตรและการเทียบโอนเป็นไปอย่างราบรื่น
  • จัดตั้งศูนย์ประสานงานด้านการศึกษา เพื่อเป็น One Stop Service ด้านการจัดการการศึกษา บนกฎเกณฑ์ที่ยืดหยุ่นแต่ปฏิบัติกันอย่างพร้อมเพรียง เพราะกฎเกณฑ์ต่าง ๆ มีอยู่แล้ว แต่เมื่อลงไปถึงระดับปฏิบัติ รัฐจะทำอย่างไรให้ทุกหน่วยงานสามารถเดินหน้านโยบายได้อย่างพร้อมเพรียงกัน โดยหน่วยประสานงานจะช่วยลดการซับซ้อนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางการศึกษา

Video

Visual Note

Visual Note