ThaiPBS Logo

Policy Watch กับการพัฒนาประชาธิปไตย

14 ธ.ค. 256618:17 น.
Policy Watch กับการพัฒนาประชาธิปไตย
Policy Watch เป็นแพลตฟอร์มภายใต้ไทยพีบีเอส สื่อสาธารณะแห่งแรกของประเทศ ด้วยวิสัยทัศน์ "มุ่งมั่นเป็นสถาบันสื่อสาธารณะ ที่สร้างสรรค์สังคมคุณภาพและคุณธรรม"

การพัฒนาแพลตฟอร์ม Policy Watch หรือจับตาอนาคตประเทศไทย ถือเป็นนวัตกรรมประชาธิปไตยจากไทยพีบีเอส ในฐานะสื่อสาธารณะของประเทศ ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์

  1. ส่งเสริมการรับรู้และการมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมของประชาชน ในการสร้างสังคมประชาธิปไตยที่เป็นธรรม มีความกล้าหาญในการรายงานข่าวสารและเสนอประเด็นโต้เถียง โดยยึดถือประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ
  2. เป็นเครื่องมือแห่งการเรียนรู้ เสริมสร้างสติปัญญาและสุขภาวะ แก่ประชาชนทุกหมู่เหล่า ทุกระดับอายุ ให้เป็นพลเมืองคุณภาพ
  3. สร้างแรงบันดาลใจ กระตุ้นให้เกิดจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ เพื่อยกระดับสุนทรียภาพให้กับสังคม
  4. ส่งเสริมเอกลักษณ์และความหลากหลายทางวัฒนธรรม เสริมสร้างความสมานฉันท์ในสังคม
  5. สะท้อนความหลากหลายของสังคม เป็นพื้นที่ให้แก่กลุ่มผู้ด้อยโอกาสและกลุ่มเฉพาะต่างๆ อย่างเหมาะสม ทั้งในระดับชุมชนและระดับชาติ
  6. เพื่อสร้างความเข้าใจและความสัมพันธ์อันดีระหว่าง ชุมชน ประชาชน และประชาคมโลก

ในอดีต การสื่อสารนโยบายสาธารณะ เป็นการสื่อสารทางเดียว คือ ภาคนโยบายสื่อสารสิ่งที่ทำสู่สาธารณะ โดยถือว่า “สื่อ” เป็นช่องทางผ่าน เรียกว่าเป็นรูปแบบ “การสื่อสารเส้นตรง” มีเป้าหมายเดียว คือ แจ้งให้ทราบว่ากำลังจะดำเนินการนโยบายอะไรและต้องการผู้ปฏิบัติตามให้ความร่วมมือ แต่ไม่ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของสาธารณะที่ประชาชนมีอำนาจ

การสื่อสารทางเดียว ทำให้กระบวนการสื่อสารนโยบายสาธารณะเกิดช่องว่างและปรับตัวไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปอย่างรวดเร็วและซับซ้อนมากขึ้น รวมไปถึงเกิดความความสัมพันธ์ในลักษณะเป็น ความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์” กล่าวคือ ประชาชนต้องพึ่งพาข้อมูลจากผู้มีอำนาจในระดับนโยบายเท่านั้น แต่จากทิศทางการกำหนดนโยบายสาธารณะยุคใหม่ที่ต้องการให้เกิดการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนมากขึ้น การสื่อสารนโยบายต้องเป็นการ “สื่อสารหลายทาง” ระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในสังคม เพื่อนำไปสู่นโยบายที่เหมาะสม เป็นประชาธิปไตยและตอบโจทย์ของคนทุกคนมากที่สุด

การพัฒนานโยบายสาธารณะในยุคใหม่ ที่ต้องการความเห็นหลากหลายจากคนหลายกลุ่มและหลายหน่วยงานในการระดมความคิดเห็นและประเมินผลกระทบอย่างรอบด้าน ทำให้การกำหนดนโยบายสาธารณะกลายเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศด้วย 

Policy Watch ภายใต้ไทยพีบีเอส เปลี่ยนจาก “สื่อกลาง” ที่เป็นเพียงแค่ตัวกรองและส่งเรื่องราวจากระดับนโยบายไปสู่ประชาชน กลายเป็น สะพานเชื่อม” ความสัมพันธ์ระหว่างระดับนโยบายกับสาธารณะ กลายเป็น รูปแบบสามเหลี่ยมการสื่อสาร”

  • นโยบาย
  • สาธารณะ
  • สื่อ

ความสัมพันธ์ระหว่าง “นโยบาย-สาธารณะ-สื่อ” จะมีลักษณะ “สองทาง” กล่าวคือ ระดับนโยบายจะไม่ได้ทำหน้าที่แค่บอกข้อมูลหรือเผยแพร่ข่าวสารอย่างเดียว แต่ต้อง “รับฟังความเห็น” จากสาธารณะ ขณะที่ภาคสาธารณะไม่ใช่เป็นแค่ “ผู้รับสาร” แต่เข้าไป มีส่วนร่วมในการเสนอ” ข้อมูลและมีส่วนร่วมในการตัดสิน

สื่อจึงมีบทบาทสำคัญ เพราะจะไม่ใช่แค่ กล่องเปล่าที่ใช้ส่งสาร” แต่จะกลายเป็นพื้นที่ตรงกลาง เป็นศูนย์รวมในการกำหนดวาระนโยบาย โดย “เสียง”ของประชาชนสำคัญต่อวาระของนโยบาย และระดับนโยบายใกล้ชิดกับสาธารณะมากขึ้น 

Policy Watch จึงเป็นพื้นที่ของการทำให้ความสัมพันธ์ระหว่าง “ภาคนโยบาย ภาคสาธารณะ และสื่อ” มีลักษณะของความสัมพันธ์ที่เป็นประชาธิปไตย

ข้อมูลอ้างอิง : บทสัมภาษณ์ ผศ.ธีรพัฒน์ ​อังศุชวาล : ‘Policy Watch’ สะพานเชื่อม ‘นโยบาย-สาธารณะ’ เพื่อการมีส่วนร่วม