ในสมัย “ทักษิณ ชินวัตร” มีการดำเนินนโยบาย “การทูตเชิงรุก-การทูตเพื่อเศรษฐกิจ” ซึ่งทำให้ทูตไทยในยุคนั้นต้องทำงานที่ไม่เคยทำมาก่อน นั่นคือ บทบาทด้านการค้า จนนำไปสู่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ออกมาเป็นระยะ แต่ก็ถือว่าเป็นนโยบายทางการทูตที่สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศอย่างมาก
แต่ในรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้สร้างความประหลาดใจอีกครั้ง เมื่อกล่าวมอบนโยบายในการประชุมเอกอัครราชทูต กงสุลใหญ่ ผู้ช่วยทูตฝ่ายพาณิชย์ และฝ่ายส่งเสริมการลงทุน ประจำปี 2566 ในหัวข้อ “การทูตเศรษฐกิจเชิงรุก” โดยเป็นการประชุมที่มี “ทีมประเทศไทย” (Team Thailand) เข้าร่วมรับฟังนโยบายด้วย นอกจากกระทรวงการต่างประเทศแล้ว ยังมีเจ้าหน้าที่ทูตพาณิชย์ และสำนักงานส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ)อีกด้วย
“การทูตเศรษฐกิจเชิงรุก” ไม่ได้มีบรรจุไว้ในนโยบายรัฐบาล แต่จากแนวนโยบายดังกล่าว แทบไม่ต่างจาก “การทูตทักษิณ”
ที่มาภาพ: Plan of Action ทักษิณดันไทยร่วมมือการค้า 5 มหาอำนาจโลก
รู้จัก “การทูตทักษิณ”
สิ่งที่เรียกกันว่า “การทูตทักษิณ” ปรากฏให้เห็นชัด เมื่อทักษิณ ชินวัตร กล่าวสุนทรพจน์ ในหัวข้อ “การทูตเชิงรุก : ยุคใหม่ของนโยบายการต่างประเทศของไทย” (Forward Engagement : The New Era of Thailand’s Foreign Policy) ในโอกาสเปิดสถาบันการต่างประเทศสราญรมย์ กระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2546
“เราต้องการนโยบายการต่างประเทศที่รวมเอาความแตกต่าง ควบคู่กับการเปลี่ยนความหลากหลายให้เป็นความร่วมมือที่เสาะแสวงหาสันติภาพ ความมั่นคง และความมั่งคั่งเพื่อประเทศชาติ ภูมิภาค และโลกโดยรวม สิ่งนี้คือสิ่งที่เรียกว่า นโยบายการทูตเชิงรุก”
ในสมัยทักษิณ ชินวัตร มีการเจรจาและเกิดความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับนานาประเทศค่อนข้างมาก โดยในยุคนั้นได้ใช้เวทีขององค์การค้าโลก (TWO) ในการเจรจาแบบทวิภาคีและพหุภาคี และบทบาทของไทยที่โดดเด่นที่สุด คือ“กรอบความร่วมมือเอเชีย” หรือ Asia Cooperation Dialogue (ACD) ในปี 2546 ซึ่งประเทศไทยเป็นผู้ริเริ่ม และจดการประชุมครั้งแรกในปี 2545 โดยมีประเทศในเอเชียเข้าร่วมรวม 32 ประเทศ และมีการประชุมอีกครั้งในปีต่อมา ซึ่งจากเวทีนี้เอง ทำให้ทั่วโลกรู้จัก “พันธบัตรเอเชีย” หรือ Asian Bond เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนให้กับประเทศในเอเชีย ซึ่งธนาคารกลาง 11 แห่งในเอเชีย 11 ประเทศ ประกาศเจตนารมณ์เข้าร่วม ด้วยเงินทุนระยะแรก 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อีกนโยบายที่โดดเด่นทางการทูตคือ Plan of Action เป็นการทำแผนปฏิบัติการทางการค้าการลงทุนร่วมกันกับประเทศมหาอำนาจ โดยเริ่มจากประเทศฝรั่งเศส ตามมาด้วยรัสเซียและประเทศอื่น ๆ
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีบทบาทในระดับภูมิภาคอาเซียน ในด้านการค้าการลงทุน รวมทั้งให้ความช่วยเหลือกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีดินแดนติดต่อกัน
