ThaiPBS Logo

ทำไมนักการเมืองชอบนโยบายดอกเบี้ยต่ำ?

9 ม.ค. 256708:49 น.
ทำไมนักการเมืองชอบนโยบายดอกเบี้ยต่ำ?
  • นายกฯระบุการขึ้นดอกเบี้ยกระทบการฟื้นตัวเศรษฐกิจ บอกเตรียมหารือกับผู้ว่าแบงก์ชาติ
  • เศรษฐา ไม่ใช่นายกฯคนแรกที่ขัดแย้งเรื่องนโยบายดอกเบี้ยกับแบงก์ชาติ
  • การขึ้นดอกเบี้ย จะกระทบการชูประเด็น “เศรษฐกิจกำลังวิกฤติ” ของรัฐบาล
  • แบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง ตามทิศทางดอกเบี้ยโลกขาขึ้น เพื่อสกัดเงินเฟ้อ
เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ไม่เห็นด้วยหากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะขึ้นดอกเบี้ย เพราะจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจ หรือฉุดเศรษฐกิจชะลอตัว

นายกรัฐมนตรี กล่าวผ่านแพลตฟอร์ม X ระบุว่า “จากการที่แบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ย ทั้ง ๆ ที่เงินเฟ้อติดลบติดต่อกันหลาย ๆ เดือนนั้น ไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจเลยและยังมีผลกระทบต่อประชาชนที่มีรายได้น้อยและ SME อีกด้วย”

แต่มาย้ำอีกครั้ง หลังการประชุมที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติว่า “จริง ๆ แล้วเราก็พูดคุยกันตลอดอยู่แล้วในเรื่องนี้ และเรื่องการขึ้นอัตราดอกเบี้ย จุดยืนของผมก็ชัดเจนว่า ผมไม่เห็นด้วย แต่แบงก์ชาติ ก็มีอำนาจในการขึ้น ซึ่งสิ่งที่ได้โพสต์ข้อความไปเมื่อคืนนี้ มันเกี่ยวกับเรื่องสินค้าการเกษตร พืชผลต่าง ๆ ที่อยากให้กระทรวงพาณิชย์ดูแลไม่ให้ต่ำลงไป เพราะถ้าต่ำเกินไปก็จะลำบาก”

นายกรัฐมนตรี ตอบคำถามว่ากังวลอะไร จากการขึ้นดอกเบี้ยอยู่ในสถานการณ์เงินเฟ้อที่ต่ำมาก ว่า “ต่ำมากครับ อาจจะต้องพิจารณาเรื่องการลดดอกเบี้ย ขอฝากไว้ และหลังจากนี้ไปก็จะมีการพูดคุยกับผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย”

อันที่จริง ประเด็นเรื่องนโยบายดอกเบี้ยของรัฐบาลในทุกยุคทุกสมัยมักไม่ค่อยจะชอบนักกับดอกเบี้ยสูง หรือ การปรับขึ้นดอกเบี้ย เพราะบรรดานักการเมืองที่บริหารประเทศในยุคหลัง ๆ ที่มุ่งไปที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจมักจะกังวลเป็นพิเศษ เพราะหากเศรษฐกิจ “ฝืดเคือง” ก็จะกระทบคะแนนนิยม ดังนั้น วิธีการที่ทำให้เศรษฐกิจดี ซื้อง่ายขายคล่อง ก็ต้องให้มีการจับจ่ายใช้สอยกันมาก ๆ และระบบเศรษฐกิจมีกำลังซื้อ รวมถึงบรรดาลูกหนี้ก็จะชอบเพราะจ่ายดอกเบี้ยลดลง

วิธีการทำให้เศรษฐกิจดีที่ “ง่ายและเร็ว” ไม่มีวิธีไหนดีไปกว่า “การลดดอกเบี้ย” เพราะเป็นการเพิ่มเงินในกระเป๋าให้กับประชาชนโดยตรงจากการจ่ายดอกเบี้ยน้อยลง ซึ่งนั่นหมายความว่าทำให้เงินในระบบมีมากขึ้น (ในช่วงหลัง ๆ รัฐบาลก็มักจะใช้วิธีการที่เร็วกว่า คือ การแจกเงิน)

