ThaiPBS Logo

คืนสิทธิให้ชุมชนอยู่กับป่า

ต้นตอของปัญหา “ป่าทับคน” หรือ “คนทับป่า” คงไม่ใช่เพียงปัญหาความขัดแย้งด้านการจัดการทรัพยากรและแนวคิดการอนุรักษ์เท่านั้น แต่ต้องย้อนไปตั้งแต่รูปแบบกรรมสิทธิ์ที่ดินที่มาพร้อมกับปัญหาความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดินที่ทำให้กลุ่มคนร่ำรวยบางกลุ่มสามารถถือครองที่ดินได้อย่างมหาศาล

  • เริ่มนโยบาย
  • วางแผน
  • ตัดสินใจ
  • ดำเนินงาน
  • ประเมินผล

เริ่มนโยบาย

เริ่มวางแผน

วางแผน

ขั้นตอนวางแผน เสนอแผนงานต่างๆ

ตัดสินใจ

ขั้นตอนดำเนินงานตามนโยบายที่ประกาศไว้

ดำเนินงาน

ขั้นตอนการตรวจสอบการทำงาน

ประเมินผล

ขั้นตอนการประเมินผลการดำเนินการตามนโยบาย

ภาพรวม

รายละเอียด

ทำให้คนส่วนใหญ่ของประเทศ คือประมาณ 50 ล้านคน หรือร้อยละ 76 ต้องไร้สิทธิ์ในที่ดิน นั่นทำให้คนกลุ่มนี้ต้องอยู่ในที่ดินที่รัฐมาประกาศทับอย่างผิดกฎหมาย อาทิ พื้นที่ป่าไม้ ป่าสงวนแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ เขตห้ามล่าสัตว์ป่า และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า สิทธิในที่ดินทำกินและแนวคิดการอนุรักษ์จึงปะทะกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเป็นประเด็นถกเถียงในสังคมว่าคนกับป่าสามารถอยู่ร่วมกันได้หรือไม่

ก่อนหน้านั้นภาครัฐมีนโยบายทำให้พื้นที่ป่าไม้กลายเป็นสินค้า โดยการเปิดสัมปทานป่าไม้ตั้งแต่หลังมี พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 ซึ่งทำให้พื้นที่ป่าหายไปเป็นจำนวนมาก จนมีการประกาศปิดสัมปทานป่าไม้ในปี 2532 แต่แทนที่รัฐจะคืนสิทธิในที่ดินให้ประชาชนที่อยู่อาศัยและทำกินในเขตป่า

รัฐกลับเดินหน้าแผนในการเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศไทย ซึ่งรวมถึงการเพิ่มพื้นที่ป่าอนุรักษ์ให้ได้ร้อย 25 ของพื้นที่ประเทศ เป็นความขัดแย้งครั้งรุนแรงที่สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะนโยบายการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มาจากการรัฐประหารในปี 2557 ที่มีการใช้นโยบายที่เกี่ยวข้องกับที่ดินและทรัพยากรป่าไม้อันก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนที่สำคัญได้แก่ นโยบายทวงคืนผืนป่า, การเตรียมประกาศเขตอุทยานแห่งชาติตามกฎหมายฉบับใหม่ และนโยบายมอบที่ดินแบบแปลงรวมของรัฐบาล ซึ่งได้พัฒนามาเป็นมติคณะรัฐมนตรี 26 พฤศจิกายน 2561 ตามข้อเสนอของคณะกรรมการจัดการที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ซึ่งโดยต่อมาได้สืบเนื่องมาจนถึงรัฐบาลปัจจุบันซึ่งนำโดยพรรคเพื่อไทย 

ข้อมูลในกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่าเฉพาะในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ (อุทยานแห่งชาติ เขตห้ามล่าสัตว์ป่า และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า) มีราษฎรอาศัยอยู่ 4,042 ชุมชน จำนวน 314,784 ราย มีที่ทำกิน 466,307 แปลง เนื้อที่ประมาณ 4.27 ล้านไร่ ซึ่งยืนยันชัดเจนว่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์นั้นไม่ได้มีเพียงป่าไม้ สายธาร สัตว์ป่า แต่ยังมีชีวิตของผู้คนอยู่ในนั้น และในจำนวนนั้นก็เต็มไปด้วยกลุ่มเกษตรกรรายย่อย คนยากคนจน และกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งประชาชนกลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบจากกฎหมายป่าอนุรักษ์ฉบับใหม่ที่ผ่านมาในยุค คสช. ได้แก่ พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ที่มักอ้างเรื่องการอนุรักษ์ในการละเมิดสิทธิของประชาชนที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ เช่น ให้ชุมชนอยู่อาศัยได้เพียง 20 ปี ทำกินได้เพียง 20 ไร่, การทำให้ที่ดินที่เป็นมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษไม่สามารถส่งต่อสู่ลูกหลาน, การเพิ่มอำนาจให้เจ้าหน้าที่รัฐในการเข้าตรวจค้น ยึดทรัพย์สิน จับกุม หรือสั่งให้ประชาชนออกจากป่าอนุรักษ์ 