อย่างไรก็ตาม มีการวิพากษ์วิจารณ์ตามมาในเรื่องความโปร่งใส และประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่คณะรัฐประหารใช้เป็นข้ออ้างในการทำรัฐประหาร
‘รัฐบาลทักษิณ’ กับยุคทองนโยบายด้านต่างประเทศ
จากบทบาทด้านการต่างประเทศที่โดดเด่น แต่ไทยกลับมีบทบาทน้อยลงในสายตาประชาคมโลกในยุคต่อมา รัศม์ ชาลีจันทร์ อดีตเอกอัครราชทูตไทย เจ้าของเพจ “ทูตนอกแถว” โพสต์ข้อความกล่าวถึงนโยบายด้านการต่างประเทศของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร โดยมองว่า “เป็นยุคทองที่แท้จริงด้านการต่างประเทศไทย”
“แต่ก็มีทูตรุ่นพี่แซวมาว่ามันใช่แน่หรือ มัน debatable ว่ายุคไหนคือยุคทองด้านการต่างประเทศของเรา ซึ่งผมก็เห็นด้วยว่ามันเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันได้ แล้วแต่มุมมองของแต่ละคน”
รัศม์ มองว่าแม้หลัง 2475 เป็นต้นมาจะมีหลายช่วงที่เราดำเนินนโยบายต่างประเทศได้อย่างโดดเด่นมีประสิทธิภาพ (ยกเว้นช่วงที่ไทยตามก้นสหรัฐ จนยอมให้เขามาตั้งฐานทัพเพื่อไปโจมตีเพื่อนบ้านของเรา ในสมัยจอมพลสฤษดิ์-ถนอม อันเป็นช่วงที่นโยบายต่างประเทศของเราแย่ที่สุด) แต่ส่วนใหญ่การทูตการต่างประเทศของเราถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อความอยู่รอด (survival) ของประเทศเป็นหลัก
“จะมีนโยบายต่างประเทศที่ถือเป็นวิสัยทัศน์ที่เปลี่ยนโฉมหน้าภูมิภาคนี้ไปตลอดกาลก็คือการใช้นโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้าของท่านพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ แต่ด้านต่างประเทศของท่านชาติชายฯมีเรื่องนี้เพียงเรื่องเดียว”
ในขณะที่การดำเนินนโยบายต่างประเทศในยุครัฐบาลทักษิณฯ ไม่ว่าการริเริ่มการประชุม Asian Cooperation Dialogue (ACD) ที่เป็นความริเริ่มเชื่อมความร่วมมือกับตะวันออกกลาง หรือ Ayeyawadee-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy (ACMECS) ที่ขยายร่วมมือกับเอเชียใต้ รวมทั้งการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม APEC ที่ยิ่งใหญ่และประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม ตลอดจนการเยือนต่าง ๆ ทั้งที่ไปต่างประเทศ และต่างประเทศมาไทย ที่มีจำนวนมากมาย นับเป็นการเสริมสร้างความโดดเด่นของบทบาทไทยบนเวทีโลกให้เป็นที่ยอมรับ และถือเป็นการปักหมุดให้ไทยอยู่บนจอเรดาร์ของโลกอย่างเต็มภาคภูมิ โดยเป็นผู้นำของภูมิภาคนี้ ในระดับที่ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน
“บางท่านอาจมองว่าสมัยรัฐบาลทักษิณ เรามีปัญหาภาพลักษณ์ด้านการละเมิดสิทธิมนุษย์ชนจากนโยบายทำสงครามยาเสพติด เรื่องตากใบ กรือแซะ แต่ผมมองว่านั่นเป็นปัญหาที่เกิดจากการดำเนินนโยบายภายใน แต่มันไม่ใช่การดำเนินนโยบายต่างประเทศในตัวมันเอง”
