ท่ามกลางสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ที่พุ่งสูงในหลายพื้นที่ นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ประกาศเร่งเดินหน้าแก้ไขทั้งเรื่อง ‘จุดความร้อน’ และ ประสานความร่วมมือกับต่างประเทศ ที่สำคัญคือให้ยึด ‘เชียงใหม่โมเดล’ เป็นแนวทางในการแก้ปัญหา
จุดเด่นของ ‘เชียงใหม่โมเดล’ คือการเปิดให้ภาคส่วนต่าง ๆ ในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา ไม่ใช่รอให้ส่วนกลางหรือคนนอกพื้นที่มาเป็นฝ่ายสั่งการ ทำให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างตรงจุด รวดเร็วและตอบโจทย์พื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเปลี่ยนจากการสั่งการแบบบนลงล่าง เป็นล่างขึ้นบน
นอกจากนี้ ในเรื่องไฟป่าได้มีการทบทวนแนวคิดจาก Zero Burning หรือ ห้ามเผาเด็ดขาด มาเป็น Fire Management หรือ การบริหารจัดการเชื้อเพลิง โดยกำหนดพื้นที่เป็น 1. พื้นที่สำคัญ ห้ามเผา 2. พื้นที่จำเป็น บริหารการเผาแบบควบคุม และ 3. ลดปริมาณเชื้อเพลิง
ในส่วนของการบริหารจัดการเผาแบบควบคุม จะใช้ระบบการจองเผาในพื้นที่เกษตรผ่านแอปพลิเคชัน Fire D ที่จะมีข้อมูลพื้นฐานทั้งปริมาณฝุ่น PM 2.5 ฮอตสปอต กระแสลมแบบเรียลไทม์ และพยากรณ์ล่วงหน้าได้ 3-5 วัน ซึ่งจะใช้ประกอบการพิจารณาในการจองคิวเผา ว่าเวลาเผาได้ หรือไม่ควรเผา เป็นการจัดการโดยใช้ข้อมูลวิชาการ
- เปิดฐานข้อมูล สถานการณ์ปัญหาหมอกควันไฟ เชียงใหม่
- กลไกบริหารจัดการ “เชียงใหม่โมเดล” จัดระบบการเผา ลดฝุ่น
- สะท้อนมุมมอง สภาลมหายใจเชียงใหม่
- ดูผลลัพธ์ เชื่อมหลักการสำคัญกฎหมายอากาศสะอาด
- เดินหน้าต่อ ยกระดับจัดการไฟ แก้ปัญหาฝุ่น
จากเวที Policy Forum ครึ่งทางฤดูฝุ่น จัดการไฟแก้ PM2.5 เชียงใหม่ ได้เปิดพื้นที่ฟังข้อมูล แลกเปลี่ยนมุมมอง ข้อเสนอแนะ เพื่อพัฒนาระบบการบริหารจัดการฝุ่นควันจากการเผา ภายใต้โจทย์ 4 เรื่อง ชวนคิด 1. อะไรที่ดีแล้ว 2. อะไรเกือบดีแล้วแต่ต้องเพิ่มเติมอีก 3. ทำแล้วเสียเปล่า และ 4. อะไรที่ยังไม่ได้ทำและน่าทำ
อะไรที่ดีแล้วทำต่อ
หนึ่งในประเด็นมีข้อเสนอให้ปรับปรุงเพื่อไปต่อ คือ เรื่องบทบาทและการมีส่วนร่วมขององค์กรส่วนท้องถิ่นในการบริหารจัดการการเผาในที่โล่ง ซึ่งที่ผ่านมา ‘เชียงใหม่โมเดล’ มีการปรับกระบวนทัศน์ให้ท้องถิ่น และภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจบริหารจัดการเชื้อเพลิง ควบคุมการเผา แก้ปัญหาหมอกควันร่วมกับหน่วยงานรัฐซึ่งเป็นทิศทางที่ดี
แต่พบว่ายังมีข้อจำกัดด้านการจัดการที่มีความทับซ้อนของกฎหมายและอำนาจหน้าที่ รวมถึงการจัดทำแผน ระหว่างส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาชนในพื้นที่ ซึ่งหาก “การจัดทำแผนการใช้ไฟ” มีความชัดเจนตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน บนฐานข้อมูลเดียวกันในทุกระดับ และสามารถยกระดับเป็นแผนที่ได้รับอนุมัติโดยชอบด้วยกฎหมาย จะสามารถยกระดับความสำเร็จและผลลัพธ์ที่ดีมากขึ้นได้
ในข้อเสนออีกด้าน คือการบูรณาการความร่วมมือที่เห็นผลผ่านวอร์รูม และใช้ แอปพลิเคชัน FireD(ไฟดี) ในการบริหารจัดการเชื้อเพลิง แต่ก็อยากให้ขยายผลเทคโนโลยีไปจังหวัดอื่น ๆ ได้ใช้ เพื่อเก็บข้อมูลนำมาวิเคราะห์ตรวจสอบย้อนกลับและจัดระเบียบต่อได้ อยากเห็นการส่งต่อเรื่องนี้ไปออกแบบร่วมกันในเชิงนโยบาย
ที่ผ่านมา จากข้อมูล รศ.สมพร จันทระ ประธานคณะทำงานด้านวิชาการเพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาหมอกควันภาคเหนือ ม.เชียงใหม่ พบว่า การควบคุมแหล่งกำเนิดฝุ่น ถ้าควบคุมภาคขนส่ง จะลด PM 2.5 ได้น้อยกว่า 1 % ควบคุมการเผาป่า จะลด PM 2.5 ได้ 20-50 % และควบคุมภาคการเกษตร จะลด PM 2.5 ได้ 5-25 % ที่สำคัญต้องควบคุมมลพิษข้ามแดน จะลด PM 2.5 ได้ 40-100 %
สอดรับกับข้อเสนอในเวที Policy Forum ที่เสนอให้เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ร่วมมือในการแก้ปัญหา ฝุ่น PM 2.5 เพราะถือเป็นช่องโหว่ขนาดใหญ่มาก โดยไทยอาจเริ่มต่อยอดที่ข้อมูล ทางสถิติ หรืออาจใช้หลักการตรวจสอบการนำเข้าผลผลิตที่กระทบมลพิษทางอากาศที่อาจต้องกีดกัน
อะไรที่เกือบดีแต่ต้องเพิ่ม
ในส่วนประเด็นที่เสนอให้มีการปรับปรุงเพิ่มเติมคือ การปลดล็อก ถ่ายโอนภารกิจให้อำนาจท้องถิ่นในการป้องกันและควบคุมไฟป่า และการจัดสรรงบประมาณของจังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 107 ล้านบาท ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 117 แห่งในพื้นที่ ทั้งขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ ในวงเงินตั้งแต่ 700,000 – 180,000 บาท เพื่อนำไปใช้จัดจ้างประชาชนดูแลในจุดเฝ้าระวัง, จัดการตอบโต้สถานการณ์ในภาวะฉุกเฉิน และการประชาสัมพันธ์ สื่อสารเชิงรุกที่เข้าถึงง่าย
ประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยและส่งต่อข้อเสนออย่างกว้างขวางในระหว่างการเสวนา รวมทั้งอยากให้มี แซนด์บ็อกซ์ที่เป็นแบบอย่างให้ชุมชนอื่น ๆ นอกจากนี้ยังเสนอให้มีการสร้างองค์ความรู้ในระดับกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และการประชาสัมพันธ์เพิ่มขึ้น ในขณะที่ปีนี้การขยับแผนเรื่องไฟคือส่วนดีที่ต้องทำต่อ