รูปธรรมผลกระทบที่ดำเนินเรื่อยมา เช่น การที่ประชาชนในพื้นที่ป่าต้องถูกจับกุมดำเนินคดี การตัดฟันพืชผลอาสิน การห้ามราษฎรเข้าป่าหรือใช้ประโยชน์จากป่า การถูกให้ออกจากพื้นที่ และการถูกตัดขาดจากการพัฒนาคุณภาพชีวิต สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เป็นต้น การอนุรักษ์ที่กดทับสิทธิของผู้คนในลักษณะนี้เป็นความไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง และไม่เป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยโดยรวม ในขณะที่พื้นที่ป่าก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากการยึดสิทธิของชาวบ้าน

 

ข้อเสนอในทางนโยบายของ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ได้แก่

  1. ปรับกระบวนทัศน์การจัดการป่าใหม่ โดยการมองป่าให้มีคน หยุดแนวคิด ‘ป่าปลอดคน’ หรือมองว่ารัฐต้องเป็นศูนย์กลางจักรวาลในการจัดการทรัพยากร 
    • เป็นไปไม่ได้อีกแล้วที่จะอพยพคนออกจากพื้นที่ป่า ฉะนั้นคนที่อยู่อาศัยและทำกินอยู่ในพื้นที่ป่าก็ควรได้รับสิทธิในการจัดการดูแลพร้อมกับใช้ประโยชน์ไปด้วย อาทิ ขณะนี้มีการบังคับใช้พระราชกฤษฎีกาโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ซึ่งทำให้ประชาชนต้องออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องนับหมื่นคนเนื่องจากพระราชกฤษฎีกาฯ นี้เป็นการจำกัดสิทธิของประชาชนเกินควร เบื้องต้นกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชจึงควรชะลอการบังคับใช้พระราชกฤษฎีกาฯ ออกไปก่อน
    • ในระหว่างนี้ กรมอุทยานฯ มีแผนประกาศพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพิ่มเติม 23 แห่ง ซึ่งก็ควรจะกันแนวเขตชุมชน ซึ่งประกอบด้วยพื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน พื้นที่การใช้ประโยชน์อื่นๆ ออกจากการเตรียมการประกาศเขตป่าอนุรักษ์ทั้งหมด
    • นอกจากนั้นยังต้องนำไปสู่การแก้ไขพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ให้เป็นเรื่องการรองรับสิทธิชุมชน ไม่ใช่เน้นการควบคุม จำกัดสิทธิ ที่จะนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งและการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ไม่จบสิ้น ขณะที่พื้นที่ป่าก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น และในระยะยาวยังต้องนำไปสู่การทบทวน ปรับปรุง แผนแม่บทพัฒนาการป่าไม้แห่งชาติ ที่มุ่งเพิ่มพื้นที่ป่าอย่างไม่สมเหตุสมผล ตลอดจนแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยให้รองรับหลักการสิทธิชุมชนให้มีผลในทางปฏิบัติได้จริง
  2. ออกแบบการจัดการพื้นที่ป่าแบบใหม่ โดยอาศัยหลักสิทธิชุมชนหรือสิทธิเชิงซ้อนมาประยุกต์ใช้
    • การบังคับใช้กฎหมายแบบ One Size fits all แบบรัฐไทยนั้นล้มเหลวมาหลายทศวรรษ เนื่องจากไม่สอดคล้องกับบริบทที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ และยังสะท้อนการบังคับใช้กฎหมายแบบอำนาจนิยมที่มุ่งปกครองคนในดินแดนป่าอนุรักษ์จนเกิดกรณีปัญหาข้อพิพาทระหว่างชาวบ้านกับหน่วยงานรัฐมาอย่างยาวนาน การนำหลักการสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญมาเป็นตัวตั้งและเปิดโอกาสให้ชุมชนได้ออกแบบการจัดการพื้นที่อย่างยั่งยืนได้เองจะเป็นคำตอบที่ทำให้ทั้งคนอยู่ได้ ป่าอยู่ได้ อาทิ แนวทางการจัดการที่ดินแบบ ‘โฉนดชุมชน’ หรือแนวทาง ‘พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์’ และรูปแบบอื่นๆ ที่ให้ชุมชนมีสิทธิออกแบบการจัดการ ขณะที่หน่วยงานรัฐมีหน้าที่สนับสนุน ไม่ใช่พยายามควบคุมตามเดิม
    • ทั้งนี้ การจะเดินหน้าแก้ไขปัญหา ‘ป่าทับคน’ ต้องอาศัยเจตจำนงทางการเมืองอันแน่วแน่ของฝ่ายการเมือง ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน ที่ต้องร่วมกันทลายระบบราชการรวมศูนย์ที่มีหน่วยงานในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมคอยกำกับ ควบคุม กดขี่ประชาชน ในขณะเดียวกันก็ขัดขวางการเปลี่ยนแปลงจากฝ่ายนโยบายด้วยเช่นกัน

ลำดับเหตุการณ์

  • เปิดสัมปทานป่าไม้ตั้งแต่หลังมีพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484

    2484

  • มีการประกาศปิดสัมปทานป่าไม้ รัฐกลับเดินหน้าแผนในการเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศไทย

    2532

  • ครม.มีมติ ตามข้อเสนอของคณะกรรมการจัดการที่ดินแห่งชาติ (คทช.) พื้นที่เป้าหมายและกรอบมาตรการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทํากินในพื้นที่ป่าไม้

    2561


_