เช่นเดียวกับ ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ผู้เขียนหนังสือ “การทูตทักษิณ บทวิเคราะห์นโยบายต่างประเทศของไทยยุคทักษิณ ชินวัตร” มองในมุมเดียวกันว่ายุคของคุณทักษิณนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงหลายประการ ในด้านการต่างประเทศนั้น ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ทางการการทูตได้เกิดขี้น นำไปสู่การตั้งสมมติฐานว่าไทยมีความทะเยอทะยานที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำของภูมิภาคหรือแม้แต่หนึ่งในตัวแสดงนำของโลกด้วยซ้ำ นับเป็นช่วงเวลายาวนานที่ไทยจะได้แสดงให้นานาประเทศเห็นถึงศักยภาพของประเทศในด้านการต่างประเทศ ก่อนหน้านี้นโยบายต่างประเทศที่โดดเด่นอาจปรากฏในยุคของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ที่ต้องการเปลี่ยนสนามรบในอินโดจีนเป็นสนามการค้า แต่ยุคทักษิณต่อยอดไปมากกว่านั้น ไม่เพียงแต่สร้างนโยบายต่างประเทศเพื่อตอบสนองต่อวัตถุประสงค์การเมืองในภายใน แต่ต้องการสร้างความเป็นเจ้า (hegemonisation)ในภูมิภาคเหนือประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ ที่มีศักยภาพด้อยกว่า
แต่ยุคทักษิณก็นำไปสู่ข้อวิจารณ์มากมาย ทั้งประเด็นความทะเยอทะยานที่เกินตัวของนโยบายต่างประเทศ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างทักษิณกับบุคลากรของกระทรวงการต่างประเทศ หรือแม้แต่ข้อกล่าวหาต่าง ๆ ที่เกิดมาจากการคอร์รัปชันเมื่อนโยบายต่างประเทศถูกนำมาใช้สร้างประโยชน์ให้กับผลประโยชน์ส่วนตัวของผู้นำ หนังสือเล่มนี้จึงไม่ใช่เป็นหนังสือที่แสดงความชื่นชมต่อความล้ำหน้าของนโยบายต่างประเทศไทยในช่วงนั้น แต่ยังมีจุดยืนที่วิพากษ์วิจารณ์ทักษิณอย่างจริงจังและตรงไปตรงมา
นายกรัฐมนตรี เข้ารับฟังการนำเสนอ เรื่อง “ประเทศเป้าหมายสำคัญสำหรับการทูตเศรษฐกิจเชิงรุก” ณ วิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ ถนนศรีอยุธยา เขตราชเทวี กรุงเทพฯ วันที่ 23 พ.ย. 2566
ที่มา: รัฐบาลไทย
การกลับมาของเซลล์แมนทางการทูต
เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำถึงนโยบาย “การทูตเศรษฐกิจเชิงรุก”อีกครั้งในปาฐกถาพิเศษในงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2023 หัวข้อ “FUTURE READY THAILAND เศรษฐกิจไทยในอนาคตแห่งความเปลี่ยนแปลง” ว่าทูตานุทูตและทูตพาณิชย์ไทย ต้องทำการทูตเชิงรุก และสามารถที่จะมีความรู้ที่จะไปขายจุดแข็งของประเทศไทยให้ตรงกับความต้องการของประเทศนั้น ๆ ที่ทูตไปประจำอยู่ว่ามีความต้องการอะไรที่ไทยมีศักยภาพมีอยู่ เพื่อดึงดูกภาคเอกชนที่แข็งแกร่งของประเทศนั้นให้สนใจมาลงทุนในประเทศไทย
การทูตเชิงรุกนี้ถือเป็น KPI ใหม่ที่รัฐบาลนี้มอบให้ทางทูตพาณิชย์ไทยและเอกอัครราชทูตไทยประจำทุกประเทศได้ไปดำเนินการขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรมร่วมกับการทำงานบูรณาการกับหน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะการที่รัฐบาลจะได้มีการขยายขอบเขตการทำงานของหน่วยงาน บีโอไอ ออกไปในต่างประเทศที่ต้องการการลงทุนให้มากขึ้น เช่น ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูงและสนใจที่จะมาลงทุนในไทย”
นอกจากนี้ ทูตพาณิชย์ต่าง ๆ ต้องมีการสนับสนุนในการที่จะให้ภาคเอกชนและนักธุรกิจไทยที่มีศักยภาพได้ไปลงทุนในต่างประเทศด้วย ซึ่งเมื่อเกิดผลกำไรก็จะสามารถส่งรายได้กลับมาประเทศไทย เรื่องนี้เป็นอีกมิติหนึ่งที่ทูตพาณิชย์และเอกอัครราชทูตไทยต้องให้ความสำคัญยิ่งขึ้น