การใช้ประโยชน์ที่ดินในการครอบครองของกองทัพ เป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญของพรรคก้าวไกลที่ต้องการ “ปฏิรูปกองทัพ” ในขณะที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยใช้คำว่า “พัฒนาร่วมกับกองทัพ” โดยในสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรในเดือนต.ค. 2566 พรรคก้าวไกลเสนอร่างกฎหมายยุบกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) โดยอ้างเหตุผลความซ้ำซ้อนและสิ้นเปลืองงบประมาณ
แต่ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2566 มีการรายงานความคืบหน้าการใช้ประโยชน์ที่ดินของรัฐ ในความครอบครองของกระทรวงกลาโหม โดยผู้เสนอครม.ไม่ใช่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แต่กลับเป็นนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี
ครม.ได้สั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการจัดสรรที่ดินของกองทัพบก เพื่อให้ประชาชนเข้าใช้ประโยชน์ในจังหวัดอุดรธานี โดยให้กระทรวงกลาโหม จะประสานกับกรมธนารักษ์ ร่วมกับศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 4 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และคณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) เพื่อเร่งดำเนินการ
จากนโยบายการใช้ประยชน์ที่ดินของกองทัพ มีการแถลงผลการประชุมว่าจะมีการจัดเตรียมพื้นที่นำร่อง 3 แห่งเพื่อเปิดให้ประชาชนใช้ประโยชน์ คือ อุดรธานี 20,000 ไร่ กาญจนบุรี 3,000 ไร่ และป้อมพระจุลจอมเกล้า 300 ไร่ โดยคาดว่าจะเริ่มได้ราวปลายปี 2566 หรือต้นปี 2567
เป็นที่น่าสังเกตว่า นายกฯ ผลักดันให้เร่งดำเนินการเรื่องการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ครอบครองของกองทัพ ในขณะที่กำลังมีประเด็นถกเถียงเรื่องการยุบกอ.รมน. และมีการเปิดเผยรายงานการใช้จ่ายงบประมาณในช่วง 5 ปี กว่าแสนล้านบาท
หนองวัวซอโมเดล
ต่อมาวันที่ 31 ต.ค. 2566 นายกรัฐมนตรี แถลง “เรื่องสำคัญ” ภายหลังการประชุมมอบนโยบายแนวทางการปฏิบัติงานของกอ.รมน. ว่ากองทัพจัดสรรที่ดินทหารให้ประชาชนใช้ประโยชน์ในโครงการ “หนองวัวซอโมเดล” และย้ำว่ารัฐบาลนี้ไม่มีนโยบายยุบกอ.รมน.
ที่ดินใน “หนองวัวซอโมเดล” ครอบคลุมพื้นที่ ต.หมากหญ้า ต.หนองบัวบาน และ ต.หนองวัวซอ อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ฝึกของกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 13 กรมทหารปืนใหญ่ที่ 3 มณฑลทหารบกที่ 24 ซึ่งเป็นพื้นที่ของราชพัสดุประมาณ 39,234 ไร่
แบ่งเป็นกองทัพบกใช้เป็นพื้นที่ฝึก 28,357 ไร่ ที่เหลือเป็นพื้นที่มีประชาชนปลูกสร้างบ้านเรือนและทำการเกษตร 10,476 ไร่
อย่างไรก็ตาม มีประชาชนเข้าร่วมโครงการจัดสรรพื้นที่ 1,597 ราย พื้นที่ 9,276 ไร่ เป็นพื้นที่อยู่อาศัย 257 ราย พื้นที่เพื่อการเกษตร 1,340 ราย
