คำแถลงนโยบายของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ต่อรัฐสภา เมื่อ 12 ก.ย. 67 ระบุว่า “รัฐบาลของดิฉันจะแปลงความท้าทายด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศมหาอำนาจไปสู่ยุทธศาสตร์ที่จะเสริมสร้างโอกาสให้ประเทศไทยและเกื้อกูลผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนมากที่สุด ดังนี้
1. รัฐบาลจะรักษาจุดยืนของการไม่เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งระหว่างประเทศ(Non-Conflict) และจะดำเนินความสัมพันธ์กับนานาประเทศอย่างจริงใจและสร้างสรรค์ในกรอบของกฎหมายระหว่างประเทศและบรรทัดฐานสากล โดยมีผลประโยชน์ของชาติเป็นแกนกลางสำคัญ และมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับนานาประเทศเพื่อส่งเสริมสันติภาพและความมั่งคั่งร่วมกัน (Active Promoter of Peace and Common Prosperity) เพื่อให้ประเทศไทยเป็นพื้นที่แห่งโอกาสสำหรับคนไทยและชาวต่างชาติ เพื่อดึงดูดแรงงานทักษะสูง ผู้ประกอบการและนักลงทุนกลุ่มเป้าหมายเข้ามาเพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทย
2. รัฐบาลจะเดินหน้าสานต่อนโยบายการทูต เศรษฐกิจเชิงรุก และการสร้าง Soft Power เพื่อส่งเสริมการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวระหว่างกัน โดยเฉพาะตลาดใหม่ ๆ เพื่อเสริมสร้างโอกาสความร่วมมือในการพัฒนาเศรษฐกิจ และแก้ไขปัญหาที่ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศทั้งระบบทวิภาคี (Bilateral) และพหุภาคี (Multilateral)และเร่งเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับประเทศคู่ค้าสำคัญยกระดับมาตรฐานของประเทศ เพิ่มบทบาทประเทศไทยในเวทีโลกและเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ที่รัฐบาลของดิฉันจะสานต่อจากรัฐบาลชุดที่ผ่านมา
ทั้งนี้ รัฐบาลของเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ระบุว่ารัฐบาลจะสร้างบทบาทในเวทีโลก ให้ความสำคัญกับการดำเนินความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศต่าง ๆ อย่างสมดุล ตั้งอยู่บนผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ กระชับความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน และรักษาบทบาทนำของประเทศไทยในภูมิภาคและอนุภูมิภาค รวมทั้งสร้างความร่วมมือกับกลุ่มประเทศ องค์กรทางเศรษฐกิจและการพัฒนาระหว่างประเทศ เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นและความมั่นคงของประเทศไทย รัฐบาลจะไม่ละเลยเรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