เวที Policy Forum ครั้งที่ 4 : นโยบายสวัสดิการเด็กเล็ก เป็นพื้นที่สำหรับการพัฒนาแนวคิด หลักการ และความร่วมมือในระดับนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า และการดำเนินงาน ที่ไทยพีบีเอส และคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า เพื่อคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนกว่า 450 เครือข่ายร่วมจัดขึ้น โดยมีการเปิดข้อมูลจากงานวิจัย ระดมความคิด เสนอรัฐบาลเดินหน้าเงินอุดหนุนถ้วนหน้า ขยายสิทธิลาคลอด พัฒนาศูนย์เด็กเล็กให้ยืดหยุ่น หลากหลาย สอดคล้องบริบทพื้นที่ เสนอเปลี่ยน ‘การสงเคราะห์’ เป็น ‘การพัฒนามนุษย์’ รับมือโจทย์ใหญ่ในอนาคต
“เศรษฐศาสตร์ความเป็นมารดา” ลดภาระความเป็นมารดา สร้างรายได้มั่นคง
เรืองรวี พิชัยกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา นำเสนอข้อค้นพบจากงานศึกษาวิจัยสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า ในประเด็น “ความเป็นมารดา” ที่ครอบคลุมทุกเพศสภาพ ไม่ได้จำกัดอยู่ที่แม่เพียงคนเดียว แต่ “ใครก็เป็นมารดาได้” เช่น พ่อเลี้ยงเดี่ยว คู่แต่งงานที่เป็นกลุ่มหลากหลายทางเพศ
ขณะเดียวกัน ก็ชี้ให้เห็นโครงสร้างประชากรของไทยปัจจุบัน ที่ประชากรหญิงมีสัดส่วน ร้อยละ 51 ต่อประชากรชายร้อยละ 49 และผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นหญิงมากกว่าชาย ขณะที่ประชากรวัยทำงานทั้งในและนอกระบบ ก็เป็นผู้หญิงถึงร้อยละ 51.7 เงินเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 16,500 บาท สะท้อนให้เห็นว่าผู้หญิงมีบทบาททั้งการกำหนดชะตากรรมบ้านเมือง และเป็นแรงงานขับเคลื่อนประเทศ ผลการศึกษาของ McKinsey Global Institute ระบุว่าการเพิ่มความเท่าเทียมทางเพศในตลาดแรงงาน จะส่งผลให้ GDP ของประเทศสูงขึ้นร้อยละ 12-25
แม้ว่าในศตวรรษที่ 21 มีผู้หญิงทั่วโลกกว่า 1 พันล้านคนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ แต่ก็ยังมีข้อถกเถียงสำคัญเกี่ยวกับบทบาทของผู้หญิงที่จากเดิมถูกกำหนดให้เป็นแม่บ้านเลี้ยงลูก ส่วนการทำงานหาเลี้ยงครอบครัวเป็นบทบาทของผู้ชาย แต่ปัจจุบัน ผู้หญิงทำงาน หารายได้และมีสิทธิสร้างครอบครัว รวมถึงเลือกได้ว่าจะมีลูกหรือไม่ เพราะการมีลูก 1 คน จะส่งผลให้รายได้ลดลงร้อยละ 20 รวมถึงโอกาสในการทำงานก็ลดลง สวนทางค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น
สถานการณ์ ความท้าทาย และแนวทางพัฒนา “ศูนย์เด็กเล็ก”
รศ.รัตพงษ์ สอนสุภาพ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต นำเสนอประเด็น สถานการณ์ ปัญหาศูนย์เด็กเล็ก และเงินอุดหนุน ที่พบว่าใน ปี 2565 มีจำนวนศูนย์เด็กเล็กในระบบจากทุกสังกัด ทั่วประเทศจำนวน 51,969 แห่ง มีเด็กปฐมวัยช่วงอายุ 0-6 ปี จำนวน 4,497,476 คน โดยมีเด็ก 52.8% หรือ 2.3 ล้านคน ที่ได้รับเงินอุดหนุน 600 บาทจากรัฐ และมีเด็กปฐมวัยอีก 47.2 % หรือ 2.1 ล้านคน ยังคงไม่ได้รับเงินอุดหนุน โดยไม่มีฐานข้อมูลว่าเด็กเหล่านั้นอยู่ไหน
ข้อมูลจากการงานวิจัย ยังพบว่าหากรัฐบาลให้เงินอุดหนุนเด็กเล็ก 0-6 ปีแบบถ้วนหน้า ในปี 65 จำนวน 600 บาท จะใช้งบฯ 31,000 ล้านบาท หากขยับขึ้นเป็นเดือนละ 1,200 บาท จะใช้งบฯ 62,000 ล้านบาท และถ้าปรับเป็นเดือนละ 3,000 บาท จะใช้งบประมาณ 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นสัดส่วนไม่ถึง ร้อยละ 1 ของ GDP หากรัฐต้องการก้าวข้ามความเป็นประเทศติดกับรายได้ปานกลาง การลงทุนเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมของแม่และเด็กปฐมวัยที่ดีและเหมาะสมต่อการพัฒนาเรียนรู้ จะเป็นการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศในอนาคต
จึงมีข้อเสนอแนะถึงรัฐบาล ควรจัดสรรเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า 0-6 ปี ตามมติคณะกรรมการเด็กและเยาวชน (กดยช.) เพราะปัจจุบันมีช่องโหว่การดูแลสวัสดิการช่วงวัยต่าง ๆ ของสังคมไทยอย่างมาก รวมถึงการศึกษาปัญหา อุปสรรคเพื่อลดภาระความเป็นมารดา พัฒนาศูนย์ดูแลเด็กเล็กให้กระจายอย่างทั่วถึง ยืดหยุ่นเวลาเปิดปิด ให้สอดคล้องกับบริบทแต่ละพื้นที่ และการสร้างระบบฐานข้อมูลที่เป็นเอกภาพของหน่วยงานรัฐ เร่งปรับปรุงการบริหารจัดการข้อมูลให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงรัฐบาลควรดำเนินนโยบายสู่เป้าหมายการพัฒนาเด็กปฐมวัย โดยเน้นการทำงานกับเครือข่ายทุกภาคส่วนอย่างมีส่วนร่วมเพื่อความยั่งยืน
งานวิจัยเชิงปฏิบัติการ 6 พื้นที่นำร่อง – เวทีเสวนา 4 ภาค สู่ข้อเสนอสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า
ข้อค้นพบจากการลงพื้นที่ปฏิบัติการศึกษาวิจัย 6 พื้นที่นำร่อง และวงเสวนาใน 4 ภูมิภาคของประเทศ นำเสนอโดย เกรียงไกร ชีช่วง คณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า เพื่อคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน ทำให้เห็นภาพความเข้มแข็งของพื้นที่รวมถึงอุปสรรคที่แตกต่างกัน
เริ่มจากพื้นที่ภาคเหนือ ที่ อบต.แม่วิน จ.เชียงใหม่ ประชากรเป็นกลุ่มชาติพันธุ์พื้นที่สูง เดิมมีข้อจำกัดในการเข้าถึงสวัสดิการ แต่สามารถนำเด็กตกหล่นเข้าระบบได้ และขยายอายุรับเด็กเล็ก 2 ขวบ รองรับเด็กหลากหลายชาติพันธุ์โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วม พัฒนาศูนย์เด็กเล็ก 17 แห่ง, อบต.ปลังเผล จ.กาญจนบุรี อยู่ติดพื้นที่ชายแดน ประชากรเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ด้วยปัญหาพื้นที่ทับซ้อนกับพื้นที่อนุรักษ์ จึงต้องยุบศูนย์เด็กเล็กเดิม และแก้ปัญหาด้วยการจัดหารถรับส่งไปยังศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่ปัจจุบันมีอยู่ 2 แห่ง จุดเด่นคือการรีบแก้ปัญหา และสามารถรองรับเด็กเล็กในพื้นที่ได้อย่างทั่วถึง แต่ถ้าในอนาคตมีการสนับสนุนงบประมาณเพิ่ม และมีการกระจายอำนาจก็จะช่วยอุดช่องโหว่ ให้การบริหารจัดการเต็มรูปแบบและมีคุณภาพมากขึ้น
การลงทุนกับเด็กเล็กยิ่งทำเร็วยิ่งคุ้มค่า ยิ่งช้ายิ่งเสียหาย
ฉัตร คำแสง ผู้อำนวยการ 101 PUB กล่าวถึงประเด็นความสำคัญ และจำเป็นของการลงทุนในเด็กเล็ก คือการลงทุนในมนุษย์ ที่ยิ่งทำได้เร็วยิ่งคุ้มค่า งานวิจัยในต่างประเทศชี้ชัดว่า การลงทุนในเด็กเล็กจะได้ผลตอบแทนร้อยละ 7-13 ต่อปี หรือแปลให้ง่าย คือลงทุน 1 บาท จะได้ผลตอบแทนทางสังคม 7-9 บาท เพราะทำให้เด็กมีพัฒนาการที่สมวัย พร้อมต่อยอดการเรียนรู้ มีผลิตภาพดีเมื่อทำงาน และเป็นพลเมืองที่มีส่วนร่วมได้ดีขึ้น โดยเฉพาะประเทศไทย ที่เด็กส่วนใหญ่ กว่าร้อยละ 70 อยู่ในครอบครัวรายได้น้อย และมีปัญหาซ้ำซ้อน ทำให้ยิ่งลงทุนยิ่งคุ้มค่า
แต่เมื่อพิจารณาจากการลงทุนในประเทศ พบว่า ไทยให้ความสำคัญกับเด็กเล็กน้อยเกินไปกว่าเส้นที่องค์การยูนิเซฟขีดไว้ให้ลงทุนกับเด็กเล็กที่ 1 % ของ GDP ขณะที่หลายประเทศรียกร้องให้ปรับเพิ่มเป็น 2% แต่วันนี้ไทยลงทุนกับเด็กเล็กแค่ 0.25 % เท่านั้น ซึ่งเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดแบบเจาะจง 600 บาทต่อเดือน ไม่เพียงพอกับต้นทุนในการเลี้ยงดูบุตรของกลุ่มยากจน 2,500 บาทต่อเดือน หรือกลุ่มเด็กทั่วไปอยู่ที่เดือนละ 5,000 บาท อีกทั้งการพิสูจน์ความจนทำให้มีเด็กใต้เส้นความยากจนถึง 433,245 คน หรือ 30% ตกลงเข้าไม่ถึงเงินส่วนนี้ ทั้งที่ข้อเท็จจริงการให้เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดถ้วนหน้า ไม่เป็นภาระงบประมาณอย่างที่คิด
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง