ThaiPBS Logo

Policy Forum ครั้งที่ 11 | นโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีรุ้ง

3 มิ.ย. 256708:45 น.
ก้าวเข้าสู่เทศกาล “Pride Month” ช่วงเวลาแห่งการโอบกอดความหลากหลาย ภายใต้บรรยากาศและสีสันของการเฉลิมฉลองของเดือนสีรุ้ง นอกจากการสะท้อนการเปิดรับ ตัวตน สิทธิ และความเท่าเทียม ยังทำให้เห็นต้นทุนและศักยภาพของหลากอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับความหลากหลายทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นด้านบันเทิง (DRAG) , ด้านภาพยนตร์และซีรีส์ รวมถึงด้านบริการทางการแพทย์ ที่กำลังเติบโต และต้องการ “นโยบาย” ช่วยขับเคลื่อนให้สามารถไปต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ The Active ร่วมกับ บางกอกนฤมิต ไพรด์ เปิดพื้นที่ให้ตัวแทนผู้ประกอบการ ภาคเอกชน และการเมือง ร่วมแลกเปลี่ยนและเสนอข้อคิดเห็นเชิงนโยบาย เพื่อใช้โอกาสในเดือนแห่ง Pride ให้การเปิดประตูรับความหลากหลายเดินไปพร้อมไปกับการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ ใน Policy Forum ครั้งที่ 11 นโยบายขับเคลื่อน “เศรษฐกิจสีรุ้ง”
จริงมั้ย ! ที่เขาว่า…
.
ปีนี้ ซีรีส์วายไทยจะไปขายทั่วโลก คาดทำเงินถึง 2,000 ล้าน ?
.
ประเทศไทย เป็นจุดหมายปลายทางระดับโลกด้านศัลยกรรมแปลงเพศ ?
.
และอุตสาหกรรม DRAG Show บ้านเรา กำลังโตวันโตคืน ?
.
.
ก้าวเข้าสู่เทศกาล “Pride Month” ช่วงเวลาแห่งการโอบกอดความหลากหลาย ภายใต้บรรยากาศและสีสันของการเฉลิมฉลองของเดือนสีรุ้ง นอกจากการสะท้อนการเปิดรับ ตัวตน สิทธิ และความเท่าเทียม ยังทำให้เห็นต้นทุนและศักยภาพของหลากอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับความหลากหลายทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นด้านบันเทิง (DRAG) , ด้านภาพยนตร์และซีรีย์ส รวมถึงด้านบริการทางการแพทย์ ที่กำลังเติบโต และต้องการ “นโยบาย” ช่วยขับเคลื่อนให้สามารถไปต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ
.
The Active ร่วมกับ บางกอกนฤมิต ไพรด์ เปิดพื้นที่ให้ตัวแทนผู้ประกอบการ ภาคเอกชน และการเมือง ร่วมแลกเปลี่ยน และเสนอข้อคิดเห็นเชิงนโยบาย เพื่อใช้โอกาสในเดือนแห่ง Pride ให้การเปิดประตูรับความหลากหลายเดินไปพร้อมกับการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ ใน Policy Forum ครั้งที่ 11 นโยบายขับเคลื่อน “เศรษฐกิจสีรุ้ง”
ผู้ร่วมเสวนา
• อนุชา บุญยวรรธนะ นายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย
• ธีรวัฒน์ ทองมิตร ผู้จัดงาน Drag จาก Prism Galaxia
• พญ.งามเฉิด สิตภาหุล ศัลแพทย์ตกแต่ง คลินิกเพศหลากหลาย รพ.รามาธิบดี
• ภัณฑิล จงจิตรตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์
• อภิสิทธิ์ ไล่ศัตรูไกล สส.พรรคก้าวไกล / อดีตผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจ
สร้างสรรค์ (CEA)
• อริยะ พนมยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ ผู้ก่อตั้ง บริษัท Transformational

ซีรีส์วาย-แดร็ก-เทคโนโลยีข้ามเพศ ขึ้นแท่นอุตสาหกรรมเนื้อหอมใน ‘เศรษฐกิจสีรุ้ง’

วันนี้ (3 มิ.ย.67) The Active ร่วมกับ บางกอกไพรด์ จัดเวทีเสวนา Policy Forum ครั้งที่ 11  นโยบายขับเคลื่อน “เศรษฐกิจสีรุ้ง” เนื่องในเดือน Pride เพื่อเปิดประตูรับความหลากหลายเดินไปพร้อมไปกับการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ โดยมีตัวแทนจากอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIAN+) ภาครัฐ และเอกชน