รัฐบาลของนายกฯ เศรษฐา ก็ดูเหมือนอยู่ในสถานะที่ไม่ต่างจากรัฐบาลก่อน ๆ แต่จะต่างไปบ้างก็ตรงที่ “พูดดัง” ผ่านสื่อ ที่ปกติแล้วนายกฯ เขาจะไม่พูดกับผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยใน “ที่แจ้ง” มากนัก ยกเว้นกรณีต้องการกดดันเหมือนอดีตนายกรัฐมนตรีบางคน

แต่ก็เข้าใจได้ว่าทำไมนายกฯ เศรษฐกิจจึงพูดดังและบ่อย เพราะหากดูการดำเนินนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะเรื่องเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่รัฐบาลพยายามบอกว่าเศรษฐกิจกำลังวิกฤต จึงต้องแจกเงิน และภาวะเศรษฐกิจวิกฤตก็ต้องลดดอกเบี้ยถึงจะเป็นหลักการที่ถูกต้อง แต่แบงก์ชาติกลับจะขึ้นดอกเบี้ย

หากแบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ย ก็จะทำให้ความพยายามที่บอกว่าเศรษฐกิจวิกฤตก็เป็นอัน “จบกัน” สำหรับนโยบายที่อ้างเหตุผลว่าเศรษฐกิจวิกฤต

แต่ทำไมแบงก์ชาติจะขึ้นดอกเบี้ย?

เหตุผลง่าย ๆ ที่คนแบงก์ชาติอธิบายทุกครั้งในช่วงที่ผ่านมา คือ เศรษฐกิจมีความเสี่ยงจากดอกเบี้ยต่ำมายาวนาน และภาวะเศรษฐกิจก็เริ่มฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 นอกจากนี้ ตลาดการเงินโลกมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยมายาวนาน และคาดว่าคงดอกเบี้ยไปอีกนาน

การขึ้นดอกเบี้ยของแบงก์ชาติ จึงเป็นไปตามทิศทางเดียวกับหลายประเทศทั่วโลกที่จำเป็นต้องขยับขึ้นดอกเบี้ยจากอัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น ยกเว้นกรณีไทยที่เงินเฟ้อทรงตัว เนื่องจากวิธีคำนวณและเงินช่วยเหลือค่าครองชีพด้านต่าง ๆ ของรัฐบาล

ดังนั้น นโยบายเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่เป็นประเด็นในขณะนี้ เป็นเรื่องต่างมุมมองและยึดถือข้อมูลคนละชุด หากใครเชื่อข้อมูลของรัฐบาลที่มองว่า “เศรษฐกิจวิกฤต” ก็ต้องเชียร์ลดดอกเบี้ย แต่หากใครเชื่อข้อมูลของแบงก์ ก็ต้องเชียร์ให้ขึ้นดอกเบี้ย

และการเมืองในช่วงเข้าบริหารประเทศใหม่ ๆ ก็มักจะสร้าง “ศัตรูกับอดีต(รัฐบาล)” และพยายามบอกว่าเข้ามากอบกู้วิกฤตจึงเป็นเหตุผลที่จำเป็น

ความหงุดหงิดของนายกฯ เศรษฐา เกิดขึ้นเหมือนที่ผ่านมา เมื่อผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ออกมาแสดงความเห็นเรื่อง “แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท” เพราะเกรงว่าจะกระทบเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ เนื่องจากจะมีเม็ดเงินอัดฉีดเข้าไป 5 แสนล้านบาทเพื่อการอุปโภคบริโภค

แบงก์ชาติมองว่าเศรษฐกิจซึม ๆ ไปบ้าง แต่ไม่ถึงขั้น “วิกฤต” น่าจะมีวิธีอื่นที่ดีกว่านี้ ส่วนรัฐบาลมองว่า “วิกฤต”

พอสวนกันบ่อย ๆ ก็ “ว้าวุ่น” ละซิ เมื่อมีการนำไปใช้เป็นเหตุผลทางการเมือง มองข้ามข้อมูลทางเศรษฐกิจที่ใช้เป็นฐานในการกำหนดนโยบาย และถ้าหนักมาก ๆ ก็ต้องวัดกันละทีนี้ว่า “ใครจะอยู่ ใครจะไป” 

แม้นายกฯ เศรษฐาจะเคยบอกว่าจะไม่มีการปลดผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ หรือไม่แทรกแซง