คาดว่ากรมธนารักษ์จะพิจารณาให้เช่าได้ในวันที่ 21 พ.ย. 2566 และมอบเอกสารการเช่าได้ในวันที่ 25 ธ.ค.นี้ จำนวน 300 ราย โดยกรมธนารักษ์ให้เช่าพื้นที่เชิงสังคม ไม่ใช่เชิงพาณิชย์ ในอัตราค่าเช่าที่อยู่อาศัย 50 สตางค์/ตารางวา/เดือน และพื้นที่เกษตร 200 บาท/ไร่/ปี
อย่างไรก็ตาม กระทรวงกลาโหม (กห.) ระบุว่าการใช้ประโยชน์ที่ดินในความครอบครองของกระทรวงกลาโหมเป็นไปตามแผนการพัฒนาและใช้ประโยชน์ที่ดินในความครอบครองของกระทรวงกลาโหม ปี 2566–80 โดยกำหนดแนวทางการอนุญาตให้ประชาชนใช้ประโยชน์เพื่อทำกิน ยึดหลักใช้ที่ดินราชพัสดุ มีประชาชนอยู่อาศัยถาวร ชุมชนหนาแน่น หรือหมดความจำเป็นในการใช้ประโยชน์มาดำเนินการ
กระทรวงกลาโหมจะคืนที่ดินให้กรมธนารักษ์ โดยมอบสัญญาเช่าให้กับประชาชนในพื้นที่ เริ่มนำร่องใน จ.อุดรธานี 20,000 ไร่ โดยเริ่มจากพื้นที่อ.หนองวัวซอ โครงการหนองวัวซอโมเดล 9,276 ไร่ และ จ.กาญจนบุรี 3,000 ไร่ ส่วนที่อื่น ๆ จะทยอยคืนเพิ่มเติมในช่วงปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า
กองทัพบกครอบครองที่ราชพัสดุมากที่สุด
ที่ดินในการครอบครองของหน่วยงานกระทรวงกลาโหม มีมาจากหลายส่วน ทั้งในเขตป่าสงวนแห่งชาติ พื้นที่จากหน่วยงานอื่น แต่ที่มากที่สุดคือ พื้นที่ราชพัสดุ ในการดูแลของกรมธนารักษ์
พื้นที่ราชพัสดุที่อยู่ในความดูแลของกรมธนารักษ์ มีประมาณ 12.5 ล้านไร่ทั่วประเทศ ซึ่งกว่า 90% อยู่ในการครอบครองของส่วนราชการ และพื้นที่ราชพัสดุส่วนใหญ่ประมาณ 7.5 ล้านไร่เป็นที่ดินที่อยู่ในความครอบครองของ 3 เหล่าทัพเพื่อใช้ประโยชน์ด้านความมั่นคง ใช้ในราชการ รวมถึงสวัสดิการข้าราชการ
กองทัพบก นับว่าเป็นหน่วยงานของกลาโหมที่ครอบครองพื้นที่ราชพัสดุมากที่สุดประมาณ 4,750,198 ไร่ หรือ ประมาณ 38% ของที่ดินราชพัสดุในการครอบครองของกองทัพ แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ
- พื้นที่ความมั่นคง 3,629,226 ไร่
- พื้นที่สงวนให้เช่าชั่วคราว 320,073 ไร่
- พื้นที่ประชาชนอยู่อาศัยถาวร หรือหมดความจำเป็นในราชการทหาร 800,898 ไร่
สำหรับพื้นที่ในส่วนที่ 3 ซึ่งทางกองทัพบกได้ร่วมกับกรมธนารักษ์ ในการแก้ไขปัญหา แบ่งปัญหาเป็น 3 กลุ่ม คือ
- พื้นที่ประชาชนบุกรุก สำรวจแล้ว ยอมรับว่าบุกรุก และยินยอมเช่าจากกรมธนารักษ์ 105,452 ไร่
- พื้นที่ประชาชนบุกรุก ยังไม่สำรวจ มีทั้งยอมรับและไม่ยอมรับจะเช่า หรืออยู่ระหว่างสอบสวนสิทธิ 621,584 ไร่
- พื้นที่ประชาชนบุกรุก แต่ไม่ยินยอมเช่า กองทัพมีแผนใช้ประโยชน์ในพื้นที่ ให้เช่าได้ชั่วคราว 73,862 ไร่
กองทัพบกมีนโยบายให้ประชาชนเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่หมดความจำเป็นในราชการทหารกว่า 8 แสนไร่ แต่การดำเนินงานเป็นไปอย่างล่าช้า ซึ่งต้องติดตามว่าในเมื่อทุกรัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องที่ดินทำกิน ควรจะต้องเร่งดำเนินการอย่างจริงจัง เพื่อให้เป็นไปตามแผนการพัฒนาและใช้ประโยชน์ที่ดินในความครอบครองของกระทรวงกลาโหม ปี 2566 – 2580 หรือเหลือเวลาอีกราว 13 ปีนับจากนี้ไป