แดร็ก (Drag) หนึ่งในธุรกิจที่ถูกจับตามองมากที่สุดในไพรด์ปีนี้ จากการที่ อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ รับปากจะสนับสนุนวงการ Drag อย่างเต็มที่ เข้าสู่คณะอนุกรรมการ Soft Power ด้านศิลปะ

มองโอกาส ‘แดร็ก’ จากศิลปะการแสดง สู่อาชีพสีรุ้ง

อย่างไรก็ตาม ธีรวัฒน์ ทองมิตร ผู้จัดงาน Drag จาก Prism Galaxia บอกว่า ที่ผ่านมามีความพยายามรวบรวมชุนชน Drag มากว่า 20 ปีแล้ว โดยเฉพาะในหลังสถานการณ์โควิด-19 สามารถขยายชุมชนม Drag ให้เติบโตขึ้น เช่น ไต้หวัน สิงคโปร์ อังกฤษ ซึ่งปัจจุบันไทยถือว่ามีความสามารถเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก มีเด็กและเยาวชนสนใจมองว่าเป็นศิลปะ การแสดงแขนงหนึ่ง และสามารถทำเป็นอาชีพได้

ที่สำคัญการแสดง Drag Show หนึ่งครั้ง ศิลปินจะต้องมีการเตรียมตัวเป็นค่าใช้จ่ายอย่างน้อย 5,000-10,000 บาท เท่ากับช่วยกระจายรายได้ไปยังพ่อค้า แม่ขาย ที่เป็นคนหาเช้ากินค่ำ เช่น คนขายเสื้อผ้าประตูน้ำ ผ้าตัดชุดพาหุรัด เครื่องประดับสำเพ็ง เรียกว่าเป็นเป้าหมายของเหล่า Drag ทั้งคนไทยและต่างชาติเลยก็ว่าได้ แต่ถึงอย่างนั้นการรับรู้ของคนในสังคมไทยยังไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจน หรือจัดอยู่ในกลุ่มศิลปินเช่นเครือข่ายที่พวกตนกำลังผลักดัน

“เราผลักดันกันมาเองจนถึงวันนี้ ใช้พลัง ลงทุนกันเยอะมาก ถึงบอกว่าเราเป็นศิลปินแต่รายได้ยังต่ำกว่าอาชีพอื่นมาก เราอยากถูกมองว่าเป็นศิลปินที่ได้รับการสนับสนุนเหมือนด้านอื่นๆ ไม่ได้ถูกโฟกัสแค่ทุกเดือน มิ.ย. แต่ทำยังไงให้ต่างชาติเห็นว่าเราจะเป็นเจ้าภาพเวิลด์ไพรด์ เรามีดีอะไรอีกบ้าง นอกจากการจัดงานไพรด์ นี่คือสิ่งที่เราอยากได้”

ธีรวัฒน์ ทองมิตร 

‘ซีรีส์วาย’ อุตสาหกรรมเนื้อหอม

ขณะที่อุตสาหกรรมเนื้อหอมของไทยเวลานี้อย่าง ซีรีส์วาย มีข้อมูลจากกรมธุรกิจการค้า พบว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ไทยส่งออกซีรีส์วายกว่า 177 เรื่อง โดยเฉพาะในปี 2566 มูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท ขณะที่ในปี 2567 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว ไม่นับรวมมูลค่าจากสินค้า บริการ การท่องเที่ยว ที่ตามมาจากกลุ่มแฟนคลับมากขึ้นถึง 5,000 ล้านบาท ภายในอีก 2 ปีข้างหน้า

ความสำเร็จนี้ อนุชา บุญยวรรธนะ นายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย บอกว่า เกิดจากการที่ภาพยนตร์ หรือซีรีส์ไทย เปิดกว้างในเรื่องเพศมากกว่าประเทศอื่น ๆ จึงทำให้การเล่าเรื่องราว หรือปัญหาได้มากกว่า ความนิยมมากกว่า เห็นได้จากตอนนี้ที่ซีรีส์วายไม่ได้จำกัดแค่แนวรักสดใส วัยรุ่น แต่ยังไปถึงเรื่องราวย้อนยุค สยองขวัญ สะท้อนปัญหาสังคม หรือมีนักแสดงที่ก้าวเข้ามารับบทบาทชายรักชาย หญิงรักหญิง มากขึ้นที่ประเทศอื่น ๆ อาจจะยังทำไม่ได้

ขณะที่ตัวคอนเทนต์ซีรีส์วายที่สามารถทำรายได้อยู่ที่อันดับหนึ่งของโลก แต่อาจจะต้องนึกถึงสิ่งที่ตามมามากกว่านั้น เช่น รายได้จากการโชว์ตัวนักแสดง ต่อยอดเศรษฐกิจ โดย อนุชา มองว่า ซีรีส์วายไม่จำเป็นต้องยัดเยียดวัฒนธรรมเข้าไปโดยตรง เพราะกระแสนิยมมาจากความสมจริงของเรื่องราว นักแสดง สิ่งแบบนี้ผู้กำกับจะแทรกเข้าไปอยู่แล้วในซีรีส์ เห็นได้จากการเจาะกลุ่มตลาดใน ยุโรป รัสเซีย อเมริกาใต้ ส่วนที่ต้องเจาะเพิ่มขึ้นให้ได้ คือ ตลาดสหรัฐอเมริกา เพื่อเปิดตลาดให้กว้างมากขึ้น โดยการสนุนหรือโพรโมทจากภาครัฐสำคัญมาก เช่น อาจจะต้องส่งภาพยนตร์ของเราเข้าไปให้เป็นที่รู้จักในเทศกาลต่าง ๆ มากขึ้นกว่านี้

“คิดว่านอกเหนือจากการพัฒนาตัวคอนเทนต์ เราต้องมีคนในวงการ LGBTQIAN+ เข้ามาทำงานมากขึ้น ปัจจุบันถ้านับผู้กำกับที่เป็นหญิงข้ามเพศ มีแค่ 2-3 คน รวมถึงคนเขียนบท ทีมงาน นักแสดง ที่จำเป็นต้องให้พื้นที่อัตลักษณ์อื่น ๆ เข้ามาอยู่ในอุตสาหกรรม เขาจะได้ส่งเสียงไปถึงกลุ่มเป้าหมายใหม่ ๆ”

อนุชา บุญยวรรธนะ 

วอนรัฐยกระดับบริการผ่าตัดข้ามเพศ เสริมความงาม
ชิงความได้เปรียบ ดึงนักท่องเที่ยว

สอดคล้องกับ พญ.งามเฉิด สิตภาหุล  ศัลแพทย์ตกแต่ง คลินิกเพศหลากหลาย รพ.รามาธิบดี บอกว่า แต่ละปีมีกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เข้ามารับการผ่าตัดข้ามเพศ ผ่าตัดเสริมความงาม บริการทางแพทย์สาขาอื่น ๆ ปีละ 1.2 ล้านคน ส่วนตัวถือว่าเป็นอันดับ 1 ของโลก เพราะศัลยแพทย์ของไทยมีความประณีต ที่สำคัญไทยเป็นที่รู้จักมากเพราะเป็นการที่นักท่องเที่ยวชวนกันแบบปากต่อปาก

ทั้งนี้คิดว่าถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนต้องขยับไปพร้อมกัน ทั้งการให้บริการคนข้ามเพศแบบองค์รวม เช่น บางคนรู้สึกครอบครัวไม่ยอมรับ สับสน รัฐสนันสนุนให้มี โรงพยาบาลหรือคลินิกการขอรับคำปรึกษา หรือตอนนี้ที่มีความพยายามให้ LGBTQIAN+ เข้าถึงมากที่สุด เช่น ฮอร์โมน ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช) กำลังศึกษาอยู่ เพื่อชิงเอาความได้เปรียบนี้ดึงนักท่องเที่ยว รวมถึงคนในประเทศให้เพิ่มมากขึ้นไปอีก

“อนาคตนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นไม่กังวลเพราะเราผลิตศัลยแพทย์ตกแต่งทุกปีอยู่แล้ว แต่ฮอร์โมนเป็นหัวข้อใหญ่เนื่องจากเราต้องนำเข้ามูลค่าต่อปีเป็นแสนล้าน ถ้าเราผลิตใช้เอง ส่งออก โดยที่รัฐต้องเข้ามาสนับสนุน มูฟไปข้างหน้าด้วยกัน เพราะถ้าเราไม่มีกลยุทธ์ 5 ปีข้างหน้า เราอาจจะไม่เป็นที่หนึ่งของโลกแล้วก็ได้”

พญ.งามเฉิด สิตภาหุล 

รัฐยันเดินหน้าผลักดันเศรษฐกิจสีรุ้งต่อเนื่อง

ขณะที่ ภัณฑิล จงจิตรตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ บอกว่า ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ พยามผลักดันในมิติของเศรษฐกิจสีรุ้งมาอย่างต่อเนื่อง เช่น ซีรีส์วาย ตามนโยบายของ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในการหาตลาดใหม่ ๆ เช่น ใช้อินฟูลเอนเซอร์,โซเชียลมีเดีย โดยมีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ร่วมมือกับเทศกาลภาพยนตร์ทั่วโลก เช่น มี.ค. 67 พาผู้ผลิตภาพยนตร์ ซีรีส์ไปที่ฮ่องกง จำนวนกว่า 400 รายการ  มูลค่าพันกว่าล้านบาท เทศกาลหนังเมืองคานส์อีก 300 พันกว่าล้าน โดยเชื่อว่าจากการทำงานร่วมกันจะทำให้เกิดการเติบโตในตลาดใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นปีละหมื่นล้านบาทไม่เกินจริง ทั้งนี้ยังไม่นับรวมสิ่งอื่น ๆ ที่ตามมาซึ่งอาจจะประมาณน้อยไปด้วยซ้ำ

โดยทางกระทรวงฯ เห็นถึงเครื่องมือสำคัญ จากการเป็นหนึ่งในคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ฯ ได้ทดลองทำความร่วมมือ ทำงานอย่างเป็นระบบ ทำอย่างไรที่จะทำให้ชาวต่างชาติรู้จักสินค้าไทย เมืองรองที่สำคัญ มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อคัดสินค้าไทย แต่ไม่ได้หมายความว่าเราเข้าไปยัดเยียดเข้าไปในภาพยนตร์ หรือซีรีส์ เป็นการขอความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ใช้อิทธิพล ความมีชื่อเสียงของนักแสดง เพื่อทำให้คอนเทนต์เป็นธรรมชาติมากที่สุด

เช่น ภาพยนต์ “แมนสรวง” ที่ผู้กำกับอยากจะโปรโมทความเป็นไทย โดยมีฉากหลังเป็นถนนทรงวาด ด้วยการแปลงย่านนี้ให้เป็นธีมของภาพยนตร์ จากที่เคยเงียบเหงา กลายเป็น 40 ถนนที่คูลที่สุดในโลก ของนิตยสาร time เพราะการตามรอยซีรียน 20,000-50,000 บาทต่อคน

ส่วนในด้านการสนับสนุนด้านการข้ามเพศนั้นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เห็นด้วยที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากต้องการเข้ามาที่ไทย โดยเฉพาะการผลิตฮอร์โมนน่าสนใจ เพราะชายข้ามเพศต้องฉีดทุก 1-2 สัปดาห์ คิดว่ากรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์น่าจะรับไปศึกษาต่อ ในการทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข

เชื่อมโยงภาคธุรกิจ คุ้มครองนักท่องเที่ยว LGBTQIAN+ โอกาสเคลื่อนเศรษฐกิจสีรุ้ง

อริยะ พนมยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ ผู้ก่อตั้ง บริษัท Transformational กล่าวว่า จากประสบการณ์ที่เคยจัดงานอีเวนท์ซีรีส์วายในไทย พบว่า คนจีนมีสัดส่วนค่อนข้างเยอะ ส่วนสำคัญเพราะบ้านเขาอาจจะไม่เปิดกว้างในสื่อมากนัก โดยมองว่าอุตสาหกรรมนี้ใหญ่มาก และเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่ไม่ต้องทำอะไรเลย เห็นจากที่ผู้กำกับไทยหลายคนไปโปรโมทซีรีส์ที่ฮ่องกงด้วยตัวเอง ใช้เงินตัวเอง แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีกำลัง สิ่งนี้เป็นเรื่องที่ต้องได้รับการสนับสนุน และมีนโยบายที่สนับสนุนในระดับประเทศ

พร้อมทั้งได้มีข้อเสนอถึงสิ่งที่รัฐควรเร่งทำเพื่อกระตุ้นการส่งออกเศรษฐกิจสีรุ้ง คือ หากต้องการขับเคลื่อน ซีรีส์วาย และ Drag เป็นอุตสาหกรรมบันเทิง จะต้องมีกลยุทธเหมือนวงการ kpop ของเกาหลีใต้ ที่ตั้งเป้ามา 10 ปี การที่เราเห็นมีคนไทยอยู่ในวง เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นกลยุทธ์ที่เกาหลีใต้ศึกษาและเจาะกลุ่มเป้าหมายใหญ่ไว้อยู่แล้ว และสามารถทำจริง

ด้าน การแพทย์ คนที่จะเข้ามาผ่าตัดต้องพักฟื้น รัฐควรมีช่องทางที่น่าเชื่อถือ หรือเป็นสื่อหลักและเป็นฐานข้อมูล ส่วนการส่งออกคือฮอร์โมน ถ้าไทยจับตลาดได้เร็วจะถือเป็นตลาดที่ใหญ่มาก

ด้าน การท่องเที่ยว ต้องทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่เป็นมิตรกับ LGBTQIAN+ โปรโมทได้ว่าที่ไหน โรงแรม ชุมชนไหน เช่น การปักหมุดในแผนที่ แอปพลิเคชันให้กับคนที่ยังไม่เคยมาประเทศไทยสามารถค้นหาเจอได้

รัฐเปิดกว้างนโยบาย สร้างโอกาสต่อยอดอุตสาหกรรมLGBTQIAN+

สอดคล้องกับ อภิสิทธิ์ ไล่ศัตรูไกล สส.พรรคก้าวไกล และอดีตผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) มองว่า ในอีก 20 ปี ตัวเลข LGBTQIAN+ จะเพิ่มเป็น 1 พันล้านคน หรือ 1 ใน 5 ของประชากรทั้งโลก ส่วนในไทยแม้จะยังไม่มีการเก็บสถิติอย่างเป็นทางการแต่คาดว่าจะอยู่ที่ 10% ดังนั้นถ้าเทียบจำนวนคน อนาคตข้างหน้ารัฐอาจจะต้องมองว่าเป็นกลุ่มคน แรงงานที่ไม่เล็ก และจะทำอะไรกับอุตสาหกรรมเหล่านี้มากขึ้น

เช่น เมืองที่ส่งเสริมอุตสาหกรรม LGBTQIAN+ เช่น เมืองไบรท์ตัน อังกฤษ ที่ประกาศนโยบายส่งเสริมคุณภาพชีวิต ความปลอดภัยของ LGBTQIAN+  ทำให้คนย้านไปอยู่ที่เมืองนี้มากขึ้น  ซิดนีย์ ออสเตรเลีย เจ้าภาพ World Pride 2023 มีนักท่องเที่ยวไปเยือนถึง 500,000 คน ตัวเลขเงินสะพัด 2-3 หมื่นล้านบาท และเบอร์ลิน เยอรมนี มีมูฟเมนต์ในการดึงดูดศิลปินสาขาต่าง ๆ  ย้ายไปที่นี่ เพราะเมืองมีนโยบายเปิดกว้าง มีความเป็นมิตรกับคนทุกกลุ่ม รัฐอุดหนุนด้วยการทำราคาเช่าที่พักต่ำลง LGBTQIAN+ ที่รวมกลุ่มกันเกิน 30 คน รัฐมีการอุดหนุนกิจกรรมให้

ขณะที่อุตสาหกรรมต่อเนื่องหลังแปลงเพศ เช่น ติดตามอาการ ตรวจสุขภาพประจำปี แต่ยังต้องเพิ่มเรื่องกฎหมายให้กับคนในประเทศด้วย เช่น สิทธิในการลาแปลงเพศ เทคโนโลยีในการมีบุตร สวัสดิการในการเข้าถึงฮอร์โมนข้ามเพศ การไม่กีดกัน เลือกปฏิบัติในสถานที่ทำงาน คำนำหน้านาม เพื่อให้อันดับโลกสูงขึ้น ทำให้มาตรฐานเรื่องอื่น ๆ ตามมามากกว่าประกาศแค่คำพูด

วงเสวนา Policy Forum  นโยบายขับเคลื่อน “เศรษฐกิจสีรุ้ง” เป็นหนึ่งในกิจกรรม #BangkokPrideForum เวทีจะนำเสนอวิสัยทัศน์ และมอบแรงบันดาลใจโดยชุมชน LGBTQIAN+ ภายใต้แนวคิด The Phenomenon of LGBTQIAN+ World Changers โชว์พลังของชุมชน LGBTQIAN+ ในการขับเคลื่อนสังคมและเขยื้อนเศรษฐกิจไทย ผ่าน 30 เวที 30 ประเด็นเศรษฐกิจ การแพทย์ สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี สิทธิมนุษยชน และการศึกษา ระหว่างวันที่ 31 พ.ค. – 4 มิ.ย. 67 ณ SCB next Tech ชั้น 4 สยามพารากอน, Lido Connect และ True 5g Pro Hub ชั้น 4 สยามดิสคัฟเวอรี่

 

 

Visual Note

Policy Forum ครั้งที่ 11 | นโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีรุ้ง